2 พ.ค. 2022 เวลา 00:00
“กระต่ายขาว” แบรนด์ดังตัวแทนความหวานจากแผ่นดินมังกรที่มีตำนานกว่า 100 ปี! และก็ยังคงอยู่ในฐานะหนึ่งในแบรนด์ของผู้ผลิตสินค้าด้านอาหารชั้นนำของเมืองจีน ด้วยรากฐานแนวคิดที่แน่นปึ้ก กับเคล็ดลับความสำเร็จภายใต้วิธีจัดการแบบไม่เหมือนใครสไตล์จีนแดง!
“กระต่ายขาว” หวานมันอย่างมังกร
บทความจากคอลัมน์ "The Good Old Brand" บนแอป 2read
สำหรับในบ้านเรา “ลูกอมรสนมตรากระต่ายขาว”
หรือ “ไวท์แร็บบิต” ในภาษาอังกฤษ
และ “ตาไป๋ทู่” ในภาษาจีน
จัดเป็นลูกอมสุดพิเศษ
นอกจากรสชาติจะกลมกล่อมแล้ว
ภายใต้กระดาษห่อที่เป็นรูปกระต่าย
กระดาษแผ่นบางสีขุ่นที่หุ้มลูกอมภายในก็มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์
เพราะไม่ต้องแกะแล้วทิ้งเหมือนลูกอมแบบอื่น
เนื่องจากทำมาจากแป้งข้าวเหนียว
มันจึงใส่ปากอมหรือเคี้ยวได้ทั้ง “เปลือก” และลูกอม
ส่วนความเป็นมาก็ไม่เหมือนขนมเด็กทั่วไปอีกเหมือนกัน
ภายหลังเริ่มผลิตในจีนเมื่อ 2502
โดยโรงงานชื่อ “กวนเชิงหยวน” ได้ไม่นานนัก
เราก็เริ่มได้เห็นลูกอมสัญชาติจีนยี่ห้อนี้จำหน่ายในบ้านเรา
แต่ก็ใช่จะหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป
เด็กไทยจะพบมันเฉพาะร้านในละแวกชุมชนชาวจีน
หรือแผงค้าขนมนมเนยที่ขนมาจากชายแดนใต้เท่านั้น
และใครก็ตามที่ได้ลิ้มลองจนติดใจก็ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร
เพราะบนฉลากมีแค่ภาษาจีนที่เด่นกว่าภาษาอังกฤษ
รวมทั้งไร้การประชาสัมพันธ์ใดผ่านสื่อชนิดไหนทั้งสิ้น
แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น จนถึงปัจจุบัน กระต่ายขาวก็ยังอยู่
และหาซื้อได้สะดวกกว่าเดิมตามร้านชั้นนำทั่วไป
ส่วนฉลากลูกอมก็ยังเป็นรูปกระต่ายหมอบตัวเดิมกับจานสี
แต่มีหลากรสมากขึ้น มีตัวแทนจำหน่ายใน 40 ประเทศทั่วโลก
และโลโกกระต่ายขาวก็แตกไปเป็นสินค้าอีกหลากหลาย
ในแต่ละปีสามารถทำเงินให้ทางการจีนอย่างมหาศาล
เพราะกวนเชิงหยวน หรือ กวนเชิงหยวน (กรุ๊ป)
ผู้ผลิตลูกอมกระต่ายขาวในวันนี้
คือหนึ่งในบริษัทด้านอาหารแถวหน้าของจีน
ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
และถ้ามองความสำเร็จในปัจจุบันกับวันเริ่มต้น
กระต่ายขาวถือว่ามีการเกิดและดำเนินธุรกิจ
ในแบบที่อีกหลายประเทศอาจทำไม่ได้
เพราะมันก็คล้ายกันกับการอยู่รวมกันของกระดาษห่อที่กินได้
กับรสกลมกล่อมของตัวลูกอม
เป็นการนำความพิเศษของ “ชื่อเสียง” กับ “คุณภาพ”
ของผู้ประกอบการ 2 แห่งมารวมกัน
โดยรัฐแล้วกำหนดทิศทางให้เป็นไป
กวนเชิงหยวนก่อตั้งโดยนายเสียนปิงเชิง
(หรือเสียนกวนเชิงในเวลาต่อมา)
ชาวกวางตุ้งในเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2458 โดยเวลานั้นเขาอายุ 28 ปี
และยังเป็นเพียงร้านขายขนมขบเคี้ยว
ทั้งลูกกวาด ผลไม้แห้ง รวมทั้งขนมนานาชนิด
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งของที่นี่จัดเป็นของมีชื่อ
จากนั้นไม่กี่ปีก็สามารถก่อตั้งเป็นบริษัท
ตามด้วยเปิดโรงงานผลิตสินค้าหลากหลาย
ทั้งขนมปัง เครื่องดื่มไปจนถึงอาหารกระป๋อง
และมีการขยายสาขาไปในอีกหลายแห่ง
ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี กิจการของเสียนปิงเชิงก็รุ่งเรือง
กวนเชิงหยวนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสินค้
ประเภทอาหารลำดับต้นของเมืองจีน
ส่วนลูกอมรสนมแสนอร่อยที่เรารู้จัก
กวนเชิงหยวนไม่ได้เป็นผู้ผลิตคิดค้นขึ้น
แต่เป็นผลิตภัณฑ์ของโรงงานผลิตลูกอม “เอบีซี” ในเซี่ยงไฮ้
โดยเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2486
ส่วนเจ้าของเป็นใคร ในโลกออนไลน์ยังไม่พบข้อมูล
เจอเพียงคำว่า “พ่อค้าคนหนึ่ง” กับเรื่องราวต้นกำเนิดของมัน
ที่พ่อค้ารายนี้ได้ลิ้มรสลูกกวาดชนิดหนึ่งจากอังกฤษแล้วติดใจ
จนอยากผลิตขึ้นมาได้เองบ้าง
เขาจึงใช้เวลาปรุงอยู่ครึ่งปี
ก่อนจะกลายเป็นลูกอมรสนม
ภายใต้ชื่อกับรูปบนฉลากที่ยืมมาจาก วอลต์ ดิสนีย์ ว่า
“ลูกอมเอบีซี มิคกี้ เมาส์”
และด้วยรสชาติที่เหมือนขนมอิมพอร์ตแต่ราคาเยาว์กว่า
มันจึงได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองจีน
แต่ภายหลังเกิดเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในคริสต์ทศวรรษที่ 50 กิจการของเอกชนมากมายได้ตกเป็นของรัฐ
โรงงานเอบีซีก็เช่นเดียวกัน
ถูกยึดแล้วนำมารวมกับกวนเชิงหยวน
ซึ่งมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้ว
แต่ด้วยมิคกี้ เมาส์ เป็นวัฒนธรรมตะวันตก แลดูไม่เหมาะสม
จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์
รวมทั้งชื่อลูกอมของเอบีซีเสียใหม่
โดยให้นายหวังชุนหยัน ฝ่ายศิลป์ของโรงงานเป็นผู้ออกแบบ
จากหนูอเมริกันจึงกลายมาเป็นกระต่ายขาวอย่างที่เห็นกันในที่สุด
การสนับสนุนของรัฐบาลถือเป็นจุดแข็งขององค์กร
และก็ไม่ได้ทำให้สูญเสียกลวิธีในการดำเนินงานที่กวนเชิงหยวนเป็นมาตั้งแต่ต้น
ไม่ว่าจะเป็นการนำลูกอมกระต่ายขาวมาใช้เป็นของขวัญที่ระลึกงานวันชาติในปีแรกที่เริ่มผลิต การนำไปเป็นของขวัญมอบแก่ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน
เมื่อคราวเยือนจีนในปี 2515
หรือการโฆษณาว่ามีคุณค่าไม่ต่างจากการดื่มนมสักแก้วสำหรับเด็กๆ ชาวจีน
เหล่านี้ล้วนเป็นแนวคิดเดียวกับเสียนปิงเชิงใช้ในการส่งเสริมการตลาด
เพราะเขาเองก็มักจัดอีเวนต์เรียกร้องความสนใจ
ให้กับสินค้าและร้านของตัวอยู่เสมอ
เด่นที่สุดคือเมื่อปี 2477 ที่เขาเพิ่มความพิเศษให้ขนมไหว้พระจันทร์ของกวนเชิงหยวน ด้วยการนำดาราสาวชื่อดังมาถ่ายรูปกับขนมไหว้พระจันทร์
แล้วปล่อยภาพถ่ายให้แพร่หลายไปในสื่อสิ่งพิมพ์
"การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนจีน"
และมุ่งมั่นที่จะสร้าง "ความสวยงาม กลมกลืน เปล่งประกาย และชีวิตชีวา"
รวมทั้ง “เพื่อชีวิตใหม่ สู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับอาหารของผู้คน!”
คือปณิธานที่กวนเชิงหยวนระบุไว้ในเว็บไซต์วันนี้
แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงรากฐาน
คงต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดและวิธีการของเสียนปิงเชิง
ที่ไม่เพียงทำให้กวนเชิงหยวนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
หรือพึ่งเพียงการประชาสัมพันธ์เท่านั้น
เพราะอย่าลืมและขอย้ำว่าเด็กไทยรู้จักลูกอมกระต่ายขาวมาจนถึงวันนี้ได้
โดยไม่เคยผ่านการประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย
ว่ากันว่าความสำเร็จของกวนเชิงหยวน
เป็นไปตามปรัชญาการค้าขายแบบที่เรียกว่า
“3 คำ 3 ขั้น” ซึ่งก็คือ “หัวใจ” “ทักษะ” และ “ต้นทุน”
สามสิ่งซึ่งจะนำไปสู่ “ชื่อเสียง” “คุณภาพ”
และ “ลูกค้าต้องมาก่อน” ของเสียนปิงเชิง
โดย “ทักษะ” ก็เพื่อให้พนักงานมีความรับผิดชอบและเป็นมืออาชีพ
กวนเชิงหยวนจึงจะดำเนินงานไปได้ด้วยดี
ส่วน “ต้นทุน” หมายถึงการให้พนักงานได้รู้สึกมีส่วนร่วมในองค์กร
โดยการช่วยกันประหยัดรายจ่ายเพื่อจะนำมาเป็น “ทุน”
รวมทั้งกำไรเพื่อใช้ในการพัฒนาองค์กรต่อไป
และสำหรับ “ลูกค้าต้องมาก่อน”
เสียนปิงเชิงเองก็เคยแสดงถึงความเอาใจใส่ในสิ่งนี้
ด้วยการออกไปรับฟังปัญหาของลูกค้าที่หน้าร้านด้วยตัวเองเพื่อนำมาปรับปรุง
หรือเมื่อโดนลูกค้าจากบางสาขาตำหนิว่าขนมปังไม่ร้อนเลย
เขาก็ไม่ปล่อยผ่าน
แต่ถึงขั้นทุบโต๊ะแล้วไล่หัวหน้าฝ่ายผลิตให้ไปกินอยู่ในโรงงาน
เพื่อเฝ้าเตาอบขนมปัง ก็เพราะเสียนปิงเชิงเอาใจใส่ในผลิตภัณฑ์ของตน
เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
แม้เสียนปิงเชิงจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปีที่ลูกอมเอบีซีถูกแปลงมาเป็นกระต่ายขาว
และถึงจะไม่ใช่ขนมที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง
ด้วยรากฐานที่มุ่งมั่นใส่ใจอย่างจริงจังดังกล่าว
กับรสชาติของมันในวันนี้ที่สามารถลิ้มลองแล้วรับรู้ได้ทันทีว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน
ทั้งหมดก็น่าจะบอกได้ถึงความมั่นคงจากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง
ที่ยังคงอยู่คู่กับกระต่ายขาวเช่นเดิม
เรื่องและภาพ : สืบสกุล แสงสุวรรณ
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ
โฆษณา