7 พ.ค. 2022 เวลา 05:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มนุษย์จะสร้าง "ไทม์แมชชีน" ไว้เดินทางข้ามเวลาได้จริงหรือไม่
การเดินทางข้ามเวลาเพื่อกลับไปสู่อดีตหรือก้าวกระโดดไปยังโลกอนาคตนั้น แม้จะยังไม่สามารถทำได้ด้วยวิทยาการในปัจจุบัน แต่ก็น่าสงสัยว่าการท่องห้วงเวลาด้วย "ไทม์แมชชีน" (Time machine) มีความเป็นไปได้อยู่หรือไม่ และบรรดานักวิทยาศาสตร์มีหนทางที่จะพัฒนาเครื่องมือในจินตนาการชิ้นนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาอยู่บ้างหรือเปล่า
เจาะเวลาผ่านรูหนอน
หากเรามองว่าเวลาคือสิ่งที่เดินทางเป็นเส้นตรง โดยเข็มนาฬิกาเดินจากอดีตมายังปัจจุบันและมุ่งต่อไปสู่อนาคตอย่างต่อเนื่อง การเดินทางข้ามเวลาในรูปแบบนี้จะอิงอาศัยสมการทางฟิสิกส์ของอัจฉริยะตลอดกาลอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งบ่งชี้ว่าปริภูมิ (Space) 3 มิติในจักรวาล ทั้งความกว้าง ความยาว และความสูง มีความเชื่อมโยงกับมิติที่ 4 คือเวลา (Time) อย่างแน่นแฟ้น
ไอน์สไตน์ยังเล็งเห็นว่าเราสามารถ "พับ" ให้ปริภูมิ-เวลา 2 ตำแหน่งที่อยู่แยกห่างกันไกลมาบรรจบกัน เพื่อย่นระยะทางและเดินทางข้ามเวลาได้ โดยทางลัดที่เกิดจากการพับมิติทั้งสี่นี้เรียกว่า "รูหนอน" (Wormhole) ซึ่งเป็นช่องทางคล้ายอุโมงค์เชื่อมต่อเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน
ร็อด เทย์เลอร์ นำแสดงในภาพยนตร์ยุคทศวรรษ 1960 ที่สร้างจากนิยายของเอช.จี. เวลส์ เรื่อง The Time Machine
อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต มีอยู่พร้อมกันหรือไม่ ?
จักรวาลในแบบของไอน์สไตน์นั้น ถือว่าทุกสิ่งอยู่ในโครงสร้างของปริภูมิ-เวลาเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตามแนวคิดนี้เวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนแล้วแต่เป็นจริงเท่าเทียมกัน ซึ่งเท่ากับว่าเหตุการณ์ในทั้งสามช่วงเวลานั้นมีอยู่แล้วมาโดยตลอดในปริภูมิ-เวลา (Space-Time) ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของจักรวาล
"เหตุการณ์ที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ในอดีต เหตุการณ์ที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต่างก็ดำรงอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งของปริภูมิ-เวลาเดียวกันทั้งสิ้น" ดร. คริสตี มิลเลอร์ จากศูนย์เพื่อการศึกษาเรื่องเวลาของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลียกล่าว
ปรากฏการณ์นี้อาจเทียบได้กับการที่เราอยู่ที่ประเทศไทย แต่ก็มีคนอื่นอยู่ที่กรุงลอนดอน หรืออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งสถานที่ทั้งสามแห่งนั้นต่างมีอยู่จริงเหมือนกันหมด เพียงแต่เรารับรู้ได้ถึงสถานที่ที่เราอยู่เท่านั้น
หากหลักการนี้ถูกต้อง ก็นับว่าเป็นข่าวดีต่อโอกาสในการพัฒนาไทม์แมชชีนให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ แต่ก็เกิดข้อจำกัดด้วยว่า ในเมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถูกกำหนดไว้ตายตัวอยู่แล้ว เราจึงไม่สามารถจะเดินทางข้ามเวลาไปเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในอดีตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างออกไปในอนาคตได้ เช่นเราไม่สามารถข้ามเวลาไปสังหารฮิตเลอร์ เพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้
แม้ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์บางรายยังมองว่าการเดินทางข้ามเวลาไม่อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่หลายรายก็ฝากความหวังไว้กับความก้าวหน้าของวิทยาการควอนตัม ซึ่งกฎฟิสิกส์ที่มีมาแต่เดิมมักถูกยกเว้นหรือเปลี่ยนแปลงไปภายใต้สภาวะควอนตัมนี้ ดังเช่นที่เคยมีการค้นพบว่าอนุภาคหนึ่งสามารถอยู่ในหลายสถานที่ได้พร้อมกันมาแล้ว
โฆษณา