3 พ.ค. 2022 เวลา 12:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
currency war
ทำไมจีนจึงอยากให้สกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินของโลกแทนดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และทำไมสหรัฐอเมริกาจึงต้องปกป้องอย่างสุดฤทธิ
เพื่อตอบคำถามนี้ ก็ต้องตอบให้ได้ว่า ถ้าได้เป็นสกุลเงินที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนของโลกแล้วได้ประโยชน์อะไร
เงินคืออะไร ทำไมเราจึงเชื่อถือกระดาษที่รัฐบาลออกให้เราถือ และทำไมเราจึงเชื่อถือกระดาษที่ประเทศใหญ่ๆ ออกให้คนทั้งโลกถือ
มีหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง ที่อยู่กันเองเป็นหมู่บ้านปิด ไม่ติดต่อกับคนข้างนอก เดิมที หมู่บ้านนี้ไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะแต่ละครัวเรือนหากินกันแบบพอเพียงในครัวเรือน และทุกครัวเรือนผลิตทุกอย่างเหมือนกัน เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เอาไว้กินกันเอง สร้างบ้านด้วยตัวเอง ทำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านด้วยตัวเอง แค่เพียงพอสำหรับสมาชิกในครัวเรือน จึงไม่มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างครัวเรือน
ต่อมา มีคนแข็งแรงคนนึง ที่แข็งแรงกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ตั้งตนเป็นใหญ่ เรียกตัวเองว่า นายบ้าน แล้วบอกกับทุกคนในหมู่บ้านว่า ต่อไปนี้ ตนคือหัวหน้าของทุกคน มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับหมู่บ้าน ถ้าบ้านไหนทะเลาะกัน ก็จะไปยุติให้ ตัดสินให้ และนำความสงบกลับมาสู่หมู่บ้าน แต่เนื่องจากงานนี้ต้องใช้ทีมงาน จึงรวบรวมเหล่าชายฉกรรจ์มาเป็นพวกจำนวนนึง เพื่อเป็นลูกน้องในการรักษาความสงบ แล้วก็ออกกฎระเบียบขึ้นมาให้ทุกคนปฏิบัติตาม และเรียกกฎระเบียบนั้นว่า กฎหมาย ถ้าใครทำผิดกฎหมาย จะมีความผิด ต้องถูกลงโทษ
เนื่องจากงานดูแลรักษาความสงบและปกครองหมู่บ้านต้องใช้เวลา ใช้กำลัง ใช้ความคิด ทำให้นายบ้านและลูกน้องไม่มีเวลาไปทำมาหากินตามปกติแบบคนอื่น จึงออกกฎหมายให้ลูกบ้านทุกคนต้องแบ่งข้าว ผัก ปลา หมู ไก่ ที่แต่ละครัวเรือนผลิตได้ มาให้นายบ้านและลูกน้องบริโภค และต้องสละเวลาบางช่วงของแต่ละคนมาทำงานให้กับนายบ้าน เช่นสร้างบ้าน ทำอาวุธ หรืออื่น ๆ หรือแม้แต่ผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นเวรยามดูแลหมู่บ้าน เพื่อที่นายบ้านและลูกน้องจะได้มีเวลาทำงานด้านการปกครองอย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ นายบ้าน จึงเป็นผู้ที่มีสถานะพิเศษที่คนอื่นไม่มีคือ อำนาจในการเก็บ “ภาษี”
เมื่อเศรษฐกิจและสังคมมีการพัฒนาขึ้น แต่ละครัวเรือนเริ่มผลิตของใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ของใช้ในครัวเรือน เสื้อผ้า หรืองานฝีมืออื่น ๆ เพราะสมาชิกของแต่ละครัวเรือนมีความสามารถและความถนัดต่างกัน ผลผลิตในหมู่บ้านเริ่มหลากหลาย ทำให้ครัวเรือนหนึ่งเริ่มอยากได้ผลผลิตหรือผลงานของอีกครัวเรือนหนึ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดีเหมือน หรือดีเหมือนแต่ต้นทุนสูงกว่า การแลกเปลี่ยนสินค้าก็เริ่มเกิดขึ้น พวกที่มีฝีมือในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ เริ่มหยุดบทบาทของตัวเองด้านการเกษตร แล้วหันมาทำงานเป็นช่างฝีมือเพื่อผลิตสิ่งของเครื่องใช้เพื่อการอุปโภคไปแลกกับสิ่งของสำหรับการบริโภค
แม้แต่นายบ้านเอง ในบางช่วงอาจจำเป็นต้องใช้ผลผลิตอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผลผลิตการเกษตร ครั้นเมื่อจะเอาผลผลิตการเกษตรที่ตนเก็บภาษีมาได้ไปแลกสิ่งของเพื่อการอุปโภคเหล่านั้น พวกช่างฝีมือกลุ่มนั้นก็อาจจะยังไม่ต้องการ เพราะมากเกินไปกว่าที่เค้าจะมีไว้กินตามปกติ เมื่อนายบ้านต้องการสิ่งของเครื่องใช้ที่มีค่ามากกว่าผลผลิตการเกษตรหรือสิ่งของเครื่องใช้อื่นที่ช่างฝีมือต้องการ นายบ้านจึงต้องแก้ไขด้วยการออกตราสารหนี้ให้กับช่างฝีมือ เท่ากับมูลค่าของหนี้สินที่ตนค้างชำระกับช่างฝีมือไว้ และเรียกตราสารหนี้นี้ว่า “เงิน (money)” ซึ่งอาจจะให้ดอกเบี้ยมาก น้อย หรือ ไม่ให้ดอกเบี้ย ก็ได้ แล้วแต่ความต้องการสิ่งของเครื่องใช้ของนายบ้านที่ต้องการจากช่างฝีมือ ถ้าไม่ให้ดอกเบี้ยเลย ก็จะเรียกตราสารหนี้นั้นว่า “ธนบัตร” แต่ถ้าให้ดอกเบี้ย ก็จะเรียก “พันธบัตร”
เนื่องจากตราสารหนี้นี้ออกโดยนายบ้าน ซึ่งช่างฝีมือเชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่ตนนำตราสารหนี้นี้ไปยื่นต่อนายบ้าน ตนจะได้รับสิ่งของตอบแทนในมูลค่าเท่ากับมูลค่าที่เขียนไว้บนตราสารหนี้นั้น เพราะแม้ว่านายบ้านจะไม่ทำมาหากินด้วยตัวเอง แต่นายบ้านมีอำนาจในการเก็บภาษีจากลูกบ้าน อย่างไรเสีย ก็จะมีสิ่งของเครื่องใช้หรืออาหารการกินมาคืนให้ตนตามจำนวนที่ตราไว้บนตราสารหนี้นั้นแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ตราสารหนี้ที่ออกโดยนายบ้าน จึงได้รับการยอมรับจากลูกบ้านทุกคน
1
เมื่อลูกบ้านทุกคนยอมรับตราสารหนี้ที่ออกโดยนายบ้าน ก็หมายความว่า หากช่างฝีมือคนแรก หรือ คนต่อมา นำตราสารหนี้นี้ไปแลกสิ่งของเครื่องใช้ ผลผลิตการเกษตร จากลูกบ้านคนอื่น ลูกบ้านคนอื่นก็จะยอมรับตราสารหนี้นี้ เพราะเชื่อถือว่า เมื่อตัวเองต้องการสิ่งของเครื่องใช้หรือผลผลิตการเกษตรอื่น จากลูกบ้านคนอื่น ลูกบ้านเหล่านั้นก็จะยอมรับแลกด้วยตราสารหนี้นี้ ตนไม่ต้องนำสิ่งของเครื่องใช้หรือผลผลิตการเกษตรของตนไปแลกกับพวกเขาเหล่านั้น อีกทั้งยามที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อะไร ก็ยังสามารถเก็บตราสารหนี้นี้ไว้ใช้แลกสิ่งของเครื่องใช้กลับคืนมายามจำเป็น ไม่ต้องรีบนำไปแลก และหากไม่มีใครให้แลกจริง ๆ ก็นำไปแลกกับนายบ้านซึ่งเป็นคนออกตราสารหนี้คนแรกได้
ด้วยการถูกนำมาใช้งานในลักษณะนี้ ตราสารหนี้ หรือ เงิน นี้ จึงทำหน้าที่ สี่อย่างได้อย่างสมบูรณ์ คือ ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) หน่วยวัดมูลค่า (measure of value) เป็นเครื่องรักษามูลค่า (store of value) และมาตรฐานการชำระหนี้ภายหน้า (standard of deferred payment)
เมื่อเห็นว่า เงิน ถูกใช้นำไปใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกิน และพัฒนาไปใช้ในการซื้อบริการจากคนอื่นอย่างหลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน แทนที่นายบ้านจะออกตราสารหนี้ หรือ เงิน ให้กับคนที่เป็นเจ้าหนี้ของนายบ้านตามมูลค่าของการเป็นหนี้เป็นใบ ๆ ไป ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการนำไปแลกสิ่งของเครื่องใช้หรือบริการอื่น ๆ ต่อ นายบ้านก็ออกตราสารหนี้หรือเงินที่มีมูลค่าที่แน่นอน และออกหลาย ๆ มูลค่า มากบ้าง น้อยบ้าง ผสมกันไป เช่น มูลค่าเท่ากับ 1 หน่วย 5 หน่วย 10 หน่วย 20 หน่วย 100 หน่วย เป็นต้น
