1 พ.ค. 2022 เวลา 11:47 • หนังสือ
มัทนี โมชดารา รัตนิน
ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ มัทนี โมชดารา รัตนิน หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันต่อๆมาว่า ‘ครูมัท’ นั้น ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการศึกษา ผู้บุกเบิกงานด้านการละครเวทีสมัยใหม่เป็นคนแรกๆของเมืองไทย และได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที) ประจำปี พ.ศ. 2560
ท่านอาจารย์ มัทนี เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด เริ่มการศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จนถึงชั้นประถมและมัธยม จนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษา สาขาศิลป์ (อักษร) โดยสอบได้เป็นที่ 14 ของประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2498 และสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำคะแนนได้สูงเป็นลำดับที่สามของคณะในปีนั้น
แต่เรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ได้ไม่ถึงปี ท่านก็ไปสมัครสอบชิงทุนรัฐบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นอันดับที่สองของประเทศ ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่ Wellesley College รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเรียนวิชาเอกภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส วิชาโทศิลปะและวรรณคดี และไปต่อปริญญาโทที่ Middlebury Graduate School of French ที่กรุงปารีส และเมื่อจบการศึกษาได้กลับมาเมืองไทย เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นครู โดยระหว่างนั้นได้ลาราชการไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ด้วยทุนของ Rockefeller Foundation
เมื่อจบกลับมา ท่านได้เริ่มต้นสอนหนังสือที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่นี่เอง ที่ท่านได้บุกเบิกการทำละครเวทีสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการสอน
เริ่มต้นจากละครเรื่อง อวสานเซลล์แมน ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง Death of A Salesman ของ Arthur Miller จัดแสดงที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2513 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร
หลังจากนั้นในเวลาต่อมา…ละครเรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา หรือ A Streetcar Named Desire จากบทประพันธ์ของ Tennessee Williams และละครเรื่อง วัยวุ่น ที่ดัดแปลงมาจากเค้าโครงเรื่อง Ah, Wilderness ของ Eugene O’ Neill ก็ปรากฏต่อสายตาผู้ชมในปี พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2515 ตามลำดับ ถือเป็นยุคแรกของผลงานละครของท่าน ที่เป็นละครแปลมาจากบทประพันธ์ตะวันตก
ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ มาเป็นการดัดแปลงบทละครจากตะวันตก หรือจากนวนิยายไทยแทน โดยเริ่มต้นจากละครเรื่อง ‘อันตราคนี’ ในปี พ.ศ. 2519 ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครฝรั่งเศสเรื่อง Antigone ของ Jean Anouilh โดยเนื้อหา บุคลิกของตัวละคร และถ้อยคำได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับการแสดงในเมืองไทย และผู้ชมในเมืองไทยในขณะนั้น
ละครเรื่องนี้แสดงบนเวทีครั้งแรกที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เมื่อวันที่ 8 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเกินความคาดหมาย จนนำมาแสดงทางโทรทัศน์ที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2519 และตามมาด้วยบทละคร ‘อันตราคนี’ ที่สำนักพิมพ์ดวงตาได้จัดพิมพ์ขึ้น ออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ด้วยภาพปก และภาพประกอบในเล่ม จากฝีมือของท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
หลังจากนั้น ก็ตามมาด้วยผลงานละครเวทีอีกหลายเรื่อง อาทิ ซูสีไทเฮา ในปีพ.ศ. 2524 เหมียว จากบทละครเรื่อง Cats ในปี พ.ศ. 2528 สิ้นแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2529 และแม่เบี้ย ในปี พ.ศ. 2531 ก่อนจะเข้าสู่ยุคที่สาม ซึ่งเน้นละครแต่งใหม่ หรือเรียบเรียงจากบทละครหรือนวนิยายมากขึ้น อาทิ บุษบา อุณากรรณ ในปี พ.ศ. 2537 รักเธอชั่วนิรันดร์ ในปี พ.ศ. 2538 และ รามา - สีดา ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนที่จะเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2540
ถึงวันนี้…ลูกศิษย์ลูกหาของ ‘ครูมัท’ ที่คาดว่าน่าจะมีจำนวนนับพันนั้น ต่างยังคงรำลึกถึง ‘ครูมัท’ ในฐานะครูผู้สอนผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแสดง และผู้มีพระคุณ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคุณมาฬิศร์ เชยโสภณ ที่ปัจจุบันคือดารานักแสดงคนหนึ่งของวงการบันเทิงบ้านเรา ได้เคยพูดถึง ‘ครูมัท’ เอาไว้สั้นๆ แต่ครอบคลุมความหมายเอาไว้ได้อย่างน่าฟังว่า “สำหรับผม…ครูเป็นศิลปินที่สร้างมนุษย์ได้เก่งมากๆครับ”
วันนี้…1 พฤษภาคม คล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ มัทนี โมชดารา รัตนิน เมื่อปี พ.ศ. 2480 และในปีนี้ท่านมีอายุครบ 85 ปีแล้ว ในฐานะอดีตแฟนละครเวที…กราบอวยพรขอให้ท่านมีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นขวัญและกำลังใจให้กับละครเวทียุคใหม่ไปอีกนานแสนนาน
1
………………………………………
ข้อมูลเรียบเรียงมาจากบทความ ‘มัทนี โมชดารา รัตนิน ครู-คน-ละ-คอน’ โดย เอกชยา / ธนพัฒน์ ในนิตยสารวอลลุ่ม เล่มที่ 149 ปักษ์แรก กรกฎาคม 2554
1
โฆษณา