5 พ.ค. 2022 เวลา 12:20 • การศึกษา
ไปเห็นคำถามในหมวดคำถามที่ถามว่า เรามีวิธีการไหมที่จะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพ เลยคิดถึงบทความที่เคยเขียนไว้ใน page facebook เมื่อ 3 ปีก่อนครับ (ถึงวันนี้อาจมีได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่ขอลงไว้แบบเต็ม ๆ ของวันนั้นครับ)
11 พ.ย​ 2561
มีปัญหาการศึกษาไทยหลายเรื่องที่ผมได้ยินคนบ่นว่าควรแก้ไข แต่ถ้าให้ผมเลือก และถ้าทำได้ ผมอยากทำแบบนี้ครับ
1. เรื่องการแก้ปัญหาเงินแป๊ะเจี๊ยะ ผมคิดอย่างง่ายๆ ก็คือ เมื่อมีปัญหาใต้ดิน ก็ยกขึ้นมาบนดิน ปล่อยให้มีการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะกันอย่างเสรี ให้ประมูลกันเลย ใครอยากเอาลูกเข้าโรงเรียนดังๆ ประมูลเลยครับ แล้วเงินส่วนหนึ่งก็ให้โรงเรียนไป แต่เงินส่วนใหญ่ เก็บเข้าส่วนกลาง โดยใช้หลักว่า รัฐเป็นผู้ตั้งโรงเรียนและออกเงินจ้างครู ดังนั้นรายได้ส่วนใหญ่ต้องกลับมาเป็นของรัฐ แต่โรงเรียนได้ไปส่วนหนึ่งในฐานะผู้ทำรายได้ให้รัฐ แล้วรัฐก็เอาเงินที่ได้จากโรงเรียนดังๆ ที่มีคนแย่งกันเข้านี้ไปช่วยโรงเรียนที่ขาดในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับให้โรงเรียนเหล่านั้นและทำให้ช่วงห่างระหว่างโรงเรียนดังและโรงเรียนไม่ดังลดลง ซึ่งรวมถึงการจ้างครูเก่งๆ มาสอนในโรงเรียนเหล่านี้ด้วยราคาที่แพงขึ้น
2. ยกเลิกการกีดกันอาชีพครูให้กับผู้ที่จบครุศาสตร์และต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น ผมถามง่ายๆ ว่า คนที่เก่งๆ หลายคนไม่ได้จบครู เช่นจบหมอ วิศวะ เศรษฐศาสตร์ ศิลปิน จบต่างประเทศ เก่งภาษา แต่กระทรวงศึกษาห้ามคนเหล่านี้เป็นครูในโรงเรียนในสังกัด โดยอ้างว่า ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้จำนวนมาก สอนดีกว่าครูอาชีพเสียอีก ไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้จำนวนมากคงไม่รวยจากการสอนพิเศษแน่นอน แต่เค้ากลับไม่มีโอกาสเป็นครูในระบบ
3. เปลี่ยนการสอนของครูจากผู้บรรยาย เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการอยากรู้ แล้ววัดผลสำเร็จของครูด้วยพัฒนาการของนักเรียน ไม่ใช่ด้วยผลงานที่ครูต้องทำส่งกระทรวงซึ่งเป็นการวัดที่ process และเป็น process ที่ไม่ใช่ของจริงด้วยเพราะในความเป็นจริงครูจำนวนมากไปจ้างทำแล้วนำมาส่ง แน่นอนนักเรียนที่เก่งต่างกันย่อมได้คะแนนต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าถ้าหาวิธีวัดที่ผลการเรียนของนักเรียนที่เหมาะสม แต่เป็นการวัดที่ output outcome โดยไม่ต้องให้ครูต้องเสียเงิน เสียเวลามาเขียนผลงานส่ง จะได้ผลดีต่อเด็กมากกว่า
4. เลิกความคิดว่าควรให้เด็กหันไปเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น เพราะตราบใดที่ตลาดยังให้ค่าแรงคนจบปริญญามากกว่าอาชีวะ เด็กและพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากส่งลูกไปเรียนอาชีวะ และที่เงินเดือนคนจบอาชีวะน้อยกว่าคนจบ ป ตรี ก็สะท้อนว่า ในความเป็นจริง คนจบ ป ตรี ในภาพรวมสามารถทำเงินให้สถานประกอบการมากกว่าคนจบอาชีวะ ซึ่งส่วนสำคัญก็เกิดจากหลักสูตรอาชีวะในปัจจุบัน เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน ทั้งๆ ที่หลักสูตรอาชีวะควรเป็นหลักสูตรที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี และเป็นคำตอบว่าทำไมภาคเอกชนจึงบ่นเสมอว่าหาคนจบอาชีวะ (ที่ทำงานได้) ไม่ค่อยได้
5. เลิกระบบห้องคิง และให้ทุกห้องเป็นห้องคิง แต่คิงคนละด้าน คิงด้านคณิต คิงด้านวิทย์ คิงด้านภาษา คิงด้านศิลปะ คิงด้านดนตรี คิงด้านกีฬา คิงด้านมนุษย์สัมพันธ์และการพูด คิงด้านจิตวิทยา คิงด้านเล่นเกมส์ เพราะคนแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน แม้จะมีบางคนเก่งทุกอย่าง แต่เค้าก็ไม่มีเวลาทำทุกอย่าง และแม้คนบางคนไม่เก่งซักอย่างเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่เค้าก็จะมีอะไรในตัวเค้าที่เด่นกว่าอย่างอื่นในตัวเค้าเอง
6. เลิกการกำหนดว่าจะต้องเรียนอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องรู้ให้ครบทุกเรื่องตามที่กระทรวงศึกษาอยากให้รู้ เพราะถ้าเด็กไม่อยากรู้ เรียนไปเค้าก็ไม่จำ ไม่เข้าใจ และไม่ได้อะไร เสียเวลาเค้า เสียความรู้สึกเค้า และที่สำคัญทำให้เค้าขาดความอยากรู้ ถ้าหากมีความรู้อะไรที่จะต้องบังคับ ก็ควรจะเป็นเฉพาะที่จำเป็นสำหรับการต่อยอดด้วยตัวเอง เนื้อหาอะไรที่ไม่จำเป็นสำหรับการต่อยอดด้วยตัวเอง ก็ให้เป็นวิชาเลือกแทนวิชาบังคับ
7. โลกกำลังก้าวสู่การเรียนรู้ไร้พรมแดน การเรียนรู้ที่ไร้กำแพง เพราะมีมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกจำนวนมากเปิดสอนหลักสูตรดีๆ ที่ทุกคนในโลกสามารถเข้าไปเรียนออนไลน์ได้ ทั้งแบบฟรีและไม่ฟรี สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรเตรียมให้เด็กๆ จึงง่ายกว่าเดิมมากๆ ไม่ต้องผลิตสื่อการสอนและบังคับครูอาจารย์ให้ผลิตสื่อการสอน เพราะมหาวิทยาลัยดีๆ ของโลกผลิตไว้ให้แล้ว youtubers เก่งๆ จำนวนมากในโลกผลิตไว้ให้แล้ว กระทรวงศึกษาเพียงแค่แนะนำว่า สื่อของใครดี ดีในมุมไหน ต่างจากความดีของสื่อของคนอื่นอย่างไร เพื่อที่ครูจะนำไปแนะนำนักเรียนให้เข้าไปดูในสิ่งที่เค้ากำลังเรียนอยู่หรือสิ่งที่เค้าสนใจ เรื่องที่กระทรวงศึกษาต้องเตรียมให้นักเรียนจึงเหลือเพียง ให้นักเรียนสามารถสื่อสารและเข้าใจภาษาอังกฤษกับชาวโลกได้ภายใน ป.3 ก็พอ
โฆษณา