9 พ.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การใช้แนวรับ-แนวต้าน ในการเทรดจริง
หนึ่งใน Topic เบื้องต้นที่มือใหม่นักเทรดทุกคนต้องเจอก็ถือ การตีเส้นเพื่อหาแนวรับ-แนวต้าน ไม่ว่าจะทั้งในหนังสือ คอร์ส หรือแม้แต่ในสนามเทรดจริง ทุก ๆ คนก็จะเอ่ยถึงแนวรับ-แนวต้านเสมอ
เพราะแนวรับ-แนวต้าน มันเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกของการเทรด ซึ่งถ้าเราไม่รู้แนวรับ-แนวต้าน การเทรดของเราจะเละเทะมั่วซั่วไปหมด เหมือนเด็กน้อยที่อยากจะขึ้นไปให้ไว เลยก้าวข้ามไปบันไดขั้นที่2-3เลย ไม่ก้าวไปบันไดแรก แน่นอนว่าก็ต้องทำให้หกล้มไม่เป็นท่าแน่นอน
การเทรดก็เช่นกันครับ แค่ก้าวไปบันไดแรกได้ บันไดต่อ ๆ ไป ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรแล้ว
ดังนั้นเรามาเรียนรู้เรื่องบันไดขั้นแรกนี้กันครับ และเราจะไม่เรียนรู้ในเชิงทฤษฎี เราจะมาเน้นไปทางปฏิบัติที่ใช้ได้ในสนามจริงกันครับ
▶️ อันดับแรกมารู้จักกับแนวรับ-แนวต้าน แบบเข้าใจง่ายที่สุดกัน
1. แนวรับ (Support) >จุดที่คาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามามาก
จากตัวอย่างก็จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่ราคาลงมาถึงจุดนี้ก็จะมีคนเข้ามา”รับซื้อ” ทุกครั้งเพื่อไม่ให้ราคาลงไปมากกว่านี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า >>แนวรับ
2. แนวต้าน (Resistance) > จุดที่คาดว่าจะมีแรงขายเข้ามามาก
จากตัวอย่างจะเห็นว่า ทุกครั้งที่ราคาถึงไปถึงจุดนั้นก็จะถูกทุบให้ลงมาทุกครั้ง จึงเป็นที่มาของ >> แนวต้าน (เพราะเหมือนมีแรงต้านไว้ไม่ให้ราคาขึ้นไป)
>>เมื่อเราหาจุดที่แนวรับ-แนวต้านได้แล้ว เราก็จะได้โซนราคาดังนี้ครับ
เมื่อเราหาโซนราคาได้แล้ว
โซนราคาที่เราหาได้นั้นก็จะช่วยให้เราเทรดง่ายขึ้นครับ เพราะโซนราคาจะช่วยให้เราวางแผนการเทรดได้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้โซนราคา เราก็จะวางแผนการเทรดไม่ได้ การเทรดของเราก็จะมั่ว เห็นเขียวหน่อยก็ซื้อ แต่มันดันเขียวบนแนวต้าน ซึ่งต่อมามันก็จะลง ทำให้ติดดอย เป็นต้นครับ
▶️ วางแผนการเทรดโดยใช้แนวรับ-แนวต้าน (โซนราคา)
เมื่อเรามีโซนราคาแล้ว รู้แล้วว่าแนวรับอยู่ตรงนี้ แนวต้านอยู่นี้ ต่อไปก็คือการวางแผนรอ Action ที่แนวรับ หรือ แนวต้านนั้น คือเราจะรอเทรดเมื่อราคามาถึงจุดแนวรับ-แนวต้านเท่านั้น จะไม่เทรดเมื่อราคายังไม่มาถึงจุดนั้นครับ
จากตัวอย่างคือการซื้อมั่วกลางกรอบราคา ผลที่ได้คือการขาดทุนทันที
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงควรซื้อหรือขาย ที่จุดแนวรับ-แนวต้านเท่านั้น นั่นก็เพราะว่าภายในกรอบราคานั้น ราคามันจะเคลื่อนที่ยังไงก็ได้ มันจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอน และการเคลื่อนที่แบบนั้นเราจะไม่เทรดเพราะว่าในการเทรดจริง มันมีผลต่อจิตใจเรามาก (ย้ำครับ เทรดจริงพวกนี้มีผลต่อสภาพจิตใจมาก )แทนที่เราจะสามารถซื้อที่แนวรับแล้วกำไรทันที รอไปขายที่แนวต้าน แต่กลับต้องมาลุ้นระทึกกับการเคลื่อนไหวไปมา สรุปทนไม่ไหวขายหนีก่อน เพราะกลัวมันลงไปมากกว่านั้น เป็นต้น
ต่อมาเรามาดูการวางแผนการโดยใช้แนวรับ-แนวต้านกันครับ มาดูความแตกต่างของการเทรดที่ไร้แผนกับมีแผนกัน
>>แนวรับ เราสามารถวางแผนการเทรดได้แบบนี้ครับ
1. วางแผนซื้อที่แนวรับ โดยรอให้เกิดแท่งกลับตัว
เมื่อราคาลงมาที่แนวรับก็ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าไปรับได้ทันทีครับ เราควรจะเห็นแท่งกลับตัวเพื่อคอนเฟิร์มก่อนว่า แนวรับรับได้ เพราะบางครั้งราคาลงมาที่แนวรับแล้ว แนวรับก็รับไม่อยู่ราคาไหลลงไปอีกก็มีครับ
*เทคนิคการหาแท่งกลับตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ หาแท่งที่เป็นแรงซื้อที่สวนแรงขายขึ้นมาครับ ตัวอย่างก็ในภาพที่จะเห็นได้ว่า มีแท่งเขียนทุกครั้งเมื่อถึงแนวต้านเพื่อไม่ให้ราคาลงไปต่ำกว่านั้น
2. ถ้าแนวรับรับไม่อยู่ก็ปล่อยมันไป คือ ถ้าเรามีของก็ขายทิ้ง แต่ถ้าไม่มีของกำลังรอซื้อที่แนวรับอยู่ แต่ดันรับไม่อยู่ก็ไม่ซื้อครับ
ทำไมต้องขายทิ้ง หรือ ไม่ควรซื้อ นั่นก็เพราะ แนวรับคือแนวที่มีแรงซื้อเยอะ แต่ราคากลับล่วงแบบนี้ นั่นก็แสดงว่า แรงซื้อสู้ไม่ไหวแล้ว ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ ราคาก็จะลงไปอีก ทำให้คนซื้อหรือไม่ยอมขายที่จุดนี้ ติดดอยแน่นอน
แนวรับสำหรับการเทรดหุ้นจะยังไม่น่าสนใจเท่าแนวต้านครับ เพราะหุ้นจะเทรดหุ้นขาขึ้นอย่างเดียว แต่ถ้าเราเทรด Future ทั้ง 2 แนวนี้จะน่าสนใจเท่ากันเพราะเราสามารถเทรดขาลงได้ด้วย
>> ต่อไปการวางแผนการเทรด แนวต้าน
1. ใช้แนวต้านเป็นจุดขายทำกำไร
2. นอกจากแนวต้านจะใช้เป็นจุดขายได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดซื้อได้ด้วย โดยจะซื้อเมื่อราคาเบรกแนวต้านนั้นไปได้ หรือ ที่เรียกกันว่า การเทรดแบบเบรกเอ้าท์
ซึ่งการเทรดแบบนี้คือการเทรดที่นิยมที่สุด กำไรในทันที ราคามีโอกาสไปไกลอีกด้วย จำได้ใช่มั้ยครับว่าแนวต้านคือแนวที่มีแรงขายเยอะ แต่พอมันทะลุไปได้นั่นก็แสดงว่า แรงซื้อชนะแรงขายไปได้อย่างขาดลอย เลยเป็นการเบรกเอ้าท์ขึ้นไป และในกรณีส่วนใหญ่เมื่อเบรกแนวต้านไปได้ ราคาก็จะพุ่งไปไกลเลยครับ และถ้าการเบรกครั้งนั้นเป็นการเบรกหลอกคือ เบรกแนวต้านไปแล้วแต่ราคาดันร่วงกลับมา เราก็สามารถที่จะหนีได้ไวเพราะทุนเราอยู่ตรงนั้นครับ
แต่ถ้าเราไม่ได้วางแผนมา เห็นราคาบวกแรงก็ใส่เลยทันที ไม่ดูแนวรับ-แนวต้าน
เช่น เราอาจจะซื้อตรงใกล้แนวต้าน โดยไม่รอให้เบรกก่อน ผลที่ได้คือก็คือมีโอกาสมากที่จะขาดทุนเพราะใกล้แนวที่มีแรงขายเยอะ เป็นต้นครับ
ถ้าชอบบทความนี้ก็สามารถกดติดตาม กดไลก์เพื่อเป็นกำลังให้ผมได้ครับ
หรือมีคำถามที่อยากจะรู้ อยากจะให้เขียนก็สามารถคอมเม้นไว้ได้เลยครับ
โฆษณา