5 พ.ค. 2022 เวลา 11:29 • ปรัชญา
โกรธคือโง่? โมโหคือบ้า?
ความโมโหในมุมมองปรัชญาสโตอิก (ตอนที่ 1)
คุณกำลังยืนต่อแถวเพื่อซื้อชานมไข่มุกอยู่ที่ร้านน้ำในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใจกลางเมือง. ทันใดนั้นเอง, ก็มีมนุษย์ป้าคนหนึ่งเดินเข้ามาแซงคิวคุณอย่างหน้าตาเฉย. คุณรู้สึกหัวร้อนขึ้นมาทันที ใช่หรือไม่?
1
หรือหากคุณกำลังเดินอยู่ริมถนนในวันที่ฝนเพิ่งจะหยุดตก, แล้วจู่ๆ ก็มีรถเก๋งคนหนึ่งขับซิ่งเหยียบน้ำที่ขังอยู่ในหลุมบ่อบนถนนจนน้ำกระเซ็นสาดมาใส่คุณเต็มๆ จนเปียกโชกไปเกือบทั้งตัว, คุณย่อมรู้สึกเดือดดาลและสบถด่าตามหลังรถคันนั้นใช่หรือไม่?
คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า เป็นได้หรือไม่ที่เราจะไม่รู้สึกโมโหกับเหตุการณ์ทำนองนี้ที่เกิดขึ้นกับเรา.
1
ปรัชญาสโตอิก (stoicism) บอกว่า เป็นไปได้.
ปรัชญาสโตอิกเป็นสำนักปรัชญาหนึ่งที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตว่า ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร? ชีวิตที่ประเสริฐควรมุ่งแสวงหาสิ่งใด? คำตอบก็คือ หนทางสู่การมีชีวิตที่ดีในทัศนะของปรัชญาสำนักนี้อยู่ที่ การรักษาจิตใจไม่ให้ไหวหวั่นหรือสั่นคลอนไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา.
นักปรัชญาสโตอิกเชื่อว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลยสักนิดที่จะรู้สึกเป็นกังวลกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของเรา. และความทุกข์ใจส่วนใหญ่ที่เราเผชิญล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีคิดและมุมมองที่เรามีต่อเหตุการณ์นั้นๆ. และสิ่งสำคัญคือการแยกแยะให้ออกว่าอะไรอยู่นอก/อยู่ในความควบคุมของเราบ้างจริงๆ. เมื่อเราทำได้อย่างถูกต้อง, จะไม่มีอะไรรบกวนจิตใจเราได้.
2
เรื่องของการควบคุมความโมโหนั้นเป็นประเด็นหนึ่งที่นักปรัชญาสโตอิกให้ความสนใจ. หนึ่งในนักปรัชญาเหล่านั้นคือเซเนกา.เขาประพันธ์หนังสือชื่อ De Ira ขึ้นในช่วงราวๆ กลางคริสตศตวรรษที่หนึ่ง, ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการต่อกรกับความโมโห. เซเนกานิยามความโมโหว่าเป็นความวิปลาสฟั่นเฟือนรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการให้ค่ากับสิ่งต่างๆ อย่างไม่ตรงกับความเป็นจริง. และมันเป็นอารมณ์ที่บ้าคลั่งและน่ารังเกียจที่สุดในบรรดาอารมณ์ทั้งปวง, ซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด.
1
เซเนกาให้คำแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับความโมโหคือการไม่ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกโมโหเสียตั้งแต่แรกเพราะความโมโหนั้น, ในมุมมองของเซเนกา, เมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว, ยากที่จะหยุดยั้งได้, เปรียบเหมือนกับการที่เรากระโจนตัวเราเองลงจากหน้าผาที่มีแต่จะนำเราจมดิ่งลงสู่ก้นบึ้งเบื้องล่างอย่างไม่อาจต้านทานไว้ได้. แต่สำหรับผู้คนมากมาย, ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรำงับไม่ให้โมโหตั้งแต่แรก. เพราะมันเป็นอารมณ์ที่ระเบิดออกมาอย่างรวดเร็ว, ไม่ทันไรก็อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาท, การต่อสู้ทำร้ายกัน, ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทั้งสองฝ่าย. และที่เลวร้ายที่สุด, อาจจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิต.
แล้วเราจะจัดการความโมโหได้อย่างไรบ้าง?
เนื่องจากสิ่งที่ทำให้เราคนรู้สึกโมโหนั้นแตกต่างกันไป. คนหนึ่งอาจโมโหเพราะสิ่งหนึ่ง; แต่อีกคนหนึ่งอาจจะไม่โมโหเพราะสิ่งเดียวกันนั้น. เซเนกาจึงเสนอว่า ให้เราหมั่นตรวจสอบตัวเองดูว่า มีอะไรบ้างที่มักทำให้เรารู้สึกหัวร้อน. จากนั้น, ให้เราพยายามหลีกเลี่ยงหรืออยู่ห่างจากสิ่งนั้นให้มากที่สุด. และหากเราต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, เราก็ควรตั้งรับให้ดี. วิธีการตั้งรับที่ดีที่สุดที่เซนากาเสนอคือการผัดผ่อน. กล่าวคือ, เมื่อเรารู้สึกโมโหเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, ให้พยายามเลื่อนความโมโหนั้นออกไปก่อน, ให้เราเก็บไปโมโหวันพรุ่งนี้.
3
อีกวิธีการหนึ่งคือการคิดหาท่าทางหรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นสัญญาณเตือนตัวเราเองได้ว่า ตอนนี้เรากำลังโมโหอยู่และพยายามควบคุมมันอยู่. เช่น เวลาเราโมโห, เราอาจลุกขึ้นยืนถ่างขา กระโดดตบหรือยิ้มยิงฟัน. เซเนกาพูดถึงโสคราตีส, นักปรัชญากรีก, ที่แสดงสัญญาณว่าเขากำลังความโมโหอยู่โดยการด้วยน้ำเสียงที่ต่ำลงและสงบปากสงบคำ. เขากล่าวว่า:
3
“สิ่งนี้ย่อมสามารถสำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยความเพียรพยายามอย่างหนักเท่านั้น. เหตุเพราะความโมโหกระสันมั่นหมายที่จะปะทุออกมา, แผดเผาดวงตาให้ร้อนรนและทำให้ใบหน้าของเราบิดเบี้ยว. แต่หากเราอนุญาตให้มันสำแดงตัวออกมาแล้ว, มันจะอยู่เหนือเรา. จงให้มันถูกฝังเก็บไว้ในก้นบึ้งของหัวใจเสียดีกว่า”.
1
เขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องดีที่จะปล่อยให้ความโมโหควบคุมเรา. แต่เราต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายควบคุมมัน. และด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอก, อารมณ์ความรู้สึกของเราภายในก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย.
 
แล้วเราจะรับมือกับมนุษย์ป้าที่มาแซงคิวเราอย่างไร? เราจะไม่รู้สึกโมโหคนที่ขับรถเหยียบน้ำกระเด็นสาดใส่เราอย่างเต็มที่ได้อย่างไร?
เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันต่อในบทความต่อไปครับ. โปรดติดตามครับ.
โฆษณา