1 พ.ค. 2022 เวลา 02:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Petroyuan คู่แข่งใหม่ของ petrodollar ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน
ข่าวล่าสุดที่รัสเซียออกมาประกาศว่า จะให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จากรัสเซียเป็นเงินรูเบิล และจะผูกค่าเงินรูเบิลไว้กับทองคำ เพื่อแก้เกมส์ที่ประเทศตะวันตกรุมแซงชั่นทางการเงินกับรัสเซียจนทำให้ค่าเงินรัสเซียตกลงไปมากกว่า 50% การประกาศดังกล่าวทำให้ค่าเงินรัสเซียกลับมาอยู่ที่ 90 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทันที แต่ก็ยอมให้ประเทศที่เป็นมิตรเช่นจีนและตุรกีซื้อพลังงานจากรัสเซียเป็นเงินสกุลของประเทศตัวเอง เช่น จีนซื้อเป็นหยวน และตุรกีซื้อเป็นลีราได้
และในเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีข่าวว่าประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียกำลังพิจารณาว่าจะขายน้ำมันให้จีนเป็นหยวนด้วยเช่นกัน เพราะทั้งจีนและซาอุฯ ต่างกังวลว่าถ้าถือดอลลาร์มากเกินไปแล้วต่อไปภายภาคหน้าหากทะเลาะกับสหรัฐอเมริกา เงินสำรองระหว่างประเทศของตนที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูก freeze เหมือนกับที่รัสเซียกำลังโดนในปัจจุบัน
คำถามคือ สถานการณ์นี้จะทำให้ petrodollar ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง และจะนำไปสู่การเป็น petroyuan หรือไม่
เพื่อตอบคำถามนี้ ต้องย้อนกลับไปที่ที่มาของคำว่า petrodollar ก่อน
คำว่า petrodollar เกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาและซาอุฯ ตกลงซื้อขายน้ำมันดิบกันโดยใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1970 และเงินดอลลาร์ที่ซาอุได้รับส่วนหนึ่งย้อนกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันโดยรัฐบาลอเมริกันสัญญาให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ซาอุ และอีกส่วนหนึ่งก็นำไปซื้ออาวุธจากบริษัทของสหรัฐฯ
เนื่องจากเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกที่ใช้เป็นตัวกลางในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เมื่อซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกตกลงรับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันของโลกทุกประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปอย่างรัสเซีย นอร์เวย์ ต่างก็รับดอลลาร์สหรัฐฯ ในการขายน้ำมันให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนกระทั่งในระยะหลังปี 2000 เมื่อมียูโรเกิดขึ้น การซื้อขายของรัสเซียกับยุโรปก็เปลี่ยนเป็นยูโรแทน
การเกินดุลการค้าจากการขายน้ำมันของซาอุต่อสหรัฐฯ และของประเทศอื่น ๆ ที่ขายน้ำมันเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเป็นสกุลดอลลาร์ของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเงินเหล่านี้ซึ่งหมุนกลับไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาในรูปของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รายได้ของบริษัทขายอาวุธ และบริษัทอื่น ๆ ของสหรัฐที่ขายสินค้ากลับมาให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลอเมริกาก็ใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้เข้าไปสร้างอิทธิพลเหนือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั้งในรูปของความช่วยเหลือและรูปของการให้กู้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลเหนือประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก
แล้วทำไมจึงเกิดคำว่า petroyuan ขึ้นมา และ petroyuan จะเป็นไปได้หรือไม่
ในทำนองเดียวกัน เมื่อประเทศอย่างรัสเซียยินดีขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับจีนเป็นเงินหยวน และหากประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียยินดีขายน้ำมันให้กับจีนเป็นหยวนอีกประเทศหนึ่ง เงินหยวนก็จะกลายเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศนี้ไปทันทีโดยอัตโนมัติ และหากมีประเทศอื่นกระโดดเข้ามาตาม ในที่สุดหยวนก็จะกลายเป็นสกุลเงินที่ประเทศต่าง ๆ เก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศไปทันที
แต่การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะตัดสินใจมีเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นหยวนก็หมายความว่าประเทศนั้นต้องมั่นใจว่าเงินหยวนที่ตอนเองถืออยู่จะต้องนำไปชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ตนเองต้องการได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น เงินหยวนเป็นเงินที่ไม่ว่าจะเอาไปซื้อสินค้าและบริการหรือลงทุนในประเทศไหน ประเทศปลายทางก็ยินดีรับ
ในแง่ของการซื้อสินค้าและบริการ เนื่องจากจีนคือโรงงานของโลก การมีหยวนไว้ในมือ แม้ว่าจะซื้อสินค้ากับประเทศอื่นไม่ได้แต่สินค้าและบริการในจีนก็มีมากพอที่จะทำให้ประเทศที่ถือเงินหยวนอุ่นใจว่าเงินหยวนไม่ worthless แต่การเป็นเงินเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เงินหยวนยังมีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะจีนยังเข้มงวดและระมัดระวังในการออกพันธบัตรเป็นหยวนให้ต่างประเทศถือเนื่องจากระบบการเงินของตัวเองยังไม่ใหญ่พอ
แต่จีนก็ยังไม่พร้อมที่จะออกพันธบัตรมามากอย่างไม่ระมัดระวัง เพราะหากออกมามากเกินไปจะทำให้จีนเปลี่ยนสถานะจากเป็นประเทศเจ้าหนี้เป็นประเทศลูกหนี้อย่างรวดเร็วในขณะที่เงินหยวนเองยังไม่ได้เป็นสกุลเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจีนจะล้มละลายโดยง่าย เพราะจีนไม่อยู่ใน position ของอเมริกาที่ too big to fail เพราะถ้าอเมริกาล้ม ทุกประเทศในโลกจะล้มตามทันที ทุกประเทศในโลกตอนนี้จึงต้องยอมให้อเมริกาเอาเปรียบแม้จะรู้ว่าเสียเปรียบก็ตาม แต่สกุลเงินหยวนของจีนยังไม่ได้สำคัญขนาดนั้น
เพื่อให้หยวนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น จีนก็ต้องทำให้หยวนเป็นที่ต้องการของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 เราจึงเห็นจีนค่อย ๆ เจรจากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ทำการค้ากับจีนโดยใช้หยวนและสกุลเงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้ดอลลาร์ซึ่งตอนนี้ก็กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก แล้วจีนก็ขยายปริมาณการออกพันธบัตรให้ค่อย ๆ มากขึ้นตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่จีนขาดดุลการค้าให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คู่ค้ามีทางเลือกเป็น yuan denominated bond ในการเก็บสินทรัพย์ทางการเงินเอาไว้
ในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่รัสเซียจะประกาศขายพลังงานให้จีนเป็นเงินหยวน จีนได้ใช้เงินที่ได้จาก trade surplus เข้าไปสร้างอิทธิพลในประเทศต่าง ๆ ทั้งในละติน อาฟริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำนองเดียวกันที่อเมริกาใช้ petrodollar เข้าไปสร้างอิทธิพลในประเทศต่าง ๆ เพียงแต่ที่ต่างกันคือจีนใช้ tradeyuan ไม่ใช่ petroyuan
แล้วถ้ามี petroyuan จะเปลี่ยนไปอย่างไร
ไม่ว่าสงครามรัสเซีย - ยูเครน จะจบลงอย่างไร คงเป็นที่แน่นอนว่า petroyuan จะเกิดขึ้นในโลกนี้ อย่างน้อยก็จากรัสเซีย และอาจตามมาด้วยประเทศในตะวันออกกลางและละตินอเมริกาอีกบางประเทศที่ต้องการหาทางออกจากดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อมี petroyuan เกิดขึ้น หากจีนไม่ทำอะไร petroyuan ที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตาม trade deficit ระหว่างจีนกับประเทศผู้ขายพลังงานก็จะกลายเป็นภาระทางการเงินของจีนเอง จีนก็ต้องหาทางออกโดยการ channel เงินก้อนเดียวกันนี้ไปให้ประเทศอื่นกู้หรือให้เปล่าเพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศทำนองเดียวกับที่สหรัฐทำ
