3 พ.ค. 2022 เวลา 10:00 • การศึกษา
การให้ทานที่จะได้บุญมาก
ในเรื่องของการทำทาน หลายๆ ท่านอาจจะปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่คลายความสงสัยว่าทำไมทำบุญแล้วบุญไม่ส่งผล หรือเห็นผลช้า หรือไม่ก็ให้ผลไม่สมดังใจปรารถนาซะที เรามาศึกษาจากบทความนี้กันค่ะ
1
ทางมาแห่งบุญในทางพระพุทธศาสนานั้น มีหลักปฏิบัติที่ชาวพุทธยืดถือ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” มีทางมาแห่งบุญ 10 ประการ อันประกอบด้วย
1) ทานมัย (บุญจากการทำทาน)
2) สีลมัย (บุญจากการรักษาศีล)
3) ภาวนามัย (บุญจากการเจริญสมาธิภาวนา)
4) อปจายนมัย (บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตน)
5) เวยยาวัจจมัย (บุญจากการช่วยเหลือการงานที่ถูกที่ควร)
1
6) ปัตติทานมัย (บุญจากการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น)
7) ปัตตานุโมทนามัย (บุญจากการอนุโมทนา)
8) ธัมมัสสวนมัย (บุญจากการฟังธรรม)
9) ธัมมเทสนามัย (บุญจากการแสดงธรรม)
10) ทิฏฐุชุกัมม์ (บุญจากการทำความเห็นให้ตรงความเป็นจริง)
รายละเอียดตัวอย่างแนวทางปฏิบัติหรือการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แสดงในตารางท้ายบทความ ซึ่งสามารถย่อรวมลงเหลือ 3 ประการ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 3” คือ ทาน ศีล ภาวนา
การให้ทานที่จะได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ก่อนอื่นจะต้องทำให้ทานนั้นครบองค์ ประกอบ 3 ประการดังนี้ คือ
1. วัตถุบริสุทธิ์ ได้แก่ สิ่งที่จะให้ทานต้องเป็นของที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง ไม่ได้คดโกงใครเขา
2. เจตนาบริสุทธิ์ ได้แก่ มีความตั้งใจที่จะให้ทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ฆ่าความโลภให้สิ้นไป ไม่ได้หวังลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเครื่องตอบแทน แต่มีความตั้งใจที่จะเสียสละ ให้เกิดเป็นบุญกุศลจริงๆ และการหวังได้บุญ ไม่ใช่เป็นความโลภนะ ขอให้พิจารณาแยกแยะกันให้ดี
3. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ทั้งผู้ให้ทาน และผู้รับทานต้องบริสุทธ์ หากเป็นผู้ที่รักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ก็จะได้บุญมาก บุคคลบริสุทธิ์แบ่งออกได้ 2 ประการ คือ
1. ผู้รับบริสุทธิ์ คือ ผู้รับทานหรือเนื้อนาบุญ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ซึ่งจะทำให้ได้บุญมากเป็นพิเศษ และได้บุญทันตาเห็นในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า หรือพระภิกษุสงฆ์ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เพื่อความหมดกิเลส แต่หากผู้รับเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องเป็นคฤหัสถ์ที่มีศีลธรรมอันดี
2. ผู้ให้บริสุทธิ์ คือ ตัวผู้ให้ทานเองต้องมีศีล 5 เป็นอย่างน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนให้ก็มีจิตใจผ่องใส ชื่นบาน เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใสอยู่ หลังจากให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่นึกเสียดาย
เริ่มต้น “ทำบุญ” เมื่อใด บุญให้ “ผล” เมื่อนั้น
ดังนั้น การให้ที่ได้ผลบุญมากหรือน้อยต้องอาศัยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังกล่าว
หากแต่ใครก็ตามแม้ไม่มีโอกาส “ให้ทาน” อันเป็นการทำบุญที่ทำง่าย และเป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว เรายังสามารถทำบุญอื่นอีก 9 วิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก
เช่น ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา อาราธนาศีล 5 สวดมนต์ไหว้พระ ดูแลบิดามารดา อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ทำความสะอาด และจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบ นั่งสมาธิแผ่เมตตา กล่าว “สาธุ” ยินดีกับการทำความดีของผู้อื่น ช่วยเหลือเพื่อนๆ ในที่ทำงาน เป็นต้น เพียงแค่นี้ก็เห็นผลทันตาแล้ว สุขเบื้องต้นจากการเป็นผู้ให้เกิดขึ้นที่ใจ
ขอบคุณบทความ : หลวงพ่อตอบปัญหา https://bit.ly/3y49D8C)
เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
3
โฆษณา