4 พ.ค. 2022 เวลา 00:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลงทุน RMF ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว ทำไมขายคืนไม่ได้??
การขายคืน RMF แบบถูกเงื่อนไข จะขายคืนได้ เมื่อลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และอายุครบ 55 ปีปริบูรณ์ ดังนั้นนอกจากครบ 5 ปี แล้ว ต้องเข้าเงื่อนไขอายุ 55 ปี ด้วยจึงจะขายคืนได้ มาดูตัวอย่างเพิ่มเติมกัน จะได้เข้าใจมากขึ้น
เช่น มานะลงทุน RMF ทุกปี ตั้งตอายุ 48 ปี ลงมาเรื่อยๆ จนอายุ 55 ปี แบบนี้ขายคืนได้ทั้งหมดทุกก้อนที่เคยซื้อมาตอนอายุครบ 55 ปี เพราะนับการลงทุนครั้งแรกเป็นสำคัญ โดยที่ลงทุนต่อเนื่องมา
หรือ ปิติ ลงทุน RMF ตั้งแต่อายุ 50 ปี ลงทุนต่อเนื่องไปทุกปี จนอายุ 60 ปี แบบนี้ก็ขายได้เพราะลงทุนอย่างน้อย 5 ปีและอายุตั้งแต่ 55 ปีบริบูรณ์
หรือ มานี ลงทุน RMF เมื่ออายุ 55 ปี ลงทุนทุกปีต่อเนื่องไปจนอายุ 60 ปี แบบนี้ก็ขายได้ทั้งหมดที่เคยซื้อมา ตรงนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดนึง ถึงแม้อายุครบ 55 ปีแล้ว ก็ยังสามารถลงทุน RMF ได้ ถ้ายังได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี และก็ไม่ใช่ว่า อายุ 55 ปีแล้ว จะขายเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องเข้าเงื่อนไขของการลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปี ด้วยนะ
ดังนั้นเงื่อนไขในการถือครองเพื่อให้ขายได้ตามเงื่อนไข ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง “ลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปี” และ “อายุตั้งแต่ 55 ปีปบริบูรณ์” ขึ้นไปนะ
แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องขายคืน ถ้าลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี ก็สามารถขายคืนได้ แต่ต้องคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนไป ย้อนหลัง 5 ปี ส่วนเรื่องของส่วนต่างกำไรจากการขายคืนตรงนี้ได้ยกเว้นภาษีอยู่เหมือนเดิมนะ เพราะลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี
ส่วนเงื่อนไขอื่นของ RMF มีดังนี้นะ
- RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับ SSF/ ประกันบำนาญ/ PVD/ กบข./ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. แล้วไม่เกิน 500,000 บ. ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เงื่อนไขเพดานของ RMF เป็นแบบนี้
- ต้องลงทุนทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน จะลงในกอง RMF เดิมที่เราเคยซื้ออยู่แล้ว หรือกอง RMF กองอื่น ของ บลจ. อื่นก็ได้ แค่เพียงลงทุนในกองประเภท RMF
- ไม่มีกำหนดการซื้อขั้นต่ำ ตั้งแต่ปี 2563 ไป เมื่อก่อนมีว่า ต้องซื้อขั้นต่ำ 3% ของรายได้หรือ 5,000 บ. แล้วแต่จำนวนไหนต่ำกว่า แต่ตั้งแต่ปี 2563 ไป ไม่มีกำหนดการซื้อขั้นต่ำ สำหรับการลดหย่อนภาษีของ RMF นะ
- ส่วนเงื่อนไขที่จะขายคืนได้ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปี และถือครองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นการนับแบบวันชนวัน ปีชนปี ตามที่เล่าไปนะ
เข้าใจเงื่อนไขของกองประหยัดภาษีให้ดีก่อนลงทุน และวางแผนการเงินของเราให้เหมาะสมเพื่อจะได้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ จะได้ไม่มีควมยุ่งยากเกี่ยวกับเรื่องภาษีตามมานะ
#RMF
#กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
#ลดหย่อนภาษี
#กองทุนรวม
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#เงื่อนไขRMF
#ผิดเงื่อนไขRMF
#กองทุนประหยัดภาษี
#ภาษี
โฆษณา