10 พ.ค. 2022 เวลา 01:10
มีใครไม่รู้จักเพลงของเธอบ้าง.... แล้วเรื่องราวของเธอ เรารู้จักดีแค่ไหน นักร้องดังชาวจีนที่มาตายที่เชียงใหม่บ้านเรา..
เพื่อนเขียนดี ขอเอามาแชร์ต่อค่ะ
รำลึกถึงเธออีกครั้งในวาระการจากไปครบ 27 ปี
“เติ้งลี่จวิน” ชีวิตทั้งหวานและขมขื่น
เดือนพฤษภาคมของทุกปี ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะมีกิจกรรมรำลึกถึงนักร้องในตำนานของเอเชียและของโลกนาม “เติ้งลี่จวิน” เพราะเธอลาจากโลกนี้ไปในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1995
นานหลายปีแล้ว ผมเคยพาเพื่อนชาวฝรั่งเศสเที่ยวชมย่านไชน่าทาวน์เยาวราชยามค่ำคืน ขณะนั่งทานขนมหวาน จู่ๆ เพื่อนฝรั่งก็บอกว่าเพลงจีนที่ดังมาจากด้านหลังเขารู้จัก เคยฟังจากเพื่อนครูชาวจีน
ผมบอกเขาว่าชื่อเพลง The Moon Represents My Heart ของนักร้องชาวไต้หวัน Teresa Teng คืนนั้นเขากลับที่พักพร้อมกับแผ่นซีดีรวมเพลงฮิตของเติ้งจากร้านในซอยด้านหลังด้วยความรู้สึกเป็นปลื้ม
เพลงนี้มีชื่อจีนว่า “เยว่เลี่ยงไต้เปี่ยวหว่อติซิน” (พระจันทร์แทนใจฉัน) เป็นเพลงที่ใครๆ รู้จัก เพราะเป็นผลงานยุคแรกที่ทำให้เธอโด่งดัง กลายเป็นบทเพลงอมตะเสมือนเพลงประจำตัวของเธอ
เพลงนี้มีนักร้องรุ่นหลังนำมาร้อง cover อยู่เนืองๆ ไม่เว้นนักร้องชายอย่าง เลสลี่จาง และหลิวเต๋อหัว แต่ที่เซอร์ไพรส์สุดคือ Jon Bon Jovi นักร้องเพลงร็อคชื่อดังขาวอเมริกัน เคยนำมาร้องเผยแพร่บนยูทูปในวาระครบ 20 ปีการจากไปของเติ้งเมื่อปี 2015
“เถียนมีมี่” (หวานปานน้ำผึ้ง) เป็นอีกผลงานหนึ่งของเธอที่รู้จักกันมาก เพลงนี้เอาทำนองเพลงอินโดนีเซียมาใส่เนื้อร้องภาษาจีนแมนดาริน เป็นเรื่องราวความประทับใจในรอยยิ้มของสาวคนหนึ่งที่หวานซึ้งตรึงใจ ทำนองเพลงสนุก ฟังง่ายร้องง่าย แฟนเพลงจึงจดจำได้เป็นอย่างดี ว่ากันว่าผู้แต่งคำร้อง "จวงหนู" ใช้เวลาเขียนราว 5 นาทีเท่านั้น โดยมีแรงบันดาลใจจากรอยยิ้มของเธอผู้เป็นเจ้าของเพลงนั่นเอง
ปี 1996 หนังฮ่องกงเรื่องหนึ่งปรากฏต่อสายตาผู้ชม หนังเปิดฉากด้วยเหตุการณ์ปี 1985 หนุ่มสาวคู่หนึ่งโดยสารรถไฟจากแผ่นดินใหญ่ไปแสวงหาชีวิตใหม่ในฮ่องกง
โชคชะตาพาให้ทั้งสองได้พบกัน เผชิญทุกข์สุขร่วมกัน ผูกพันกัน แต่มิเคยเอ๋ยความในใจออกมา ท้ายที่สุดต่างคนต่างมีครอบครัว
ในระหว่างเส้นทางชีวิตที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว พวกเขามีเพลงของนักร้องในดวงใจ “เติ้งลี่จวิน” คอยปลอมประโลมใจในยามทุกข์ยาก และสร้างความอบอุ่นในยามสุขสันต์
มรสุมชีวิตพัดพาให้ทั้งสองต้องพลัดพราก ไปเผชิญชีวิตในดินแดนห่างไกล ต่างคนต่างใช้ชีวิตตามลำพัง หลายปีผ่านไปเขาและเธอพบกันโดยไม่คาดฝัน เมื่อต่างหยุดชะงักที่หน้าร้านขายโทรทัศน์ริมถนนสายหนึ่งในนิวยอร์ค เพราะเห็นรายงานข่าวการเสียชีวิตของนักร้องสาวในดวงใจ ทั้งคู่ยืนดูข่าวด้วยความเศร้า กระทั่งต่างหันมาประสานสายตากัน รอยยิ้มก็ปรากฏบนใบหน้าของคนทั้งสอง
หนังเรื่องนี้มีชื่อจีนว่า “เถียนมีมี่” (ชื่อไทย-เถียนมีมี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว) ตามชื่อเพลงที่เป็นเพลงเด่นในหนัง และมีเพลงประกอบอื่นๆ จากผลงานของเติ้งอีกหลายเพลง หนังประสบความสำเร็จมากเป็นประวัติการณ์ ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกงครั้งที่ 16 และกวาดรางวัลอื่นอีกกว่า 10 รางวัล
สำหรับผมมันเป็นหนังที่มีคุณค่ามาก นอกจากจะเป็นการรำลึกนักร้องในตำนานที่เพิ่งจากไปแล้ว เนื้อเรื่องของหนังยังบันทึกประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนในช่วงทศวรรษที่ 80 ด้วย
หลังปี 1976 เมื่อแก๊งสีคน (Gang of Four) ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งสร้างโศกนาฏกรรมมากมายแก่ชาวจีน ถูกกวาดล้างจับกุม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เติ้งเสี่ยวผิงในฐานะผู้นำคนใหม่ เจ้าของวลี “แมวสีอะไรก็ช่าง ขอให้จับหนูได้” พาประเทศจีนออกจากยุคมืดก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยนโยบาย 4 ทันสมัย
จีนเริ่มเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ชาวจีนที่เคยถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้คำขวัญ “แดงและเชี่ยวชาญ” ที่เน้นเรื่องอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นสำคัญ เริ่มมีชีวิตที่ผ่อนคลาย แต่พวกเขายังต้องเผชิญความยากลำบากอีกนานนับสิบปี
การเปิดประเทศทำให้วัฒนธรรมภายนอกไหลบ่าเข้ามาสู่วิถีชีวิตชาวจีน ผู้คนที่เคยชินกับการต้องฟังเพลงปลุกใจตามอุดมการณ์ปฏิวัติ เริ่มได้ลิ้มรสใหม่ของเพลงจีนจากฮ่องกง ไต้หวัน ผลงานเพลงของเติ้งลี่จวินก็เป็นส่วนหนึ่งของความผ่อนคลายนี้
ต้นทศวรรษ 1980 เพลงของเธอเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตชาวจีนทุกหัวระแหง ทั้งสถานบันเทิงยันที่ทำการของรัฐ เวลาค่ำคืนยังเป็นความสุขส่วนหนึ่งในครอบครัว กล่าวกันว่ายามนี้แผ่นดินจีนมีผู้ยิ่งใหญ่แซ่เติ้งสองคน หนึ่งคือผู้เฒ่าเติ้ง (เหล่าเติ้ง) ผู้นำประเทศ สองคือเติ้งน้อย (เสี่ยวเติ้ง) นักร้องสาวคนโปรดชาวไต้หวัน
เพลงของเติ้งลี่จวินจำนวนมากเป็นเรื่องราวความรัก รักที่ผิดหวังมากกว่าสมหวัง หลายเพลงให้คติสอนใจ ให้ความหวังสร้างพลังใจ จึงเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจแก่ชาวจีนในยามยากลำบาก
เพลงจากไต้หวันและฮ่องกงแผ่อิทธิพลเข้ามาครองใจชาวจีนมากจนสร้างความไม่สบายใจให้แก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในที่สุดก็สั่งห้ามเพลงเหล่านี้หาว่าเนื้อเพลงส่งเสริมลัทธิทุนนิยม ไม่เว้นเพลงของเติ้งด้วย แต่ชาวจีนก็ยังนิยมเพลงของเธอไม่เสื่อมคลาย ยังขวนขวายหาซื้อจากตลาดมืด
ความจริงช่วงปี 1981-1989 เติ้งลี่จวินมีผลงานดีๆ ออกมาหลายอัลบั้ม มีเพลงยอดนิยมมากมาย ประสบความสำเร็จอย่างมากขนาดได้รับรางวัล All-Japan Record Awards ติดต่อกัน 4 ปี
ปี 1989 เกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประขาขนชาวจีนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เติ้งลี่จวินแสดงการสนับสนุนโดยเปิดคอนเสิร์ตขึ้นที่สนามม้าแฮปปี้ วัลเลย์ ในฮ่องกง เธอประกาศจุดยืนต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยคำกล่าวว่า "บ้านของฉันอยู่คนละฝั่งกับภูผาใหญ่" เธอจึงเป็นนักร้องที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ปลื้มเอามาก ๆ
เติ้งลี่จวินเกิดที่ไต้หวันในครอบครัวทหาร บิดาเป็นนายทหารของพรรคก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เกาะไต้หวันพร้อมกับเพื่อนร่วมชาติกว่า 2 ล้านคน
ยามว่างจากงานแสดงคอนเสิร์ต เธอมักเปิดการแสดงกล่อมขวัญทหาร ทุกครั้งเธอจะร้องเพลงเหมยฮัวปิดท้าย เนื้อร้องท่อนหนึ่งกล่าวว่า “ดอกเหมยเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนแข็งแกร่งของพวกเราชาวจีน”
เพลงนี้เป็นต้นเหตุทำให้รัฐบาลแผ่นดินใหญ่โกรธเคืองเธอ เพราะเนื้อเพลงท่อนหนึ่งกล่าวว่าดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำชาติของฉัน (ไต้หวัน) ซึ่งรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงประกาศให้เติ้งลี่จินเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศจีน
เรื่องตลกอันแสนเศร้า ตลอดช่วงชีวิตการเป็นนักร้องยาวนานกว่า 30 ปี เธอเป็นที่รู้จักของชาวจีนทั่วโลก เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตยังประเทศต่างๆ นับไม่ถ้วน ทั้งในเอเชีย ยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา แต่ประเทศที่มีแฟนเพลงมากที่สุดคือสาธารณรัฐประชาชนจีน เธอกลับไม่เคยได้เหยียบย่าง
แม้แฟนเพลงชาวจีนเรียกร้องให้เธอไปเปิดการแสดงบนแผ่นดินใหญ่หลายครั้ง แต่เธอก็ปฏิเสธด้วยคำกล่าวว่าตราบใดยังไม่เป็นประช่าธิปไตยเธอจะไม่ไปที่นั่น จนกระทั่งต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลปักกิ่งเชิญเธอไปเปิดการแสดงในประเทศจีน น่าเสียดายความฝันที่จะไปพบแฟนเพลงชาวจีนยังไม่ทันเป็นจริง เธอก็จากไปเสียก่อน
เติ้งลี่จวินเสียชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในวัย 42 ปี จากอาการหอบหืดกำเริบรุนแรงขณะพักอยู่ในห้องเพียงคนเดียว ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง ร่างของเธอถูกนำกลับบ้านเกิดท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของชาวไต้หวัน รัฐบาลจัดงานศพแบบรัฐพิธี โลงศพคลุมด้วยธงชาติเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เธอในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ และเป็นผู้มีส่วนสำคัญทำให้ความสัมพันธ์ของสองจีนดีขึ้น
เส้นทางชีวิตของเธอดำเนินไปด้วยความหวานชื่นระคนความขมขื่น เธอเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่กลับล้มเหลวในชีวิตรักตลอดมา ผู้คนมากมายรักชื่นชมเธอ แต่ยามสิ้นลมเธอไม่มีใครอยู่ข้างกาย
ทุกวันนี้เติ้งลี่จวินยังคงเป็นความภาคภูมิใจของชาวจีนทั้งมวล จนมีผู้กล่าวว่า “ที่ใดมีคนจีน ที่นั่นมีเสียงเพลงของเติ้งลี่จวิน”
เขียนโดย Somchai Asksavarak
ก็มันชอบ
10 พ.ค. 2022
โฆษณา