30 เม.ย. 2022 เวลา 09:08 • ธุรกิจ
How The Economic Machine Works
เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานยังไง (จาก Ray Dalio)
วันนี้ว่าง ๆ เลยดูคลิปอธิบายการทำงานของภาพรวมเศรษฐกิจ ว่าทำงานยังไงบ้าง ขอมาแชร์สิ่งที่สรุปได้ดังนี้ครับ
1) การซื้อขายแลกเปลี่ยนคือหัวใจของเศรษฐกิจ
เพราะเมื่อซื้อขาย ผู้ซื้อจ่ายเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการ ผู้ขายมีรายได้ ผู้ขายก็ต้องบริโภคหรือมีมุมที่เป็นผู้ซื้อ เอาเงินที่ได้รับไปซื้อสินค้าต่อ ทำให้ผู้ขายอีกคนหนึ่งมีรายได้ วนเวียนไปเรื่อย ๆ
ดังนั้นยิ่งมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจเยอะ ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโต
2) เงินที่เราใช้จ่ายซื้อของมาจากไหน ?
แบ่งหลัก ๆ เป็น 2 ส่วน คือ
- เงินที่เราทำงานแลกมา (cash) : งานประจำ งานเสริม ฯลฯ
- เงินที่เรายืมมาจากอนาคต (credit) : บัตรเครดิต เงินกู้ยิมเพื่ออุปโภคบริโภค
3) ลองคิดภาพเศรษฐกิจที่เรากู้ยืมเงินไม่ได้
ถ้าไม่มีตลาดเครดิตหรือการกู้ยืมเงิน เศรษฐกิจจะโตจากผลิตภาพเท่านั้น หมายถึงว่าคนต้องทำงานแลกเงิน แล้วถึงจะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายได้ ถ้าทำงานได้ผลลัพธ์มากขึ้น ถึงจะได้เงินไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ถ้าไม่มีเครดิต เศรษฐกิจของประเทศจะวิ่งโตเป็นเส้นตรงลาดชันขึ้นตามผลิตภาพของประเทศนั้น
4) เศรษฐกิจที่มีเครดิต
อันนี้คงเห็นภาพกันอยู่ คือระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรามีเครดิตหรือหนี้ สามารถกู้เงินอนาคตมาใช้ก่อนได้ โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของเราว่ามีความสามารถหารายได้ในอนาคตมาใช้คืนหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ในระบบนี้ เศรษฐกิจของประเทศเป็นวัฎจักรขึ้นลงตามเครดิตที่ยืมมาใช้ เพราะเมื่อปัจจุบันกู้มาใช้ก่อน อนาคตก็ต้องหามาคืน ทำให้ปัจจุบันใช้จ่ายมากกว่าที่มีได้ แต่ก็แลกมาด้วยการต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดในอนาคตแทน
กล่าวได้ว่าเครดิตทำให้เศรษฐกิจของประเทศเคลื่อนเป็นวัฏจักรขึ้นลง
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ เพราะการกู้มาใช้ หากเอามาเพิ่มผลิตภาพ เช่น กู้มาทำธุรกิจ แล้วทำให้มีรายได้มากขึ้น ก็สามารถจ่ายหนี้หรือคืนเครดิตที่ยืมมาได้ ดีต่อ เศรษฐกิจภาพรวมด้วยหากเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้ อาจจะผ่านการคิดค้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ (good credit) ประเด็นคือไม่ใช่ทุกคนที่กู้ยืมเพื่อเพิ่มผลิตภาพ บางคนอาจจะแค่กู้มาบริโภคหรือลงทุน
5) ช่วงขาขึ้น ตลาดเครดิตก็จะเติบโต เพราะคนใช้จ่าย พอคนใช้จ่ายก็ถือเป็นรายได้ของอีกคน วนลูปไปเรื่อย ๆ พอเงินในระบบ (cash & credit) หมุนเวียน ราคาสินค้าหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นเงินเฟ้อและฟองสบู่ในที่สุด (อาจจะกินเวลาหลายสิบปี)
6) ช่วงขาลง เหตุการณ์ก็จะกลับกัน ตลาดเครดิตซบเซา คนใช้จ่ายน้อย รายได้ของคนอื่น ๆ ก็ลดลงตามการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่น้อยลง เงินฝืด เศรษฐกิจก็ตกต่ำลง (vicious cycle)
7) นอกเหนือจากนี้ ยังมีการแทรกแซงจากธนาคารกลางในเรื่องดอกเบี้ยอีกด้วย หากธนาคารกลางเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงไปก็จะแตะเบรคโดยการเพิ่มดอกเบี้ย หากเห็นว่าเศรษฐกิจอ่อนแอก็จะเหยียบคันเร่งโดยการลดดอกเบี้ย
การเพิ่มดอกเบี้ยทำให้ภาระหนี้เดิมสูงขึ้น และหนี้ใหม่แพงขึ้น เชิญชวนให้คนกู้ได้น้อยลง ตลาดเครดิตก็จะซบเซา
ส่วนการลดดอกเบี้ยก็จะกลับกัน
8) ปัจจุบันปัญหาไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน เพราะเราเจอกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจก็ไม่โต แต่เงินเฟ้อยังอยู่
เมื่อธนาคารกลางลดดอกเบี้ยจนติดดินแล้วแต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก ธนาคารกลางก็พิมพ์เงินเข้ามาในระบบ ผ่านการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ แต่การซื้อนั้นธนาคารกลางก็ทำได้จำกัด ไม่สามารถกระตุ้นผ่านการซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ ได้ ธนาคารกลางจึงไปจับมือกับรัฐบาล โดยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินหรือตราสารหนี้ของรัฐ (พันธบัตรรัฐบาล) แทน แล้วให้รัฐบาลเอาเงินนั้นไปอัดฉีดช่วยเหลือเศรษฐกิจโดยตรงนั่นเอง
เราเห็นภาพนี้ได้ตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2008 และวิกฤต covid-19 ที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินมหาศาลเข้าสู่ระบบจนถึงปัจจุบัน
9) ที่ผ่านมาการพิมพ์เงินก็พอแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพราะทำให้คนยังมีกำลังจับจ่ายใช้สอยและดำรงชีวิตต่อไปได้ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ของผู้ขายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของ vicious cycle ลงได้บ้าง
หากเศรษฐกิจกลับมาปกติ ธนาคารกลางก็ค่อย ๆ ถอนเงินออกไม่ให้สะดุด ซึ่งน่าจะเป็นภาพฝันของธนาคารกลางที่อยากจะทำอย่างนั้น ก็ต้องมาติดตามว่าจะไปรอดหรือไม่
10) สุดท้าย ประเทศจะทำยังไงให้เกิดสมดุล ตอนเศรษฐกิจขาขึ้นก็ไม่ขึ้นแบบเว่อวังหรือไม่บริโภคเกินตัว (over consumption) ตอนเศรษฐกิจขาลงจะได้ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก
ข้อคิดหลัก 3 ประเด็นที่ Ray สรุปไว้คือ
1. Don't have debt rise faster than income
อย่าให้หนี้สิน (หรือดอกเบี้ยจ่ายจากหนี้สิน) ของประเทศเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ของประเทศ ไม่อย่างนั้นสุทธิแล้วไม่เหลือใช้ และหนี้สินล้นพ้นตัว (เห็นได้จากหลาย ๆ เหตุการณ์ในปัจจุบัน เช่น ประเทศศรีลังกา)
2. Don't have income rise faster than productivity
อย่าให้รายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลิตภาพ หมายถึงอย่าเร่งเพิ่มค่าแรงของระบบทั้ง ๆ ที่ทำผลงานได้เท่าเดิม เพราะจะทำให้แข่งกับประเทศอื่นได้ยากขึ้น (ทำงานได้ผลลัพธ์เท่าเดิมแต่ต้องจ่ายแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ก็จะไม่มีใครอยากจ้างงาน)
3. Do all that you can to raise your productivity
ทำยังไงก็ได้ให้ผลิตภาพของประเทศเพิ่มขึ้น มันคือทางรอดในระยะยาว !
ถ้าย่ำอยู่กับที่ มีความรู้ความสามารถเท่าเดิม ประสิทธิภาพในการทำงานเท่าเดิมในขณะที่ประเทศอื่นพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ก็ดึงดูดน้อยลงในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
แนะนำเลยครับ คลิปไม่ยาวมาก เพียง 30 นาทีเท่านั้น จะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจและทางเลือกการจัดการบริหารเศรษฐกิจของรัฐได้ดีขึ้นมาก ๆ
โฆษณา