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ตกหลุมหนี้ที่ตัวเองเป็นผู้ก่อทำนองเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำมาในอดีต ไม่ทำให้ประเทศผู้รับรู้สึกได้ว่าจีนจะเข้ามาเอาเปรียบ ประเทศต่าง ๆ ก็พร้อมจะรับการช่วยเหลือจากจีน ซึ่งหากจีนทำอย่างระมัดระวังและด้วยความหวังดีอย่างที่จีนป่าวประกาศต่อชาวโลก (ในขณะที่คนจำนวนมากไม่คิดเช่นนั้น) การที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในการเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศก็ยิ่งมีสูง
แต่จุดอ่อนของจีนก็คือระบอบการปกครองที่เป็น autocratic ของจีนเอง
จริงอยู่ ระบอบนี้ หากได้ผู้ปกครองที่ดี และมีการวางแผนระบบเศรษฐกิจที่ดีดังเช่นที่จีนทำในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา จะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแก้ปัญหาอื่นที่ตามมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งก็ได้แก่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นเป้าหมายหลักของจีนในปัจจุบันก็น่าจะถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา จีนเลียนแบบญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน ในเรื่องของการสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นผู้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ที่จีนทำแตกต่างคือการเพิ่มบรรยากาศของการแข่งขันให้เอกชนภายในประเทศแล้วให้ระบบตลาดคัดเลือกผู้ที่เข้มแข็งให้เป็นผู้อยู่รอด ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้การสร้าง supply chain ภายใต้ Keiretsu เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการสร้างระบบตลาดทำนองนี้ทำให้เศรษฐกิจของจีนยืดหยุ่นและปรับตัวง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นระบบที่ยืดหยุ่นและปรับตัวง่าย แต่ก็เป็นระบบที่วางแผนและประคับประคองจากส่วนกลางที่ปกครองแบบอำนาจนิยมที่ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเดียวหรือคนเดียวต่อเนื่อง ยาวนาน ไม่ใช่เกิดขึ้นภายใต้ระบบนิเวศที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์จริง ๆ และอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองที่ผู้ปกครองผลัดเปลี่ยนกันมาตามความสามารถที่ประชาชนเป็นผู้เลือกและอยู่ในวาระที่จำกัดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาสามาเป็นผู้นำต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกับประเทศในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จุดอ่อนนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการปกครองของจีนเป็นระบบที่พลาดไม่ได้ ต้องวางแผนอย่างดี และเดินไปตามการวางแผนอย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการวางระบบสรรหาผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องได้ผู้นำที่มีความสามารถสูง มีภาวะผู้นำสูง และไม่ยึดติดกับอำนาจ ต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่สำหรับโลกยุคใหม่ให้พร้อมเข้ามาสืบทอดตลอดเวลา แต่หากเกิดความผิดพลาดในระบบดังกล่าว หรือแม้แต่ผู้นำที่ผ่านระบบนี้มาอย่างดีแล้ว แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงในความคิดหรือสภาพจิตใจซึ่งต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาตามธรรมชาติของมนุษย์และทำให้ผู้นำคนนั้นมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากสิ่งที่ควร ระบบทั้งระบบก็จะล้มครืนลงทันที
หากจะมีอุปสรรคใดที่ขัดขวางไม่ให้จีนก้าวไปสู่ความสำเร็จของการกลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลกจากที่เคยเป็นในช่วงปี 1500 – 1600 ก็น่าจะเป็นระบอบการปกครองของจีนเอง ไม่ใช่เพราะสหรัฐอเมริกา
โฆษณา