13 พ.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
“Corning” ธุรกิจกระจก 170 ปี ผลิตหลอดไฟให้เอดิสัน ยันกระจกไอโฟน
รู้หรือไม่ว่าเครื่องต้นแบบของไอโฟนรุ่นแรกนั้น มีฝาครอบหน้าจอที่ทำจากพลาสติก
ซึ่ง สตีฟ จอบส์ พบปัญหาในการใช้งาน คือหน้าจอเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย
ทำให้เขาสั่งเปลี่ยนฝาครอบเป็นกระจก ที่ต้องมีคุณสมบัติทนทานและป้องกันรอยขีดข่วน
3
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ทีมงานมีเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนกำหนดการเปิดตัว
ในขณะที่ การพัฒนากระจกตามแบบฉบับที่จอบส์ต้องการนั้น
อาจต้องใช้เวลามากถึงสามปีเลยทีเดียว
แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน แอปเปิลก็สามารถเปลี่ยนเป็นฝาครอบกระจกได้สำเร็จ
เพราะเทคโนโลยีกระจกกอริลลา หรือ “Gorilla Glass”
โดยกระจกแบรนด์นี้ ยังคงอยู่คู่สินค้าของแอปเปิล มาจนถึงปัจจุบัน
1
ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าของแบรนด์กระจก Gorilla Glass ที่เปิดตัวพร้อมกับไอโฟนรุ่นแรกนั้น
ก็คือบริษัท “Corning Incorporated” ที่ทำธุรกิจบนโลกของเรามายาวนานกว่า 170 ปี
1
แถมบริษัทแห่งนี้ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาหลอดไส้ร่วมกับทอมัส เอดิสัน
หรือแม้แต่การผลิตคิดค้นกระจกกันความร้อน สำหรับยานอวกาศของ NASA นับสิบลำ..
1
แล้วเรื่องราวของบริษัทกระจกแห่งนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สำหรับผู้ก่อตั้ง Corning นั้น เขาไม่ใช่ทั้งนักประดิษฐ์ ไม่ใช่วิศวกรเลื่องชื่อ
แต่เขาเป็นพ่อค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า “Amory Houghton”
โดยเขาคนนี้ ได้เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจผลิตและค้ากระจกแห่งหนึ่ง
ชื่อว่า Bay State Glass Company ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์
ต่อมาในปี 1864 เขาและลูกชาย ได้ตัดสินใจซื้อ Brooklyn Flint Glass Company
กิจการโรงหล่อแก้วและกระจก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบรุกลิน รัฐนิวยอร์ก
4 ปีต่อมา พวกเขาได้ย้ายโรงงานไปยังเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกของนิวยอร์ก
ที่มีชื่อว่า Corning เนื่องจากเป็นทำเลที่สะดวกต่อการขนส่งสินค้าและเชื้อเพลิงอย่างไม้และถ่านหิน
1
ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทตามชื่อเมืองเป็น Corning Flint Glass Company
ในช่วงเริ่มแรกนั้น Corning ยังคงเป็นเพียงโรงงานผลิตแก้วและกระจกธรรมดา
แต่จะมีสินค้าที่โดดเด่นก็เพียงโคมไฟส่องสว่าง ที่มีเลนส์แบบสี เพื่อใช้งานในระบบการรถไฟ
แต่แล้วในปี 1879 ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตของ Corning เมื่อทอมัส เอดิสัน ได้มาขอให้ Corning ช่วยพัฒนาหลอดแก้วสำหรับหลอดไฟส่องสว่างไส้คาร์บอนที่เขาพัฒนาขึ้น เพื่อแทนที่การใช้ไฟส่องสว่างแบบเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งมักจะก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย
1
แน่นอนว่าการที่ Corning มีส่วนร่วมในการผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกนี้เอง
ก็ได้ทำให้บริษัทได้สิทธิในการเป็นผู้ผลิตหลอดแก้วเพียงรายเดียวให้กับทอมัส เอดิสัน ทำให้มีรายได้เติบโตมากขึ้นเช่นกัน
1
ในเวลาต่อมา การต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแก้วของ Corning ก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มากมาย และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก อย่างเช่น
- ปี 1915 Pyrex และ CorningWare ผลิตภัณฑ์เครื่องครัวและอุปกรณ์ในห้องแล็บ จากแก้วที่มีคุณสมบัติทนความร้อนและแข็งแรงเป็นพิเศษ ซึ่งยังคงผลิตและวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
- ปี 1935 ผลิตกระจกขนาดใหญ่กว่า 200 นิ้ว สำหรับกล้องโทรทรรศน์ Hale ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าจักรวาลประกอบด้วยกาแล็กซีหลายพันล้านแห่ง
3
- ปี 1961 คิดค้นหน้าต่างกระจกกันความร้อนสำหรับยานอวกาศ โดยได้รับมอบหมายตั้งแต่โครงการเมอร์คิวรี ที่มีห้องโดยสารขนาด 1 ที่นั่ง และเป็นโครงการแรกที่สหรัฐอเมริกาสามารถส่งนักบินขึ้นไปยังอวกาศ ไปจนถึงยาน Apollo และกระสวยอวกาศของ NASA ได้
1
- ปี 1972 ผลิตตัวกรองเซรามิก ที่ช่วยดักจับมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่ภายนอก ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานระดับโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการลดการปล่อยมลพิษ
4
จะเห็นว่า Corning มีความแข็งแกร่งในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมาก สังเกตได้จากความหลากหลายของสินค้า ซึ่งต่างก็เป็นนวัตกรรมที่สำคัญและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง
แต่นวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทมากที่สุด ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1970
1
โดยทีมวิจัยและพัฒนาของ Corning ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ใยแก้วนำแสงประสิทธิภาพสูง”
ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง
2
นวัตกรรมตัวใยแก้วของ Corning สามารถรับส่งข้อมูลได้มากกว่าลวดทองแดงถึง 65,000 เท่า
จุดนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับเครือข่ายการสื่อสารของผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
2
และด้วยการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ยอดการสั่งซื้อและลงทุนในเครือข่ายการสื่อสาร โดยเฉพาะเส้นใยแก้วนำแสง ก็เติบโตอย่างมาก
ส่งผลให้ในปี 2000 ราคาหุ้นของ Corning ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมในเวลานั้น
ก็ได้เติบโตขึ้นถึง 11 เท่าจากปี 1998 สู่ระดับจุดสูงสุดที่ราคา 113 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
แต่เมื่อวิกฤติฟองสบู่ดอตคอม ได้เข้ามาเยือนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ผลประกอบการของ Corning ก็ตกลงทันที พร้อม ๆ กับการขาดทุนสินค้าคงคลังจำนวนมาก
ในปี 2002 ราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับตัวลดลงกว่า 98% จากจุดสูงสุด เหลือเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น..
3
อย่างไรก็ตาม Corning ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนั้นมาได้ จากการปรับโครงสร้างบริษัท และปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกินลง
1
จนกระทั่งในปี 2007 โอกาสก็มาถึง Corning อีกครั้ง เมื่อแอปเปิลที่นำโดย สตีฟ จอบส์ กำลังพัฒนาโทรศัพท์มือถือที่ไร้ปุ่มกด แบบที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อว่าไอโฟน
โดยไอโฟนตัวต้นแบบนั้น ยังเป็นโมเดลที่ใช้พลาสติกแข็งเป็นฝาครอบหน้าจอ ซึ่งเมื่อจอบส์ได้ลองใช้งานและลองใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ เขาก็พบว่าหน้าจอกลับเต็มไปด้วยรอยขีดข่วน
ทำให้จอบส์แจ้งต่อทีมพัฒนาทันที ว่าเขาต้องการให้ฝาครอบหน้าจอไอโฟน ทำมาจากกระจกที่ทนทาน และต้องป้องกันรอยขีดข่วนได้ด้วย
แต่ทีมงานก็ได้ตอบกลับไปว่า บริษัทอาจจะต้องใช้เวลาอีกราว 3-4 ปี ในการพัฒนากระจกที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
แต่จอบส์ก็ยื่นคำขาดว่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ไอโฟนที่จะเปิดตัวในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า จะต้องมีหน้าจอเป็นกระจก และกันรอยขีดข่วนได้เท่านั้น
จอบส์จึงได้ต่อสายตรงไปหาซีอีโอ ของ Corning ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก ให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับแอปเปิล
จุดนี้เอง ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีกระจกกันรอยอย่าง “Gorilla Glass” ขึ้นมา และนวัตกรรมตัวนี้เอง ที่ได้เปิดตัวพร้อม ๆ กับไอโฟนรุ่นแรก ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดมือถือ ที่ทำให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต่างก็เปลี่ยนมาใช้หน้าจอแบบกระจกตามไอโฟน ตั้งแต่นั้นมา
1
ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ใน Gorilla Glass นั้น Corning ได้พัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1960 โดยเป็นการพัฒนากระจกหน้ารถ ที่มีความแข็งแรง และได้ถูกนำมาต่อยอดและใช้งานแล้วในหน้าจอทีวีและแล็ปท็อป
1
ด้วยความสำเร็จของ Gorilla Glass และไอโฟน ทำให้ Corning ได้กลายมาเป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญของแอปเปิล
1
ตั้งแต่นั้นมา ก็เรียกได้ว่าสินค้าของแอปเปิลเกือบทั้งหมด ยังคงใช้กระจกจาก Gorilla Glass มาจนถึงปัจจุบัน
1
นอกจากนี้ Corning ยังเป็นซัปพลายเออร์รายแรก ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จากกองทุน Advanced Manufacturing Fund ของแอปเปิล
โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา Corning ได้รับทุนจากแอปเปิลไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
1
นอกจากหน้าจอของสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายแบรนด์ทั่วโลกแล้ว
ปัจจุบัน Gorilla Glass ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และก้าวเข้าสู่หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น
- พื้นผิวกระจกทั้งภายในและภายนอกรถยนต์
- เลนส์กล้องถ่ายภาพ
- กระจกสำหรับงานสถาปัตยกรรม
แล้วผลประกอบการของ Corning ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ปี 2019 รายได้ 3.96 แสนล้านบาท กำไร 3.3 หมื่นล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 3.89 แสนล้านบาท กำไร 1.8 หมื่นล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 4.84 แสนล้านบาท กำไร 6.6 หมื่นล้านบาท
1
โดยสามารถแบ่งรายได้ออกเป็น 5 หมวดหลัก คือ
- Display Technologies
เป็นสินค้าเกี่ยวกับหน้าจอทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น จอทีวี LCD หรือ OLED, โน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต
โดยมีสัดส่วนประมาณ 26% ของรายได้
- Optical Communications Segment
เป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเครือข่ายการสื่อสาร โดยเฉพาะใยแก้วนำแสง
โดยมีสัดส่วนประมาณ 31% ของรายได้
- Specialty Materials Segment
เป็นสินค้าประเภทวัสดุพิเศษซึ่งมีมากกว่า 150 สูตร สำหรับการผลิตแก้ว เซรามิก และคริสตัล ซึ่งถูกใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งโทรศัพท์มือถือ กระจก และเลนส์ชนิดต่าง ๆ เช่น Gorilla Glass ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน
โดยทั้งหมดมีสัดส่วนประมาณ 14% ของรายได้รวม
- Environmental Technologies Segment
สินค้าในกลุ่มตัวกรองเซรามิก ที่ช่วยกรองมลภาวะจากไอเสียรถยนต์ มีสัดส่วนประมาณ 11% ของรายได้
- Life Sciences Segment
กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ห้องแล็บ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับยาหรือวัคซีน
มีสัดส่วนประมาณ 9% ของรายได้
- ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ คิดเป็น 9% ของรายได้
ปัจจุบันสินค้าของ Corning ก็ยังคงอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก
1
ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายการสื่อสารแบบ 5G ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสง
รถยนต์ไฟฟ้า หรือสมาร์ตโฟน ที่การออกแบบหน้าจอหรือโครงสร้าง มีพื้นผิวที่เป็นกระจกมากขึ้น
ปัจจุบัน Corning กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1.07 ล้านล้านบาท
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงอายุของบริษัท ที่อยู่มานานกว่า 170 ปี
บวกกับนวัตกรรมที่ยกระดับเทคโนโลยีของโลกมาหลายยุคหลายสมัย
1
ก็ไม่น่าแปลกใจว่า ในอนาคต อุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน
Corning ก็น่าจะมีบทบาทสำคัญต่ออุปกรณ์ชิ้นนั้น ไม่ต่างจากหลอดไฟของเอดิสัน ในวันแรก..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา