7 พ.ค. 2022 เวลา 02:08 • บ้าน & สวน
บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังนี้เกิดจากการนำไม้เก่าของบ้านเดิมที่เริ่มทรุดโทรมมาสร้างใหม่บนที่ดั้งเดิมของบ้านเก่า โดยผนวกเข้ากับโครงสร้างปูน กลายเป็นบ้านร่วมสมัยไม่ทิ้งบุคลิกบ้านไทยใต้ถุนสูงอย่างที่เคยเป็นมาตามวิถีชาวบ้านริมคลอง
คุณสุเทพ เอี่ยมอ่อน เจ้าของบ้านริมคลองในย่านบางปะกงหลังนี้ ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ทดแทนบ้านไม้หลังเก่าที่ทรุดโทรมบนที่ดินด้านที่ติดกับถนน จึงได้ติดต่อ คุณกึ๋น-กศินร์ ศรศรี แห่ง Volume Matrix Studio โดยเห็นผลงานผ่านรายการบ้านและสวน เมื่อเจ้าของบ้านบอกความต้องการว่าอยากสร้างบ้านปูนเปลือยตามความชอบ แต่พอนัดดูที่ทางกันแล้ว คุณกึ๋นนำเสนอแนวคิดว่าสร้างบ้านใหม่ตรงพื้นที่เดิมน่าจะดีกว่า และนำไม้จากบ้านเก่ามาสร้างเป็นบ้านหลังใหม่ด้วย คุณกึ๋นขยายความถึงคอนเซ็ปต์นี้ว่า
“เป็นการสร้างใหม่โดยที่ยังมีจิตวิญญาณเดิม คือเราคงบุคลิกของเดิมไว้บางส่วน เป็นอารมณ์ของบ้านไทยแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรือนไท้เรือนไทยอย่างที่เรานึกกัน ไม่ใช่เป็นเรือนหมู่แบบอยุธยา มันคือบ้านที่ชาวบ้านคนไทยอยู่กัน ซึ่งไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าของบ้านแบบนี้”
บ้านไม้เก่าหลังเดิมมีอายุกว่า 40 ปี สร้างโดยช่างท้องถิ่น จึงไม่ได้มีสัดส่วนตามขนบมาตรฐาน แถมใต้ถุนเดิมยังก่อผนังปูนเพิ่มเข้าไปอีก ทำให้โครงสร้างมีปัญหา แต่สิ่งที่มีอยู่คือวิถีของการอยู่อาศัยจริง สิ่งเหล่านี้ได้รับการถอดรหัสใหม่ภายใต้บ้านที่มีโครงสร้างเป็นปูน แต่ยังคงเปิดให้มีบางส่วนที่เป็นเสมือนใต้ถุน มีชานเชื่อมต่อ และระเบียงรับลม โดยนำไม้เก่าที่รื้อจากบ้านเดิมมาเป็นองค์ประกอบหลัก
บ้านหลังนี้มีโครงสร้างเป็นปูนขัดมันที่เรียบง่ายและมีไม้เป็นส่วนตกแต่งในหลายจุด ซึ่งพื้น ระแนง และเสาที่ไม่ได้รับแรงมากนักล้วนใช้ไม้เก่าจากบ้านเดิมทั้งสิ้น และเมื่อเราก้าวเข้ามาภายในตัวบ้านจะเห็นการวางผังแบบโอเพ่นแปลนซึ่งนิยมใช้กันในบ้านโมเดิร์น ส่วนที่ลึกเข้าไปเป็นคอร์ตยาร์ดที่มีระเบียงเชื่อมต่อกัน แบ่งด้านหนึ่งเป็นห้องนอน ขณะที่อีกด้านเป็นใต้ถุนโล่ง ใช้สำหรับนั่งเล่น นั่งจิบกาแฟ หันหน้าออกสู่คลองบางสมัครและวิวสวน คุณสุเทพเล่าว่าได้บรรยากาศแบบเก่าๆ สมัยรุ่นคุณพ่อ ก่อนที่จะบ้านเก่าจะมีการก่อกำแพงปูนปิดชั้นใต้ถุน
สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกได้ตีความบ้านไทยไว้ในภาษาของบ้านหลังนี้คือช่องแสง มีการใช้เสาและระแนงเป็นระยะๆ พองาม เช่น การนำเสาบ้านเดิมมาสร้างเป็นเสมือนระแนงขนาดใหญ่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อสร้างร่มเงาบังแดด บางส่วนของบ้านในยามเย็นจะมีทั้งความสว่างและความมืด เหมือนสมัยก่อนที่บ้านไทยจะดูอบอุ่นในยามพลบค่ำด้วยแสงสลัวๆ ของตะเกียงที่สะท้อนผนังเป็นจุดๆ ไม่ได้โล่งไปเสียทั้งหมด
การเปิดช่องลมของบ้านเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บ้านเย็น และสามารถออกมานั่งเล่นได้ ปีกด้านใต้ถุนของบ้านจึงวางไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แม้จะเป็นทิศที่มีแดดร้อน แต่โชคดีที่พื้นที่เดิมมีต้นมะขามเทศขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านอยู่ ทำให้เกิดร่มเงาช่วยบังแดด นอกจากนี้ภายในบ้านยังมีการวางผังให้ผนังด้านนี้เป็นทางเดินก่อนเข้าห้องนอน จึงเป็นเสมือนตัวช่วยกั้นความร้อนไม่ให้กระทบผนังห้องนอนโดยตรง นอกจากนี้หากเปิดประตูหน้าบ้านกับคอร์ตสวนกลางบ้านแล้วก็จะกลายเป็นทิศทางให้ลมผ่านได้ดี ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศแม้ในวันที่ร้อนอบอ้าว
บ้านหลังนี้ยังเต็มไปด้วยกรงนกหลายกรง ซึ่งทำให้คุณกึ๋นนำแนวคิดบางส่วนมาออกแบบ เช่น การใช้ของเก่าโอบล้อมของใหม่เหมือนการตีแผ่ความเป็นชาวบ้านออกมาไว้ด้านนอกโดยไม่ต้องอายใคร และยังมีความเป็นแฮนด์เมดในวิถีของมัน โดยสะท้อนออกมาในงานไม้ที่ไม่ต้องเนี้ยบมาก หรืองานอิฐที่แต่ละก้อนไม่เหมือนกัน
“เรานำเสนอชีวิตออกมา เพราะทุกชีวิตมีความน่าสนใจและมีความสวยงามอยู่ในการใช้ชีวิตของตัวเองทั้งหมด” คุณกึ๋นกล่าวทิ้งท้าย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3Lpft8s
เจ้าของ : คุณสุเทพ เอี่ยมอ่อน
สถาปนิก : Volume Matrix Studio โดยคุณกศินร์ ศรศรี
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา