11 พ.ค. 2022 เวลา 07:36 • การเกษตร
รู้วิธีปลูกและดูแล "พืชกระท่อม" ให้โตไวทันขาย ได้กำไรต่อเนื่อง
หลายคนรู้จัก “พืชกระท่อม” ในชื่อของยาเสพติดมาตลอด โดยกระท่อมถือเป็น 1 ในพืช 4 ชนิดที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย
แต่ตอนนี้ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 โดยปลดล็อกให้พืชกระท่อมออกจากรายชื่อสารเสพติดให้โทษ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และจะมีผลบังคับใช้ 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศ (26 พ.ค. 64)
ทำความเข้าใจกฎหมายปลดล็อกพืชกระท่อม
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ให้ประชาชนสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งยกเลิกบทลงโทษทั้งหมดที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม แต่ยังคงมีข้อห้ามในการนำพืชกระท่อม ไปผสมกับสารเสพติดชนิดต่างๆ เช่น 4x100 (เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพเมามาย)
นอกจากนี้ยังห้ามขายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชน ห้ามขายให้สตรีมีครรภ์ และกำหนดสถานที่ห้ามขายในสถานศึกษา และวัด ส่วนในด้านของธุรกิจส่งออก หรือนำเข้าพืชกระท่อม จะต้องขออนุญาตป.ป.ส. และการทำผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท, ห้ามบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น
ทำความรู้จักกับ ‘พืชกระท่อม’
สำหรับเกษตรกรคนไหนที่ยังไม่รู้จักพืชชนิดนี้ “พืชกระท่อม” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) ในไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์แตงกวา พันธุ์ยักษาใหญ่ และพันธุ์ก้านแดง พบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ และในบางจังหวัดของภาคกลาง
ส่วนสรรพคุณหากบริโภคกระท่อมในปริมาณต่ำ ๆ จะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า ช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น เนื่องจากมีสารไมทราไจนีน (mitragynine) ซึ่งเป็นสารที่พบเฉพาะในพืชกระท่อมเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบสารสกัดจากใบกระท่อมที่สำคัญ เช่น 7-hydroxymitragynine ที่มีฤทธิ์ระงับปวดได้คล้ายกับการใช้มอร์ฟีน
แต่ถ้าใช้ในปริมาณสูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้มีอาการท้องผูก นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังคล้ำลง ในบางรายมีอาการซึมเศร้าหรือไม่ก็ก้าวร้าว กระวนกระวาย ความดันสูง มีอาการทางจิตร่วมด้วย
วิธีปลูกและดูแลพืชกระท่อม
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่อยากปลูกพืชกระท่อมจะมีวิธีดูแลอย่างไรบ้าง ลองดูวิธีการดูและพืชกระท่อมให้โตไว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
เลือกวิธีการปลูก
  • การเพาะจากเมล็ด พืชกระท่อมสามารถใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ เมล็ดของกระท่อมจะมีลักษณะปีกบาง จึงสามารถปลิวไปได้ไกลตามแรงลม และสามารถแขวนลอยไปกับน้ำได้ง่ายด้วยเหตุผลนี้ทำให้พบต้นกระท่อมได้ตามริมลำธารโดยเฉพาะดินชื้นแฉะ โดยทั่วไปก็จะทำการเพาะต้นกล้าจากเมล็ด จนได้ต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร ย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นที่เหมาะสม
  • การติดตาและทาบกิ่ง อาจใช้วิธีการติดตา ทาบกิ่งกับต้นตอที่มี ความแข็งแรง รวมไปถึงการติดตากับต้นกระท่อมขี้หมูซึ่งเป็นกระท่อมป่ากินไม่ได้แต่ระบบรากแข็งแรงกว่า
  • การปักชำ ให้เลือกดูกิ่งที่ไม่อ่อนและแก่จนเกินไป หากกิ่งตอนใบใหญ่ให้ตัดใบครึ่งใบ เพื่อให้รากขึ้นไวขึ้น หลายคนเลือกใช้วิธีการชำแบบควบแน่นที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในการปักชำ (เนื่องจากในช่วงนี้มีนโยบายควบคุมพื้นที่การปลูก) แถมหลีกเลี่ยงความเสียหายจากสภาพอากาศได้ด้วย
เตรียมอุปกรณ์
1. เตรียมดินคุณภาพดี โดยดินที่ใช้ปลูกพืชกระท่อมจะต้องไม่เป็นดินที่แข็งแบบดินลูกรัง พืชกระท่อมชอบดินร่วนซุย และพืชกระท่อมชอบน้ำ ต้องมีระบบน้ำอย่างทั่วถึง ชาวบ้านนิยมใช้ปุ๋ยคอก
2. ทำการให้ปุ๋ยที่ช่วยทำให้พืชเจริญเติบโตดี มีความต้านทานต่อโรค และมีความเขียว เช่น ปุ๋ยที่ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย รากชอนไชได้ดี ดินอุ้มน้ำได้ดี เก็บรักษาความชื้น เป็นแหล่งธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดโรคพืช โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรกโนส โรคเน่าคอดินได้ด้วย
3. หากต้องการจำกัดพื้นที่ปลูกก็สามารถหาภาชนะมาใช้ในการปลูก เช่น แก้วพลาสติกใส ได้
โรคและการควบคุมดูแลกระท่อม
พืชกระท่อมที่ปลูกในที่ฝนตกชุก เช่น จังหวัดระนอง จะเกิดโรคเชื้อราจุดดำ หรือเกิดโรครากเน่า ให้ใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเชื้อราไตรโคเดอร์มา มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อราได้ โดยใช้ร่วมกันกับน้ำผสมสารจับใบฉีดพ่นทางใบและราดโคนต้น
รวมถึงจัดการกับแมลงศัตรูพืชประเภทหนอนและเพลี้ยก็ควรจะใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมีด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และผู้บริโภคที่ต้องนำใบกระท่อมไปใช้ผลิตเป็นยา สมุนไพร หรือส่งออก ซึ่งถ้าหากมีสารเคมีปนเปื้อนก็ย่อมส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย
การเก็บเกี่ยวกระท่อม
พืชกระท่อมจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไปเฉพาะใบแก่ แต่ถ้าจะให้ผลผลิตเต็มที่ควรมีอายุ 5 ปี เก็บเกี่ยวใบได้ต้นละ 1 กิโลกรัม เก็บเกี่ยวทุก 15 วัน
​จะเห็นว่า พืชกระท่อมเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามาก ในอนาคตจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยมีการประเมินแล้วว่า ถ้าปลูกกระท่อม 1 ไร่ จะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพารา 10 เท่า  และขณะนี้ยางพารากิโลกรัมละไม่เกิน 40 บาท  แต่ พืชกระท่อมราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท  หรือมากกว่า ดังนั้น ถ้าปลูก 1 ต้นจะมีรายได้เดือนละประมาณ 3,000 บาทเลยทีเดียว
สามารถค้นหา อ่านความรู้การเกษตรได้เพิ่มเติมที่ https://shop.grotech.co/blog/
โฆษณา