8 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • สิ่งแวดล้อม
“โลมาอิรวดี”แห่งทะเลสาบสงขลา คนไม่ได้กิน...แล้วหายไปได้อย่างไร?
เมื่อปลายเม.ย.2565 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนข้อมูลอันสะเทือนใจว่า “โลมาอิรวดี”ที่อยู่ในแหล่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมจ.พัทลุงบ้านเรา นครศรีธรรมราช และสงขลา เหลืออยู่เพียง 14 ตัวสุดท้าย
เกิดคำถามขึ้นในใจว่า คนไม่ได้กิน แล้วโลมาหายไปไหน และหายไปได้อย่างไรและเราจะช่วยรักษา “โลมายิ้มหวาน” ที่เปรียบเสมือน “รอยยิ้มแห่งทะเลสาบสงขลา”ไว้ได้อย่างไร ??? วันนี้ blockdit “นอกวงข่าว” ชวนมาหาคำตอบ
รู้จัก “โลมาอิรวดี”
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า โลมาอิรวดีได้รับการค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศเมียนมาร์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “โลมาอิรวดี” หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง  อยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) มีรูปร่างคล้ายโลมาครีบทู่ออสเตรเลีย
มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีขนาดประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนัก 3.21 กิโลกรัม
มีพฤติกรรมพบได้บริเวณที่มีน้ำขุ่น สามารถอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานถึง 70–150 วินาที แล้วจะโผล่ขึ้นมาหายใจสลับกัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9 เดือน ลูกที่เกิดมามีขนาดร้อยละ 40 ของตัวโตเต็มวัย อาหารได้แก่ กุ้ง ปลา และหอยที่อยู่บนผิวน้ำและใต้โคลนตม สถานภาพจัดอยู่ในบัญชีประเภทที่ 1 ของไซเตส (Appendix I) คือ ห้ามซื้อขาย ยกเว้นมีไว้ในการศึกษาและขยายพันธุ์
แหล่งอาศัย
พบประชากรที่กระจายอย่างกว้างขวางในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล และในบริเวณปากน้ำและแม่น้ำบางส่วนของอ่าวเบงกอลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลมาอิรวดี สามารถปรับตัวอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้  พบที่เป็นแหล่งอาศัยในน้ำจืด  ได้แก่ แม่น้ำอิรวดี ประเทศเมียนมา แม่น้ำโขงในส่วนของประเทศลาวและกัมพูชา  แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย ทะเลสาบซิลิก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลา ประเทศไทย
บางกลุ่มอาจเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ด้วย เช่น แม่น้ำโขง ทะเลสาบเขมร ใน พ.ศ. 2459 มีรายงานว่าพบอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และเคยมีผู้จับได้ที่คลองรังสิต ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันถึงแม้ว่าสามารถพบโลมาในเขตแม่น้ำและทะเลในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริเวณที่มีประชากรมากที่สุดอยู่ในทะเลสาบจิลิกา รัฐโอฑิศา ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในภาคใต้ของประเทศไทย  โดยสถานที่ที่พบได้น้อยที่สุดและถือเป็นแหล่งวิกฤตที่สุดคือทะเลสาบสงขลาในส่วนที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อย หรือที่เรียกว่า ทะเลน้อย
สูญพันธุ์แล้วจากบางประเทศ
เรื่องราวของโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำของประเทศอื่น มีปรากฎผ่านข่าวเป็นระยะๆ
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศลาวเสียชีวิต หลังจากติดอวนจับปลาของชาวประมงในพื้นที่ เท่ากับเป็นการสูญพันธุ์จากประเทศลาวอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม มีการให้ความเห็นแย้งว่า การสูญพันธุ์จากประเทศลาวนั้น อาจไม่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้เสียทีเดียว เนื่องจากแม่น้ำโขงมีความยาว โลมาจึงอาจจะว่ายข้ามเขตเข้าไปในประเทศต่างๆที่แม่น้ำโขงไหลผ่านอีกได้ ฉะนั้น ก็อาจจะกลับมาพบ โลมาอิรวดีได้อีกเช่นกัน
ในกัมพูชา  มีรายงานเมื่อช่วงเดือกุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานว่าโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาเสียชีวิต โดยเกิดจาการติดอวนหาปลา
ต่อมาช่วงเดือนเมษายน 2565 มีรายงานว่าขณะทีมนักวิจัยทรัพยากรน้ำจืดในแม่น้ำโขงจากกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF และ กรมประมงกัมพูชา ออกสำรวจในจ.กระแจะ (Kratie) พบลูกโลมาอิรวดีตัวใหม่กำลังว่ายน้ำพร้อมกับโลมาอิรวดีโตเต็มวัยอีก 9 ตัว โดยในวันที่เจอลูกโลมามีอายุเพียงแค่ 5 วัน
ทั้งนี้  รายงานของWWF ระบุเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบอัตราการตายของโลมาอิรวดีราว 16 – 20 % ซึ่งถือเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลมาอิรวดีจะมีโอกาสรอดได้ในระยะยาวก็ต่อเมื่ออัตราการตายของโลมาอยู่ที่ 1 – 2 %
ไทยจัด “โลมาอิรวดี”เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ในประเทศไทย "โลมาอิรวดี" จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และในที่ประชุม Cites ปี 2546 ไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 มีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติ
ภาพจากเฟซบุ๊ก TOP VARAWUT
ในทะเลสาบสงขลาจาก 100 เหลืออยู่เพียง 14 ตัว
ข้อมูลจากที่ดร.ธรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ส่วนหนึ่งระบุว่า โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง คือ อินเดีย 140+ ตัว  อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมาร์ 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และประเทศไทย 14 ตัว
ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว ปล่อยปลาบึกปีในทะเลสาบสงขลาปี 2545-2551 พอปลาโต คนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550-2555 โลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว
หลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเพราะโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตาย ถ้าตายปีละ 2 ตัว ก็อาจ 10-15 ปี ถ้าตายปีละ 3 ตัวก็อยู่ที่ 8-10 ปี ถ้าตายปีละ 4-5 ตัวไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว ทว่า ถ้าตายปีละตัว จำนวนอาจเพิ่มขึ้น อย่างช้าๆ แต่ก็เพิ่ม เพราะฉะนั้น เรายังไม่
สาเหตุของการหายไป
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจจำนวนประชากรของโลมาอิรวดีในช่วงปี 2560 – 2564 พบว่า ปี 2558 พบ 27 ตัว ปี 2564 พบ 16 ตัว และปี2565 พบป  14 ตัว
สาเหตุหลักของการหายไปของโลมาอิรวดี เนื่องมาจากการติดเครื่องมือประมงประเภทอวน เช่นอวนปลาบึก อวนปลากะพง ที่สำคัญมีการผสมสายพันธุ์เลือดชิด ทำให้ลูกโลมามีความอ่อนแอนอกจานี้ ยังเกิดการตื้นเขินของทะเลสาบจากตะกอนชายฝั่ง การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายในแหล่งน้ำจืด การก่อสร้างในลำน้ำ การเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร และการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ
       งานวิจัย เรื่อง สถานการณ์การเกยตื้นของโลมาอิรวดีตั้งแต่ปี 2533-2556 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา พบว่า
   โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เกยตื้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533-2556 มีทั้งหมด 111 ตัว เฉลี่ยปีละ 5 .55+3.69 ตัว
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์เกยตื้นของโลมาอิรวดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างจังหวัดสงขลา
และในปีพ ศ. 2556 เหลือเกยตื้นเพียง 4 ตัว ซึ่งลดลงอย่างมาก ผลจากการปรับเปลี่ยนเครื่องมือการทำประมง (คืนอวนปลาบึก) การประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์โลมาอิรวดี และการตั้งชมรมอนุรักษ์โลมาอิรวดี
ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการเกยตื้นจะเพิ่มขึ้น ควรเพิ่มการเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์เกยตื้น หรือแม้แต่การสร้างที่อยู่ของปลา เพื่อให้โลมาไม่ต้องเดินทางไปหากินไกล ซึ่งอาจเป็นการป้องกันการเสียชีวิตของโลมาวัยแรกเกิด ซึ่งอาจเกิดจากการพลัดหลงจากตัวแม่ในช่วงฤดูลมมรสุมได้
การเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ควรมีการศึกษาต่อไป เช่น การกินอาหาร หรือปลาที่มีสารพิษสะสมอยู่ และสารพิษดังกล่าวถ่ายทอดสู่ลูกโลมาอิรวดีขณะอยู่ในครรภ์ และการปนเปื้อนในน้ำนม หรือเกิดจากประชากรโลมามีจำนวนน้อย จึงมีการผสมเลือดชิด เป็นสาเหตุให้ลูกโลมาไม่แข็งแรง และเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การเกยตื้นของโลมาอิรวดีศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างจังหวัดสงขลา
จะรักษาไว้ได้อย่างไร?
     นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นอกจากการรักษาสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารแล้ว การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลมาตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจากปัญหาสุขภาพ ขณะนี้ได้เร่งรัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้น คือการเข้มงวดกวดขันพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่
เหนืออื่นใด ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบสงขลาควรมีส่วนร่วมในการดูแลโลมาอิรวดี
ทั้งนี้ จากการศึกษาเรื่อง “การรับรู้ความเสี่ยงของประชาชนรอบทะเลสาบสงขลาต่อการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี” ของคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  เมื่อปี 2557
พบว่า ระดับการรับรู้ของประชาชนต่อภาวะใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี อยู่ที่ระดับมากที่สุด 41.9 %
      “อย่าปล่อยให้ รอยยิ้ม หายไปจากทะเลสาบสงขลา” #SAVEโลมาอิรวดี
ที่มา :
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โฆษณา