13 พ.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
‘หินลองทองของช่างทองผู้ยิ่งใหญ่’
โบราณวัตถุสำคัญบ่งชี้ถึงการนำเทคโนโลยีด้านทองคำ สู่ ‘สุวรรณภูมิ’
หินลองทอง [Touchstone] ซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม โบราณวัตถุชิ้นสำคัญแห่งคาบสมุทรสยามประเทศ ในยุคสุวรรณภูมิ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ มีจารึกภาษาทมิฬ อักษรพราหมี อยู่ 2 บรรทัด
ในงานวิจัยที่ชื่อ ‘PLAQUE OF SOUTH INDIAN SHIPMAN IN THAILAND’ ของ ธุราสวามี ดายาลัน (Duraiswamy Dayalan) ได้อ้างอิงถึงนักอ่านจารึกผู้มีชื่อเสียงชาวอินเดียใต้ เค.วี.ราเมศ (K.V. Ramesh) ที่ได้อ่านจารึกนี้ว่า ‘perumpatan kal’ - หินลองทองของช่างทองผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งคำแปลในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูเก็ตก็แปลว่า หินของช่างทองอาวุโส
โบราณวัตถุ ‘หินลองทอง’ ชิ้นนี้ ได้เป็นหลักฐานที่สำคัญช่วยเน้นย้ำถึงการนำเทคนิคทำทองและลวดลายที่พบในโบราณวัตถุที่เป็นทองคำของคาบสมุทรแห่งสยามประเทศ ทำให้ช่วยกำหนดอายุของการทำทองและช่างทองจากอินเดียที่เข้ามาสู่คาบสมุทรแห่งนี้
ศาสตราจารย์ หลิน ยิน (Professor Lin Yin) แห่งมหาวิทยาลัยซุน ยัดเซ็น กับ ดร.เซี่ยงเชาหมิง (Dr.Xiong Zhaoming) นักวิจัยอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนเผ่าจ้วง แห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันเขียนในบทความ ‘CHINESE KNOWLEDGE ON SUVARNABHUMI BEFORE THE 10TH CENTURY’ ในหนังสือ ‘SUVARNABHUMI: The Golden Land’ ที่นำหลักฐานโบราณวัตถุหินลองทองชิ้นนี้มาช่วยอ้างอิงในการวิจัย
ชี้ถึงบทบาทของทองคำในการค้าสมัยโบราณซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งทองคำสำคัญ อันเป็นสิ่งดึงดูดการเดินทางถึงทั้งของจีนและอินเดีย โดยยกหินลองทองของช่างทองชาวอินเดีย แดนทมิฬพุทธศตวรรษที่ 9 พบที่คลองท่อม การทำเหรียญทอง การพบเศษทอง เบ้าหิน จี้โลหะ เลียนแบบสมัยพุทธศตวรรษที่ 9-12
หลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบสอดคล้องกับการพบสิ่งอื่น ๆ อีก ซึ่ง ดร.แอนนา เบนเนต (Dr.Anna Bennet) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำโบราณ สรุปในหนังสือ ‘SUVARNABHUMI: The Golden Land’ ว่า ล้วนเป็นประจักษ์พยานแสดงถึงเครือข่ายการค้าขายทางไกลเมื่อ 2,000 ปีก่อน ที่พ่อค้าอินเดียเป็นผู้ขับดันสำคัญในการมาเสาะแสวงหาทองคำในแม่น้ำที่สุวรรณภูมิ
โดยเครื่องทองต่าง ๆ ที่มีรายงานการพบในประเทศไทยนั้น เริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 2 ร่วมกับสมัยที่มีการผลิตเหล็ก การขัดแต่งหินสีมีค่ากึ่งอัญมณีและการทำแก้ว โดยสันนิษฐานว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ น่าจะนำมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางอินเดีย เพราะเป็นที่ต้องการแสวงหาของพ่อค้าจากจีน และการติดต่อค้าขายนี้ที่นำมาซึ่งวัฒนธรรม ศาสนา รวมทั้งสิ่งของเหล่านี้ ซึ่งวัดมีบทบาทมาก เนื่องจากเป็นหน่วยที่ร่วมใช้สิ่งสูงค่าเหล่านี้ กับยังมีการเดินทางแสวงบุญ เผยแผ่ เป็นหนึ่งในพลังขับดันสำคัญด้วย
นอกจากนี้ บทความ ‘คอคอดกระ-Kra Isthmus ในจุดที่โลกจากอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้พบกัน’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้วิเคราะห์ถึงแหล่งโบราณคดีคลองท่อมไว้อย่างชัดเจนว่า
1
‘ ...คลองท่อม เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดกระบี่ ในเส้นทางการค้าทางทะเลกับทางอินเดีย อาหรับ และกรีกโรมัน มีการพบลูกปัดจำนวนมากบริเวณชุมชนชายฝั่งอันดามันที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่มานานแล้ว
พระครูอาทรสังวรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อมผู้ล่วงลับได้เก็บรวมรวมและสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๙ ต่อมาทศวรรษที่ ๒๕๑๐ การศึกษาสำรวจเบื้องต้นและการขุดค้น โดยคณะจากกรมศิลปากร จากคณะวารสารเมืองโบราณ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบลูกปัดจำนวนมหาศาล และจี้ห้อยคอ ตราประทับ แหวน หัวแหวน ต่างหู คันฉ่อง ปิ่นปักผม เครื่องสำริดต่างๆ รวมทั้งมโหระทึก รวมทั้งเหรียญเงินตราทั้งทำจากดีบุกและทองคำ และอยู่ในพื้นที่กว้าง
และได้ผลสรุปแบบทั่วไปว่าบริเวณคลองท่อมคือแหล่งผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงมีการอยู่อาศัยทั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๘ และต่อเนื่องกับราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๔ ด้วย... ‘
เพราะฉะนั้นจึงสอดคล้องกับการนำเสนอแนวคิดของ ดร.แอนนา เบนเนต ที่นำเสนอไว้ในบทความ ‘Suvarnabhumi Land of Gold’ ว่า หินลองทองที่ระบุเป็นอักษรพราหมีภาษาทมิฬว่า เป็นสมบัติส่วนตัวของช่างทองในพุทธศตวรรษที่ 3 นั้น เป็นหลักฐานทางโบราณวัตถุที่ยืนยันอย่างชัดเจนถึงช่วงระยะเวลาแรกที่พ่อค้าและช่างทองชาวอินเดียเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยหรือคาบสมุทรสุวรรณภูมิในช่วงเวลานั้น เพื่อเข้ามาค้นหาทองคำ ซึ่งวิเคราะห์ได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุของอุปกรณ์ชุดเครื่องมือทำทองแบบง่ายๆ ทั้งเครื่องชั่ง หินลองทอง ที่ค้นพบ
ไม่จำเพาะแค่นั้น ทั้งวัตถุดิบที่เป็นทองและทองรูปพรรณที่ทำสำเร็จแล้ว ได้ถูกลำเลียงขนย้ายผ่านช่างทองชาวอินเดียซึ่งนำข้ามคาบสมุทรไปสู่ศูนย์กลางทางการค้าตรงเมืองท่าที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นการก่อร่างสร้างการค้าทองผ่านวัตถุดิบที่มีค่าต่างๆ ตามความต้องการของผู้แลกเปลี่ยน พ่อค้า และผู้อุปถัมภ์ที่มั่งคั่งร่ำรวย ทำให้เกิดการสืบเสาะการค้นหาทองคำที่มีค่าและหายากในคาบสมุทรแห่งสยามประเทศในยุคสุวรรณภูมิ
ภาพ : Goldsmith’s touchstone จากหนังสือ ‘SUVARNABHUMI: The Golden Land’ หน้า 81
#หินลองทอง #อักษรพราหมี
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา