6 พ.ค. 2022 เวลา 06:34 • ประวัติศาสตร์
วิธีรักษาอำนาจฉบับมาเคียเวลลี ผู้ถูกเรียกว่าเจ้าของศาสตร์ทรราชและผู้นำที่เขาหนุน
ในบรรดานักทฤษฎีการเมืองที่นักรัฐศาสตร์ในยุคใหม่ต้องศึกษาแนวคิด รายชื่อที่ยาวเหยียดต้องปรากฏชื่อ นิโคโล มาเคียเวลลี (Nicolo Machiavelli) สามัญชนแห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งภายหลังได้มีโอกาสขึ้นเป็นนักการทูต เขาคือผู้เขียนหนังสือ “เจ้าชายผู้ปกครอง” หรือ The Prince เล่มน้อยที่เคยถูกศาสนจักรขึ้นบัญชีดำ แต่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
ครั้งหนึ่งมาเคียเวลลี ที่รับใช้ฟลอเรนซ์ ถูกจับเข้าคุกและถูกทรมานจากข้อหาวางแผนโค่นล้มตระกูลเมดิชีหลังจากครอบครัวเมดิชีกลับมาครองอำนาจอีกหน แล้วเทพีแห่งโชคชะตาเล่นกลประการใดทำให้นักทฤษฎีการเมืองผู้เป็นสัญลักษณ์ของเล่ห์เหลี่ยมรอดชีวิตมาได้?
มาเคียเวลลี เป็นเจ้าของแนวคิดที่ชี้ว่า “การเป็นผู้นำในลักษณะน่าหวั่นเกรงดีกว่าผู้นำซึ่งเป็นที่คนรักใคร่” แม้แต่การตัดสินใจกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยความรุนแรงอย่างการลงมือสังหารนั้น มาเคียเวลลี เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นหากจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีเหตุผลเพียงพอ ด้วยแนวคิดเหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ส่วนหนึ่งของนามที่เป็นคำว่า “มาเคียเวลเลียน” (Machiavellian) จะกลายเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายในยุคหลังหากบอกว่าใครสักคนเป็น “มาเคียเวลเลียน”อาจหมายความว่าคุณมีแนวโน้มกำลังถูกเหยียดหยามว่าเป็นพวกเปี่ยมไปด้วยเล่ห์กล ชอบวางแผนและใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือ
บุคคลที่ถูกนำชื่อมาเป็นวลีอันมีความหมายขนาดนี้ ไม่ได้เป็นผู้มีภูมิหลังเป็นชนชั้นสูงแบบเต็มตัว (หากพิจารณาตามแนวคิดเรื่องชนชั้นสมัยใหม่) นิโคโล เกิดเมื่อค.ศ. 1469 เขาสืบสายมาจากขุนนางในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ตระกูลของเขามีบทบาทในทางการเมืองการศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 แต่นักประวัติศาสตร์ก็มองว่า หากจะจัดสายตระกูลให้อยู่ในกลุ่มพ่อค้าที่มั่งคั่งเป็นชนชั้นสูงก็พอกล่าวได้เช่นเดียวกันเนื่องจากตระกูลกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองแต่ไม่เหมือน “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้รับตำแหน่งในรัฐบาล แบร์นาโด พ่อของมาเคียเวลลี เป็นปัญญาชน เป็นนักวิชาการและเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมีทรัพย์สมบัติและครอบครองบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มตึกที่ญาติในตระกูลจับจองกัน
แม้จะมีทรัพย์สมบัติที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์ในหมู่ชาวบ้านทั่วไปในเมือง แต่ความเป็นอยู่ของมาเคียเวลลี
ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ก็ไม่ได้ถึงกับสุขสบาย ไมล์ส เจ อังเกอร์ผู้เขียนหนังสือ “มาเคียเวลลี เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่” นิยามวิถีชีวิตของแบร์นาโดและนิโคโลว่า อยู่ในพื้นที่ชายขอบของความเคารพนบนอบและมักถูกเยาะเย้ยว่าตระกูลของเขาอยู่ในช่วงขาลงช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดคือตระกูลเมดิชี อันเป็นตระกูลที่มั่งคั่ง บ้านของตระกูลนี้มักมีลักษณะหรูหราอันเป็นลักษณะที่จงใจแสดงสถานะความร่ำรวย ขณะที่มาเคียเวลลี บรรยายสถานะของตระกูลของเขาว่าง่อนแง่นบริบทนี้เองอาจมีส่วนสำคัญทำให้เขาแหวกกรอบดั้งเดิม และนำเสนอทางออกใหม่
เมืองฟลอเรนซ์ในสมัยนั้น เป็นสาธารณรัฐอิสระขนาดเล็ก ระบบปกครองของฟลอเรนซ์ แตกต่างจากเมืองอื่น สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ มีประชากรไม่เกิน 50,000 คน มีการเลือกตั้งแต่สิทธิเลือกตั้งถูกจำกัดเพียงพ่อค้าที่มีฐานะและช่างฝีมือทั่วไป พลเมืองทั่วไปถูกจำกัดบทบาททางการเมืองอย่างไรก็ตามสมัยนั้นถือว่าฟลอเรนซ์ เป็นรัฐที่มีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าอันดับต้นในยุโรปแล้ว ตระกูลเมดิชี พยายามรักษาสถานะ ความงดงามและความรุ่งเรืองของเมืองด้วยชิ้นงานศิลปะ งานช่าง การก่อสร้างตึกอาคารที่ใหญ่โต อันเป็นการแสดงรสนิยมและความมั่งคั่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ตระกูลเมดิชีใช้เป็นเครื่องมือจรรโลงความรู้สึกของคนในพื้นที่ไม่ให้ขัดข้องใจเพราะสภาพไม่มีสิทธิออกเสียงและวิจารณ์รัฐบาล
ในวัยหนุ่ม มาเคียเวลลี ไม่ได้ยี่หระกับสภาพการมีทรัพย์จำกัด เขาใช้เงินไปกับการพนันและโสเภณีเวลาว่างที่มีก็พูดคุยกับเพื่อนฝูง งานทางการเมืองชิ้นแรกที่เริ่มต้นคือการรายงานการเทศน์-ปราศรัยของจิโรลาโม ซาโวนาโรลา พระนักเทศนาที่ขึ้นชื่อเรื่องบุญบารมีว่ากันว่าคำเทศนาของซาโวนาโรลาสร้างทั้งแรงบันดาลใจให้ชาวเมืองและยังสร้างความปั่นป่วนให้ฟลอเรนซ์หลายปี มาเคียเวลลีได้รับคำขอจากริชชาร์โด เบคคี ทูตฟลอเรนซ์ประจำสันตะสำนักให้รายงานคำเทศนานี้ช่วงฤดูร้อน ปี 1494 พระเจ้าชาร์ลสที่ 8 แห่งฝรั่งเศสเข้ามารุกรานอิตาลี ผู้นำสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ คือ ปิแยโร เด เมดิชี ยอมมอบป้อมปราการสำคัญและชุมชนแห่งหนึ่งในฟลอเรนซ์ให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับสัญญาว่าพระเจ้าชาร์ลส จะสนับสนุนตระกูลเมดิชีให้ปกครองฟลอเรนซ์ต่อ ประชาชนฟลอเรนซ์ ไม่พอใจอย่างมาก ตระกูลเมดิชีต้องหลบหนีออกจากเมืองโดยหอบสมบัติเท่าที่ขนได้ไปด้วย
หลังจากนั้น มาเคียเวลลี เพิ่งได้รับตำแหน่งทำงานในฐานะข้าราชการพลเรือนในปี 1498 มาเคียเวลลี รับตำแหน่งรองมุขมนตรีแห่งฟลอเรนซ์ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญในสายงานข้าราชการพลเรือนของรัฐบาล เป็นช่วงที่แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของเขาก่อร่างขึ้นอย่างไรก็ตามมาเคียเวลลีวิจารณ์สถานการณ์การเมืองหลังยุคปิแยโรว่ารัฐบาลใหม่มีข้อด้อยมากกว่าและอ่อนแอเกินจะปกครอง ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 มาเคียเวลลี ปฏิบัติงานในทางการทูตโดยระหว่างปี 1503-1506 มาเคียเวลลี มีบทบาทในการบริหารงานทางการทหารของฟลอเรนซ์เขาไม่ไว้ใจกับระบบทหารรับจ้างและหันมาใช้พลเรือนในกองทัพ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จทำให้กองทัพพลเรือนเอาชนะเมืองศัตรูคู่อาฆาตอย่างปิซา ในปี 1509 ได้
อย่างไรก็ตาม
ในปี 1512 ตระกูลเมดิชีที่มีโป๊ปจูเลียสที่ 2 หนุนหลังใช้กำลังทหารของสเปนเอาชนะฟลอเรนซ์ ได้ หลังการกลับมาของมีอำนาจของตระกูลเมดิชี มาเคียเวลลีเป็นอีกหนึ่งรายที่ถูกกลุ่มเมดิชีกล่าวหาว่าสมคบคิดกันล้มพวกเมดิชีและยึดอำนาจรัฐบาล อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่มีน้ำหนักว่ามาเคียเวลลีรู้เห็นกับความเคลื่อนไหว และเมื่อพิจารณาแนวคิดทางการเมืองของมาเคียเวลลี แล้วยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เขาไม่ใช่นักอุดมคติที่เอาตัวเข้าเสี่ยงในแผนการที่รู้ดีว่าจะล้มเหลว
เพื่อนร่วมงานของเขาถูกทรมานจนรับสารภาพ แต่มาเคียเวลลีถูกนำตัวไปขังที่คุก “เล สติงเค” ห้องขังของเขาอยู่ในสภาพน่าหดหู่และถูกทรมานโดยให้ยืนบนแท่น มัดมือทั้งสองข้างไพล่หลัง มาเคียเวลลีถูกทรมานด้วยวิธีที่เรียกว่า “สตรัปปาโด” โดยร้อยเชือกที่มัดมือกับเชือกที่ผูกผนัง เมื่อมัดแล้วจะกระชากแท่นออกจากใต้เท้า น้ำหนักตัวของเขาจะทิ้งลงมา ขณะเดียวกันแขนทั้งสองข้างที่ถูกมัดจะกระตุกขึ้นไปด้านบน มาเคียเวลลี เส้นเอ็นขาด ข้อต่อหลุดเคลื่อน
เขาถูกทรมาน 6 ครั้งโดยที่ไม่ได้สารภาพอะไรเพราะเขาไม่มีอะไรให้สารภาพ มาเคียเวลลีเชื่อว่า
แค่ถูกต้องสงสัยว่าทรยศก็หนักหนาเพียงพอให้โดนโทษประหารชีวิตได้แล้ว มาเคียเวลลีเล่าสภาพอันน่าสะพรึงในกลอนสั้นที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวแถมยังเล่าอย่างติดตลกว่า เสียงที่น่ารำคาญกว่าการกรีดร้องของเพื่อนร่วมห้องขังคือเสียงท่องมนต์คาถาของพวกเคร่งศาสนา ความทุกข์ทรมานที่ได้รับไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยบทกวีหรือการเคลื่อนไหวหรือคำร้องของเพื่อนฝูง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1513 พระสันตะปาปาจูเลียส สิ้นพระชนม์จากการประชวรหนัก คาร์ดินัลในตระกูลเมดิชีวัย 38 ปีได้รับเลือกตั้งและกลายเป็นพระสันตะปาปาเลโอที่ 10 เป็นครั้งแรกที่ชาวฟลอเรนซ์ขึ้นครองบัลลังก์ดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งวาติกันซึ่งคนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เมื่อคนจากตระกูลเมดิชีที่ทรงอำนาจการดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งวาติกันย่อมนำมาซึ่งยุคที่รุ่งเรือง สืบเนื่องจากชะตากรรมของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ในสมัยนั้นมักขึ้นกับนโยบายและลักษณะท่าทีของพระสันตะปาปาผู้ครองบัลลังก์เซนต์ปีเตอร์
ตระกูลเมดีชียินดีปรีดาและปล่อยตัวนักโทษจำนวนมาก กลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนการล้มรัฐบาลซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตรองมุขมนตรีแห่งฟลอเรนซ์ มาเคียเวลลีถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม และกลับไปดื่มด่ำกับไร่ปศุสัตว์ของตัวเองในซานตันเดรอา เขาถูกเนรเทศจากเมืองและตัดขาดจากการเมือง มาเคียเวลลีใช้เวลาในพื้นที่ชนบท ช่วงเย็นก็จินตนาการถึงบทสนทนากับนักคิดที่ยิ่งใหญ่ในอดีตและนักคิดเหล่านี้จะบอกว่าอะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจผู้นำ ไนเจล วอร์เบอร์ตัน
นักเขียนท่านหนึ่งสันนิษฐานว่า มาเคียเวลลีเขียน The Prince เพื่อให้ผู้มีอำนาจประทับใจเป็นความพยายามให้กลับไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเมืองเพื่อกลับไปฟลอเรนซ์ อย่างไรก็ตามแผนการไม่เป็นไปตามนั้นเขาลงเอยที่การเป็นนักเขียนและมีผลงานหลายเล่ม
หนังสือ The Prince ที่ตีพิมพ์เมื่อ 1532 เป็นที่โจษจันมาจนถึงปัจจุบัน เขามองว่าเจ้าชายผู้ปรีชาจะต้องเรียนรู้ที่จะ “ไม่เป็นคนดี” โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาอำนาจไว้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม หากสามารถรักษาอำนาจไว้ ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่มีไม่นากนักที่จะยอมรับว่านำมาปฏิบัติ
โฆษณา