6 พ.ค. 2022 เวลา 13:00 • หนังสือ
"ลงทุนแบบตาสว่าง" หนังสือที่จะช่วยเบิกเนตรให้แก่นักลงทุนทุกคน
ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลทั้งเท็จทั้งจริง เส้นบางๆที่แยกความแตกต่างนี้ช่างเจือจาง เช่นเดียวกับวงการการเงินที่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยหมอกบดบังความเป็นจริง บดบังวิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามา “ลงทุนแบบตาสว่าง Investing Through the Looking Glass” ที่เขียนโดย Tim Price ได้ตีแผ่ถึงสิ่งหลอกลวงที่แฝงตัวอยู่ในโลกแห่งการเงิน เพื่อเป็นคู่มือในการลงทุนอย่างมีสติ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขนั้น
ถ้าต้องคลุกคลีอยู่ในโลกแห่งการเงินแล้วละก็ สำหรับผมนั้น เล่มนี้เป็นเล่มที่ไม่อ่านไม่ได้เลยจริงๆครับ ความเชื่อที่หล่อหลอมเรามา ใครจะไปรู้ว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดๆมาโดยตลอด ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผมก็บอกเลยครับว่าคุณอาจจะกำลังถูกหลอกอยู่ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เบิกเนตรและลงทุนแบบตาสว่างเลย ถูกไหมครับ?
โดยในโพสต์นี้ผมก็จะมาสรุปข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ครับ
ปี 1971 เป็นจุดเริ่มต้นของระบบที่ล้มเหลวทางการเงิน ที่เราเรียกว่า Nixon Shock ที่เกิดจากประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ได้ตัดทองคำออกจากการเป็นสินทรัพย์อ้างอิงกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด เหตุการณ์นี้ได้ทำลายสมดุลทางการเงินไปจนหมด
เงินทุกดอลลาร์ในตลาดจะถูกนำไปปล่อยกู้พร้อมดอกเบี้ย และดอกเบี้ยนั้นก็จะถูกชำระด้วยการปล่อยกู้อีกรอบหนึ่ง วนเวียนไปไม่รู้จบ จนกระทั่งการสร้างหนี้นั้นตามไม่ทันดอกเบี้ย จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ นี่จึงเป็นเหตุให้ธนาคารกลางพยายามสร้างหนี้อย่างไม่รู้จบและไม่ให้สะดุด เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็เกิดเป็นหนี้กองโตที่ไม่สามารถชำระได้หมด ยกเว้นว่าจะพิมพ์เงินมาจ่าย
เงินเฟ้อนั้นไม่ได้เกิดเพราะราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่สื่อกลางทางการแลกเปลี่ยนอย่างธนบัตรนั้นเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ สิ่งที่ธนาคารกลางทำจึงเหมือนการผลักดันเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น สินทรัพย์หนุนหลังให้แก่การปล่อยสินเชื่อก็คือเงินฝากของเรานั้นแหละและตามมาด้วยหนี้สินที่พอกพูนขึ้นอย่างที่ได้กล่าวไป
4
“ในหนึ่งรอบเงินเฟ้อ ช่วงแรกนั้นตลาดหุ้นจะขึ้น เศรษฐกิจมั่งคั่ง แต่ในช่วงสุดท้ายของเงินเฟ้อนั้น ตลาดหุ้นจะร่วง เงินจะขาดแคลน เศรษฐกิจจะสะดุด” Jens O. Parsson จากหนังสือชื่อ Dying of Money
ผลลัพธ์ดังกล่าวแน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดต้องเป็นคนระดับกลางจนถึงระดับล่าง ผู้ที่ไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตลอดชีวิต แต่กลับต้องแข่งขันกับเงินเฟ้อตลอดชีวิต
การแทรกแซงเศรษฐกิจก่อให้เกิดวิกฤต
ตลาดเสรีนั้นถูกแทรกแซงจากรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่บ่อยครั้ง ต่อไปผมจะอธิบายว่าการแทรกแซงนั้นส่งผลเสียอย่างไร
1
เมื่อถึงคราวเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลแต่ละประเทศที่มีหนี้เกินตัวนั้นไม่ยอมที่จะผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินจึงตามมา ธนาคารต่างๆปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทที่มีทั้งบริษัทที่แข่งแกร่งและบริษัทที่อ่อนแอ ทำให้การเติบโตของตลาดหุ้นนั้นเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน และจะเกิดฟองสบู่ในท้ายที่สุด
โดยปกติแล้วการชะลอตัวของเศรษฐกิจเปรียบเสมือนยารักษาเงินเฟ้อของตลาด แต่เนื่องจากการกลัวเงินฝืดและกลัวการผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องทำให้เงินเฟ้อเข้าไว้ และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นโดยไม่มีการปรับตัวของตลาด ในอนาคตการปรับตัวที่รุนแรงขึ้นจะตามมา
นโยบายที่จะคงค่าจ้างให้สูงขึ้นนั้นก็เป็นเหตุผลที่จะทำให้เกิดวิกฤต เนื่องจากจะทำให้ผู้ว่าจ้างไม่อยากจ้าง อัตราว่างงานจะสูงขึ้น และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงตกต่ำ ปัญหาการว่างงานจะยิ่งปะทุขึ้นไปอีก
การตึงราคาสินค้า แน่นอนว่าไม่สามารถทำได้ การตึงสินค้าทำให้อุปทานลดต่ำลง แต่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น ความไม่สมดุลนี้ทำให้สินค้าขาดแคลน ในอดีตไม่เคยมีการตึงราคาสินค้าที่ได้ผล แต่กลับจะทำให้เศรษฐกิจสะดุดเมื่อผู้ขายเพิ่มราคาสินค้าอย่างรวดเร็วเนื่องจากราคาที่ถูกตึงนั้นต่ำเกินไป
1
การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นพิษต่อการออมเงิน กระตุ้นให้ผู้คนไม่อยากออมเงิน และนำเงินไปใช้จ่าย ทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่มีทุนสำรอง เมื่อถึงคราวตลาดตกต่ำก็จะเป็นปัญหาอย่างหนัก ดังนั้นเมื่อถึงคราววิกฤต เงินสดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
ทางออก
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า
1
ในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นไปเพราะการอัดฉีดเงินที่พิมพ์ขึ้นมาอย่างง่ายดาย เศรษฐกิจมีความอ่อนไหวอย่างมาก การคาดการณ์ถึงราคาหุ้นเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างยากลำบาก วิธีแก้คือการลงแบบเน้นคุณค่า เราต้องหาธุรกิจที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผล เพราะในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ดีแต่ราคาแพงเกินไป ถึงแม้จะยากแต่ก็ยังสามารถหาเจอได้ในธุรกิจขนาดกลางจนถึงเล็กที่ยังไม่ถูกวิเคราะห์มากนัก
หลักการของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคือบริษัทต้องอยู่ในขอบเขตความรู้ความเข้าใจของเราและไม่มีความผันผวนมากอย่างเทคโนลียี มีราคาต่ำอย่างสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง มีราคาต่อมูลค่าทางบัญชี(P/BV) ราคาต่อกำไร(P/E) ราคาต่อยอดขาย(P/S) ต่ำอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น หรือถ้าเป็นกองทุนรวมก็ควรเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีแนวคิดเดียวกันและต้องสนใจในผลประกอบการมากกว่ามูลค่าของกองทุน
การพิจารณาประเทศ
เราต้องพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลแต่ละประเทศเพราะเราคงไม่อยากลงทุนหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากประเทศที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ การประเมินหนี้สินต่อ GDP นั้นไม่เหมาะสมเนื่องจากรัฐบาลสามารถพิมพ์เงินออกมาได้อย่างง่ายดาย ที่เหมาะกว่าคือ สินทรัพย์ต่างประทศสุทธิต่อ GDP เพราะไม่สามารถพิมพ์สกุลเงินต่างประเทศได้เลยต้องคงเอาไว้
ตัวแปรที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ Price to Book Value (P/BV) โดย Price คือราคาหุ้นในตลาด ส่วน Book Value คือมูลค่าทางบัญชี เป็นสินทรัพย์สุทธิของบริษัท เมื่อพิจารณาถึง P/BV เราจะรู้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชีของบริษัท ยิ่งน้อยยิ่งดีเพราะแสดงว่าเราได้หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทที่แท้จริง
1
ตัวแปรสุดท้ายคือต้องพิจารณาถึง Enterprise Value to Cash from Operations (EV/CFO) โดย Enterprise Value แสดงถึงมูลค่าของกิจการ ส่วน Cash from Operations แสดงถึงกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน เมื่อนำมารวมกันแล้ว EV/CFO จะแสดงถึงระยะเวลาในการที่บริษัทจะซื้อกิจการตัวเองทั้งหมด สมมติว่า EV/CFO เป็น 10 แสดงว่าบริษัทจำเป็นต้องใช้เวลาจำนวน 10 ปีในการที่จะซื้อกิจการตัวเองทั้งหมด
1
เราจะมองหาธุรกิจขนาดกลางจนถึงเล็กเพราะฉะนั้นประเทศควรมี P/BV อยู่ในระดับ 0.5-1 แต่เพราะ P/BV ที่น้อยอาจจะแสดงว่าธุรกิจนั้นด้อยมูลค่าและอาจจะไม่สามารถเติบโตได้ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณา EV/CFO ร่วมด้วย ซึ่ง EV/CFO ตั้งแต่ 10 ขึ้นไปถือว่ากำลังดีเลยครับ ประเทศที่มีตัวแปรที่กำลังดี เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม เป็นต้น
ทองคำ
1
J.P. Morgan ได้กล่าวไว้ว่า “มีเพียงทองคำเท่านั้นที่เป็นเงิน สิ่งอื่นทั้งหมดเป็นเพียงสินเชื่อ”
ทองคำไม่มีความเสี่ยงทางสินเชื่อหรือคู่ค้า ไม่เหมือนตราสารหนี้หรือหุ้นที่มีความเสี่ยงถ้าอีกฝ่ายล้มละลาย และทองคำไม่สามารถผลิตขึ้นได้จากอากาศเหมือนธนบัตรที่สามารถพิมพ์ขึ้นมามากเท่าไหรก็ได้ โดยทองคำมีอัตราการผลิตเพิ่มอยู่ที่ 2% ไม่ว่าราคาทองคำจะขึ้นไปสูงแค่ไหน อัตราผลิตทองคำก็จะอยู่ที่ประมาณ 2% เท่าเดิม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทองคำจึงเป็นทางออกสำหรับระบบการเงินที่ไร้เสถียรภาพนี้
ทองคำนั้นเปรียบเสมือนประกันของพอร์ต ในช่วงเงินเฟ้อหรือวิกฤต ราคาทองคำจะแสดงคุณค่าของมันออกมา โดยเราสามารถลงทุนทองคำโดยซื้อทองคำแท่งที่ถูกจัดสรรมาแล้ว (Allocated Gold) ซื้อหุ้นของเหมืองทองคำ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี ETF ก็ได้เช่นกันครับ
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับหนังสือลงทุนแบบตาสว่าง Investing Through the Looking Glass ที่เขียนโดย Tim Price ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นเองครับ ภายในหนังสือได้พูดถึงธนาคาร ธนาคารกลาง พันธบัตร ผู้จัดการกองทุน สื่อทางการเงิน และอีกหลายๆเรื่อง เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้ตีแผ่สิ่งหลอกลวงที่แฝงตัวอยู่ในโลกการเงินอย่างครบถ้วนเลยล่ะครับ
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก ไม่อ่านไม่ได้จริงๆครับ ถึงจะเป็นหนังสือที่อ่านยากไปซักนิด เพราะมีการอ้างอิงเนื้อหาจากแหล่งต่างๆ (อ้างอิงเยอะมาก ทำการบ้านมาดีจริงๆ 555) และก็เป็นหนังสือแปลไทย บางคำก็เลยอาจจะเข้าใจยากนิดหน่อย แต่โดยรวมถือว่าเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในการเบิกเนตรให้กับนักลงทุนทุกคนได้อย่างแน่นอน อย่าลืมหามาอ่านกันให้ได้เลยนะครับ!
โฆษณา