ซึ่งทำให้ลูกบ้านเกิดความสะดวกในการนำตราสารหนี้ หรือ เงิน ที่ออกโดยนายบ้านไปใช้ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น และเมื่อการแลกเปลี่ยนทำได้ง่ายขึ้น การผลิตและบริการเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างลูกบ้านกับลูกบ้าน และลูกบ้านกับนายบ้าน ก็จะมีมากขึ้น เศรษฐกิจของหมู่บ้านก็เฟื่องฟูขึ้นตามความสะดวกของการแลกเปลี่ยน
ต่อมา มีลูกบ้านบางคนต้องการเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปแลกปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตหรือสินค้าเพื่อการบริโภคอุปโภคมากกว่าความสามารถที่ตนเองจะหาได้ในขณะนั้น จึงเดินทางไปแจ้งความทุกข์นี้กับนายบ้าน นายบ้านเห็นว่า เมื่อลูกบ้านทุกคนยอมรับ “เงิน” ที่ตนเองออก นายบ้านจึงออก “เงินเพิ่มเติม” ให้กับลูกบ้านที่มาพบ และเนื่องจากเงินก้อนนี้ นายบ้านไม่ใช่คนจ่ายดอกเบี้ย เงินก้อนนี้จึงถูกออกในรูปของธนบัตรไม่ใช่พันธบัตร แล้วให้ลูกบ้านทำสัญญาว่า เมื่อลูกบ้านสามารถผลิตสินค้าหรือบริการไปแลกเงินคืนจากคนอื่นมาได้แล้ว ก็ให้เอาเงินมาคืนนายบ้านพร้อมดอกเบี้ยที่ตกลงกัน
และลูกบ้านคนที่มาพบก็กลับไปพร้อมกับเงินที่ ถ้านำไปแลกปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เมื่อผลิตได้แล้ว ลูกบ้านคนนั้นก็นำสินค้าหรือบริการนั้นไปขายให้กับคนอื่นและได้เงินต้นพร้อมกำไรกลับคืนมา หรือหากนำไปบริโภค ก็ต้องหาทางทำงานแลกเงินเพื่อให้ได้เงินกลับมา เพื่อนำไปใช้หนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่สัญญาไว้แก่นายบ้าน ในขณะที่นายบ้าน โดยไม่ต้องทำงานอะไร ได้แต่นั่งรอให้ลูกบ้านคนนั้นนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระ
จะเห็นว่า สิ่งที่นายบ้านได้มาฟรี ๆ จากลูกบ้านคือ ดอกเบี้ยนั้น ได้มาเพราะอำนาจพื้นฐานที่นายบ้านมีคืออำนาจในการปกครอง (sovereignty) ที่ทำให้นายบ้านได้รับความเชื่อถือจากลูกบ้าน และหากพิจารณาลึกลงไป ดอกเบี้ยนั้น ที่จริงแล้วก็คือส่วนหนึ่งของผลผลิตที่ลูกบ้านที่กู้ยืมเงินไปสามารถผลิตได้และนำส่วนหนึ่งของผลผลิตมายกให้นายบ้าน ดังนั้น หากมองในแง่นี้ ดอกเบี้ยที่นายบ้านได้รับจากลูกบ้านจึงไม่ต่างอะไรจาก “ภาษี” ที่นายบ้านเรียกเก็บเป็นค่าคุ้มครองจากลูกบ้าน เพียงแต่ดอกเบี้ยได้มาจากการอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านในการนำ “เงิน” ที่นายบ้านออกให้ใหม่โดยที่นายบ้านไม่ต้องมีอะไรเลย นอกจากอำนาจปกครอง ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สี่ด้านตามหน้าที่ของเงิน
แม้การออก “เงิน” ให้ลูกบ้านกู้ โดยไม่ต้องมีอะไรมารองรับ จะเริ่มต้นจากการที่นายบ้านมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แต่เงินก้อนเดียวกันนี้ เมื่อลูกบ้านคนที่กู้ไปนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากลูกบ้านคนอื่น ลูกบ้านคนอื่นที่ได้รับเงินนั้นไปจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของนายบ้านทันที เพราะหากนายบ้านไม่ยอมรับสถานะนี้ เงิน ก้อนดังกล่าวนี้ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากลูกบ้านคนอื่น เพราะถ้าลูกบ้านคนอื่นต้องการนำเงินก้อนนี้ไปแลกสิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกินจากใคร ก็จะไม่มีใครยอมรับ เพราะทุกคนรู้ว่า ถ้าไม่มีใครรับแลก ก็ไม่สามารถนำมาเคลมคืนจากนายบ้านได้ ซึ่งในที่สุด ก็จะไม่มีลูกบ้านคนไหนจะมาขอกู้เงินจากนายบ้าน และก็หมายความว่า นายบ้านหมดโอกาสที่จะเก็บภาษีในรูปของดอกเบี้ยจากลูกบ้านไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นายบ้าน จึงต้องรับสถานะการเป็นลูกหนี้สำหรับผู้ถือธนบัตรของนายบ้านทุกใบ
ปริมาณเงินที่นายบ้านออกมานั้นมีความสำคัญมากต่อมูลค่าที่แท้จริงของเงินที่นายบ้านเคยออกมาก่อนหน้าและกำลังจะออกมาทั้งปัจจุบันและอนาคต กล่าวคือ ตอนที่ลูกบ้านคนแรกไปยืมเงินจากนายบ้านนั้น ลูกบ้านทุกคนทำงานเต็มศักยภาพของตัวเองแล้ว ไม่สามารถทำงานได้เพิ่มมากกว่านั้นอีก เงินที่นายบ้านให้ลูกบ้านคนนั้นยืมไป จะไม่ทำให้เกิดการผลิตเพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่า มีเงินก้อนใหม่เข้าไปในระบบโดยที่ไม่มีสินค้าหรือบริการใหม่เพิ่มเข้ามารองรับเงินก้อนใหม่ กรณีนี้ เงินก้อนนั้น จะถูกลูกบ้านนำไปแย่งซื้อสินค้าหรือบริการเก่าจากลูกบ้านคนอื่น ก็จะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น หรือมองอีกมุมหนึ่งก็คือเงินจะถูกด้อยค่าลงไป เพราะมูลค่าเงินเท่าเดิมแต่นำไปแลกสิ่งของหรือบริการได้น้อยลง
แต่ถ้าสถานการณ์เป็นอีกแบบนึงคือ ลูกบ้านคนอื่นๆ ยังมีเวลาและทรัพยากรเหลือในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เงินที่เข้ามาในระบบเพิ่มเติมก้อนนี้ ก็จะถูกนำไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการก้อนใหม่ขึ้นมา ทำให้ผลผลิตของหมู่บ้านเพิ่มสูงขึ้นโดยที่เงินไม่ด้อยค่าลง
ต่อมา เมื่อหมู่บ้านนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสามารถในการผลิต ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของหมู่บ้านซึ่งออกโดยนายบ้านจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการให้สินเชื่อของนายบ้านกับลูกบ้านของตัวเองและผ่านการกู้ยืมลูกบ้านโดยนายบ้านเอง
นอกจากหมู่บ้านนี้แล้ว ในละแวกใกล้เคียงก็มีหมู่บ้านอื่นและเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับหมู่บ้านอื่นด้วย แต่การที่แต่ละหมู่บ้านมีความสามารถในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกิน และบริการที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละหมู่บ้านมีความต้องการสินค้าและบริการจากหมู่บ้านอื่นมาตอบสนองความต้องการของตนแต่ไม่สามารถผลิตได้ในหมู่บ้านของตน หรือผลิตได้แต่ไม่ดีเท่า หรือผลิตได้ดีเท่าแต่ต้นทุนสูงกว่า ความต้องการสินค้าซึ่งกันและกันนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน การใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างหมู่บ้านจึงเกิดขึ้น
เริ่มต้น ในช่วงที่แต่ละหมู่บ้านมีความต้องการสินค้าของหมู่บ้านอื่น พอ ๆ กับที่หมู่บ้านอื่นต้องการสินค้าของหมู่บ้านตัวเอง เมื่อหมู่บ้าน ก เอาของไปขายให้หมู่บ้าน ข ก็รับเงินเป็นเงินสกุลของหมู่บ้าน ข มาเก็บไว้กับตัวเอง และเมื่อมีความต้องการสินค้าและบริการของหมู่บ้าน ข เมื่อไร ก็นำเงินสกุลของหมู่บ้าน ข ไปแลก และในทางตรงข้าม หมู่บ้าน ข ก็ทำแบบเดียวกันกับหมู่บ้าน ก และทั้งสองหมู่บ้านก็ทำแบบเดียวกันกับหมู่บ้านอื่น ๆ
เมื่อเวลาผ่านไป นายบ้านของหมู่บ้าน ก ได้เร่งพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับลูกบ้านของตัวเอง เพราะเข้าใจดีว่า ยิ่งลูกบ้านทำงานได้ผลผลิตมาก ตัวเองก็เก็บภาษีได้มาก และยิ่งลูกบ้านเก่งขึ้น ความต้องการปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการก็มากขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการสินเชื่อจากนายบ้านเพิ่มมากขึ้น นายบ้านก็จะได้ดอกเบี้ยมากขึ้นตาม
การที่นายบ้านของหมู่บ้าน ก เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตให้กับลูกบ้านตัวเอง ทำให้ความสามารถในการผลิตของหมู่บ้าน ก มีมากกว่าหมู่บ้านอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ หมู่บ้านนี้จึงมีสินค้าและบริการที่หมู่บ้านอื่นไม่มี หรือมีแต่ดีไม่เท่า หรือดีเท่าแต่ต้องผลิตด้วยต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้สินค้าของหมู่บ้าน ก เป็นที่ต้องการของหมู่บ้านอื่นมากกว่าที่สินค้าของหมู่บ้านอื่นเป็นที่ต้องการของหมู่บ้าน ก เมื่อเป็นเช่นนี้ สกุลเงินของหมู่บ้าน ก จึงเริ่มเป็นที่ต้องการสำหรับทุกหมู่บ้าน เพราะต้องการเก็บไว้ใช้ซื้อสินค้าจากหมู่บ้าน ก
การที่สกุลเงินของหมู่บ้าน ก เป็นที่ต้องการของทุกหมู่บ้านเช่นนี้ แม้การแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นระหว่างหมู่บ้านโดยที่ไม่มีหมู่บ้าน ก เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ในเมื่อทุกหมู่บ้านต่างต้องการเงินสกุลของหมู่บ้าน ก เก็บไว้เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากหมู่บ้าน ก ทุกหมู่บ้านจึงยินดีแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินของหมู่บ้าน ก เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน นายบ้านของหมู่บ้าน ก จึงสามารถออกเงินสกุลของตัวเองเพิ่มเติมจากความต้องการของระบบเศรษฐกิจของตัวเองเป็นออกเพื่อตอบสนองความต้องการของหมู่บ้านอื่นเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการค้าขายระหว่างกันด้วย
และแน่นอนว่า ถ้าการออกเงินของนายบ้าน ก ไม่ได้ออกเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการของตนเอง แต่ออกเพื่อตอบสนองความต้องการเงินสกุล ก ของหมู่บ้านอื่น ก็หมายความว่า หมู่บ้านอื่นจะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับนายบ้าน ก สำหรับการนำสกุลเงิน ก ไปใช้ และนั่นก็หมายความว่า นายบ้าน ก มีอำนาจเก็บภาษี ในรูปของดอกเบี้ยจากหมู่บ้านอื่นโดยปริยาย โดยมีที่มาเบื้องต้นจากความสามารถในการผลิตของลูกบ้านของตัวเองนั่นเอง
และยิ่งความต้องการซื้อขายสินค้าระหว่างหมู่บ้านอื่นมีมากขึ้น นายบ้าน ก ก็ยิ่งมีรายได้จากภาษีในรูปของดอกเบี้ยที่เก็บจากหมู่บ้านอื่นมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่หมู่บ้าน ก ควรทำต่อไปคือการโปรโมตให้หมู่บ้านอื่นมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น เพราะหากนายบ้าน ก ให้หมู่บ้านอื่นกู้เงินสกุลของตัวเองเพิ่มเนื่องจากอยากได้ดอกเบี้ยเพิ่ม โดยไม่มีปริมาณการค้าระหว่างหมู่บ้านมารองรับ ค่าเงินของหมู่บ้าน ก ก็จะด้อยค่าลงไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อหมู่บ้าน ก และทุกหมู่บ้านที่ถือเงินสกุล ก ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินสกุล ก ลดลง และนั่นก็หมายถึง อำนาจพิเศษที่นายบ้าน ก มีเหนือคนอื่น ก็จะหายไปด้วย
เมื่อรู้ว่าเงินของตนเป็นที่ต้องการของหมู่บ้านอื่น ดังนั้นนอกจากการให้หมู่บ้านอื่นกู้เงินเพื่อนำไปใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันโดยไม่เกี่ยวกับหมู่บ้าน ก เองแล้ว นายบ้าน ก เองก็ใช้ประโยชน์จากความต้องการเงินสกุล ก ของคนอื่น ในการออกพันธบัตรเป็นเงินสกุล ก เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากหมู่บ้านอื่น ๆ อีกทางหนึ่งด้วย โดยอาจทำทั้งเพื่อออกให้ตัวนายบ้านเองนำไปใช้ในการซื้อสินค้าหรือบริการ หรือ ออกแทนลูกบ้านของตัวแล้วนำเงินที่ได้ไปให้ลูกบ้านกู้ต่อก็ได้ ซึ่งในกรณีนำไปให้ลูกบ้านกู้ต่อนี้ นอกจากนายบ้านจะได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ตัวเองต้องจ่ายให้กับหมู่บ้านอื่นกับดอกเบี้ยที่ตัวเองได้รับจากลูกบ้านแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับลูกบ้านของตัวเองเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่น โดยมีดอกเบี้ยที่ตนจะได้รับจากหมู่บ้านอื่นที่กู้เงินสกุล ก ไปใช้มาช่วยลดภาระ
จากนิทานที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การเป็นเจ้าของสกุลเงินที่คนอื่นนำไปใช้นั้น สร้างอำนาจพิเศษให้กับตนเองอย่างมาก และในทำนองเดียวกันแต่ด้วยสเกลที่ใหญ่ขึ้น อำนาจพิเศษที่มาพร้อมกับการเป็นเจ้าของสกุลเงินที่ทั่วโลกใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศนี้เองทำให้สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องปกป้องการเป็นเงินสกุลหลักของโลกอย่างถึงที่สุด
ในอดีต สหรัฐเป็นเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียวก็มีความสุขจากอำนาจพิเศษนี้และหลงลืมใช้อำนาจพิเศษนี้อย่างฟุ่มเฟือยจนเปลี่ยนจากประเทศเจ้าหนี้กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อจีนก้าวขึ้นมามีความสามารถในการผลิตมากอย่างที่ไม่มีประเทศใดเทียบได้แล้ว และกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก จีนก็เห็นอำนาจพิเศษนี้เช่นเดียวกับที่ทุกประเทศในโลกเห็น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพึ่งดอลลาร์อีกต่อไป และต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเช่นกันที่จะทำให้หยวนกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกแทนดอลลาร์ให้ได้ เพื่อให้ตนเองเข้ามาอยู่ในสถานะพิเศษนี้แทนสหรัฐอเมริกา
เราจึงเห็นการต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจสองรายนี้อย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น ส่วนผู้ปกครองของประเทศอื่น ๆ แม้จะไม่สามารถทำให้สกุลเงินของตัวเองขึ้นมาเป็นสกุลเงินของโลกได้ แต่ก็ต้องพยายามปกป้องและรักษาสกุลเงินของตัวเองไว้ เพราะแม้จะไม่สามารถเก็บภาษีจากชาวโลกได้ แต่ถ้ายังสามารถรักษาสกุลเงินของตัวเองไว้ได้ ก็ยังเก็บภาษีในรูปของดอกเบี้ยจากประชาชนของตนเองได้
โฆษณา