29 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
สถาปัตยกรรมโมเดิร์นเช่นไรคือคำตอบของภูมิอาอากาศแบบเชียงราย? คือที่มาของแนวคิดในบ้านหลังนี้
1
อากาศหนาวของเมืองเหนือ คงเป็นภาพจำของใครหลายคนเมื่อกล่าวถึงเชียงราย แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อถึงฤดูร้อน เมืองเหนือนามเชียงรายนี้ก็ร้อนไม่แพ้ที่ใดๆในไทยเช่นเดียวกัน การออกแบบบ้านในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับบริบทรอบด้านและภูมิอากาศของเชียงราย จึงเป็นอีกความท้าทายใหม่ของ PHTAA living design
ในการออกแบบบ้านหลังนี้ เริ่มต้นจากการพยายามในการทำความเข้าใจถึงรูปแบบบ้านเรือนในพื้นที่ บ้านไม้แบบเรือนแฝดยกสูงที่มีหลังคายื่นยาวเป็นหนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจ แต่เมื่อต้องนำมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ การเลือกใช้ข้อดีจากเรือนแฝดเหล่านั้นจึงถูกตีความเพิ่มเติม
บ้านหลังนี้ตั้งใจให้พื้นที่ชั้นล่างนั้นมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบบ้าน เมื่อผนวกกับหลังคาที่แผ่คลุมหลายส่วนของบ้าน ทั้งส่วนที่ให้ร่มเงา และเป็นลานกว้างที่ต่อเนื่องออกไปจากห้องนั่งเล่น จึงทำให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถใช้งานพื้นที่นอกบ้านได้ในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นลานสังสรรค์ สระว่ายน้ำ หรือชานบ้านโดยรอบที่ใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากให้บ้านหลังนี้สามรรถมีการใช้งานแบบกึ่งเอาต์ดอร์ด้วยเช่นกัน
หลังคาจั่วนั้น นอกจากจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมกับภูมิอากาศเมืองร้อนเช่นบ้านเรา การระบายน้ำจากหลังคาในหน้าฝน ความกลมกลืนกับบ้านเรือนโดยรอบก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบของบ้านมีการผสมผสานภาษาทางสถาปัตย์พื้นถิ่นเข้าไปร่วมด้วย
การวางผังของบ้านหลังนี้จึงแบ่งออกได้เป็นพื้นที่รับแขก และห้องนอนของแขกที่มาพักในชั้นล่างซึ่งต่อเนื่องไปกับพื้นที่รอบบ้านที่หลากหลาย และเมื่อขึ้นไปยังชั้นสองจะกลายเป็นห้องนอนและพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ซึ่งก็มีชานบ้านขนาดใหญ่สำหรับกิจกรรมที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นเช่นกัน
จากความเป็นเรือนแฝดที่ได้กล่าวมา เมื่อคลี่คลายรูปแบบของอาคารออกจึงทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันใน Mass ของอาคารโดยมีสระน้ำตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางโดยมีแนวหลังคายื่นลงมาจรดยังแนวพื้นที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่สวนหย่อม
นอกจากการใช้งานสระว่ายน้ำตามปกติแล้ว การวางตัวสระเอาไว้ที่กลางบ้าน ซึ่งเป็นแนวรับลมของบ้านหลังนี้นั้น ยังทำให้ในเวลาที่อากาศร้อน ความชื่นและการระเหยของน้ำจะช่วยให้บ้านเย็นได้ในอีกทาง ผนวกกับการที่แนวชายคานั้นลาดลงมาสู่สวนที่เป็นผืนทราย ยังเป็นเหมือนพื้นที่เก็บกักความชื้นเพื่อช่วยให้เกิดภาวะสบายในบ้านได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในแง่ของหลักฮวงจุ้ยแล้ว การวางพื้นที่น้ำรับลมไว้ที่กลางบ้านยังเปรียบเหมือนกับการวางพื้นที่รับทรัพย์เงินทองและสิ่งดีๆเอาไว้ที่กลางบ้านอีกด้วย
ในยามอากาศร้อน การป้องกันลมร้อนและแสงแดดอันร้อนแรงเป็นแนวทางหนึ่งที่จำเป็น ชายคายื่นยาวนั้นเป็นวิธีที่ดีและได้ผล แต่การสร้างแนวกำแพงกันแดดให้กับบ้านนั้น อาจจะทำให้ความสัมพันธ์และเชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่ถูกตัดขาดออกจากกันจนเกินไป ผู้ออกแบบจึงเลือกให้แนวหลังคาทั้งหมดทำหน้าที่เป็นเหมือนกับแนวกำแพงไปในตัว ทำให้ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นยังคงต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันดังเดิม
นอกจากนี้ การออกแบบด้วยวัสดุหลังคาที่ยาวคลุมไปตลอดทั้งอาคารนั้น ยังช่วยสะท้อนความร้อน และด้วยวัสดุของหลังคานั้น ยังทำหน้าที่เสมือนแผงระบายความร้อนให้กับอาคารได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทั้งในส่วนของร่มเงาที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน และน้ำฝนที่ไหลลงจากแนวหลังคา ก็เป็นอีกปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้เช่นกัน
พื้นที่ชานระเบียงของบ้านหลังนี้นั้น ด้วยการออกแบบให้มีร่มเงาอยู่ตลอด จึงทำให้การอยู่อาศัยของบ้านหลังนี้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกอย่างชัดเจน บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่เพียงกล่องอาคารที่ต้องเข้าไปอาศัยอยู่ภายใน แต่สามารถอยู่อาศัยได้ทั้งในแบบปรับอากาศ และรับลมธรรมชาติเช่นเดียวกัน
และนี่ก็คือบ้านอีกหลังที่น่าสนใจสำหรับคนที่พิศมัยในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่ยังคงตอบรับกับบริบทและภูมิอากาศอย่างถึงที่สุดเช่นกัน
ออกแบบ : PHTAA living design (https://www.facebook.com/PHTAAlivingdesign/)
ภาพ : Nat Sakhonbut
เรื่อง : Wuthikorn Sut
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา