12 พ.ค. 2022 เวลา 13:19 • กีฬา
การไม่ต่อสัญญาของค่ายเกม EA กับ FIFA เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของวงการเกมฟุตบอลได้เลยทีเดียว เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
1
ก่อนที่จะเราจะไปเล่าว่าสองฝ่ายหักกันเพราะอะไร เราต้องย้อนไปดูแบ็กกราวน์ของวงการนี้กันก่อน
2
[ Note : ในบทความนี้คำว่า "FIFA" จะมีสองความหมายนะครับ หมายถึง 1-เกมฟีฟ่า และ 2-สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ แล้วแต่บริบท ว่าบรรทัดไหนจะกล่าวถึงอะไรนะครับ ]
1
จุดเริ่มต้นของเกม FIFA เกิดขึ้นในปี 1993 เมื่อค่ายเกม EA (Electronic Arts) ของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเกม NFL MADDEN เซ็นสัญญา 10 ปี กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เพื่อขอผลิต Official Game สร้างเกมฟุตบอลที่ถูกรับรองโดย FIFA แต่เพียงผู้เดียว
1
FIFA ตอบตกลง เพราะในขณะนั้น แนวคิดเรื่องเกม เป็นอะไรที่ใหม่มาก ซึ่งพอ EA เซ็นสัญญากันปั๊บ ในปี 1993 ก็เปิดตัวเกมแรก ลงบนแพลทฟอร์มเครื่องเมกะไดรฟ์ ในชื่อเกม FIFA International Soccer หรือที่เราเรียกย่อๆ ว่า เกม FIFA นั่นเอง
3
ด้วยความที่เป็นเกมฟุตบอลไม่กี่เกมในยุคนั้น ทำให้เกม FIFA มียอดขายที่น่าประทับใจมาก 1 เดือนแรก สามารถขายได้ถึง 500,000 ตลับทีเดียว
1
อย่างไรก็ตาม เกม FIFA ครองตลาดได้แค่แป้บเดียวเท่านั้น คู่แข่งจากญี่ปุ่น บริษัทโคนามิ ก็ตอบโต้อย่างดุดัน ด้วยการปล่อยเกมฟุตบอลชื่อ Perfect Eleven เข้ามาตีตลาด ตามด้วย Goal Storm ปิดท้ายด้วยหมัดเด็ดที่สุดคือ Winning Eleven 3
7
เกม FIFA ของฝั่ง EA ในยุคแรกๆ มีความแข็งทื่อเกินไป ทุกอย่างเป็นแพทเทิร์นเดาง่ายๆ ต่างจากของค่ายโคนามิ ที่ลื่นไหลกว่า มีจ่ายบอลคิลเลอร์พาส มีชิ่ง 1-2 มีลูกเล่นใหม่ๆ ตลอด นั่นทำให้ยอดขายของ "เกมวินนิ่ง" พุ่งทะยานไปทั่วโลก และยึดตลาดเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
1
โคนามิ เป็นบริษัทหัวแหลม พวกเขาไม่ยอมเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์นักเตะ แต่ใช้ลูกไม้ ด้วยการใช้ชื่อปลอมของนักฟุตบอล เช่น เดวิด เบ็คแฮม แทนที่จะสะกดอย่างถูกต้องว่า Beckham ก็ใช้ Bekham หรือบาติสตูต้า แทนที่จะใช้ Batistuta ก็สะกดว่า Batustita แทน คือผิดนิดๆ หน่อยๆ แค่ให้คนเล่นเข้าใจว่าเป็นตัวละครตัวไหนก็พอแล้ว
12
แม้โคนามิจะใช้ชื่อนักเตะปลอม แต่สิ่งที่พวกเขาเหนือกว่าเกม FIFA ชัดเจนมากคือเรื่อง "เกมเพลย์" ฝั่ง FIFA จะมีความเป็นการ์ตูน การเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ค่อยสมจริง ตรงข้ามกับฝั่งโคนามิที่เน้นความสมจริง จังหวะฟิสิกส์ จังหวะบอลเด้งต่างๆ ดูเนียนกว่ากันมาก แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ตลอด มีการใส่โหมด Master League เพิ่มมาให้เกมเมอร์ได้เล่นอีก
6
คุณภาพเกมวินนิ่ง อีเลฟเว่น ของโคนามิ ณ เวลานั้น สูงถึงขนาดที่ว่า นิตยสารยูโรเกมเมอร์เขียนสดุดีว่า "เป็นเกมฟุตบอลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยถูกผลิตมา"
2
ฝั่ง EA รู้ดี ว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ไม่มีทางไล่โคนามิทันแน่ๆ พวกเขาจึงเปลี่ยนกลยุทธ์
วิธีแรกคือการติดต่อกับสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ เพื่อขอซื้อ "เสื้อแข่งจริง และตราสโมสรจริง" รวมแล้ว EA มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องของ 400 สโมสรทั่วโลกในมือ ในขณะที่เกมวินนิ่งยังใช้ชื่อ Merseyside Red ซึ่งเป็นชื่อทีมปลอมเพื่อเลี่ยงจ่ายลิขสิทธิ์ ฝั่ง EA ยอมควักเงินเพิ่มหน่อย เพื่อช่วยให้เกมเมอร์สามารถใช้ชื่อ "ลิเวอร์พูล" ได้เลย
9
ซึ่งมันก็มีนักเล่นเกมจำนวนมาก ที่อยากเล่นเกม ที่เสื้อแข่งถูกต้อง ชื่อทีมถูกต้อง ไม่ต้องมานั่งอัพแพทช์เองให้เหนื่อย
1
นอกจากนั้น EA พยายามพัฒนาเรื่องกราฟฟิก ให้สวยงามกว่าโคนามิ คือเรื่องเกมเพลย์แพ้ไม่เป็นไร แต่ถ้าอย่างอื่นสวย ดูดี และถูกลิขสิทธิ์ก็น่าจะดึงฐานแฟนเกมกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาได้
1
การเปลี่ยนแปลงช้าๆ ทำให้ FIFA มีคนเล่นมากขึ้นทีละนิด โดยแกรี่ ปีเตอร์สัน หัวหน้าทีมดีไซน์เกมจาก EA Sports เล่าว่า แนวคิดของวินนิ่ง อีเลฟเว่นขณะนั้น (หรือชื่อที่ใช้ในสากลคือ PES - Pro Evolution Soccer) คือการพัฒนาให้เกมมีความสมจริงเหมือนฟุตบอลจริงมากที่สุด
2
ถ้าคิดตามคอมม่อนเซนส์ ก็ดูจะเป็นไอเดียที่ดี แต่ฝั่ง EA มองตรงข้ามกัน พวกเขาเชื่อว่า คนที่มาเล่นเกม ต้องการความบันเทิง คือถ้าเอาสมจริงขนาดนั้น วางจอยแล้วไปดูบอลจริงๆ ง่ายกว่า
4
เมื่อแนวคิดต่างกัน ทำให้ PES มุ่งมั่นสร้างเกมให้เหมือนฟุตบอลจริง ตรงข้ามกับ EA ที่สร้างเกมให้มีความเป็นเกม มีการใส่ลูกเล่นความผิดพลาดแปลกๆ ลงไป เช่นกองหลังหรือโกล์ทำพลาดแบบโง่ๆ ซึ่งสามารถสร้างกระแสไวรัล และการถูกพูดถึงได้มากกว่าฝั่ง PES
5
แต่จุดชี้ขาดที่ทำให้ EA มียอดขายแซง PES ได้เป็นครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อพวกเขาสร้างโหมดใหม่ภายในเกมขึ้นมา ชื่อโหมด Fifa Ultimate Team (FUT)
4
FUT คือโหมดที่คุณสามารถสร้างทีมในฝันของตัวเองขึ้นมาได้ ด้วยการสุ่มนักเตะจากระบบ เอามารวมร่างเป็นทีมออลสตาร์ของตัวเอง อย่างไรก็ตามวิธีการได้นักเตะมานั้น จะต้องเปิดสุ่มการ์ดแบบกาชา ถ้าคุณดวงดี ก็ได้นักเตะเก่ง ถ้าคุณดวงไม่ดี ก็ได้นักเตะฝีเท้าธรรมดา โดยการจะเปิดการ์ดได้นั้น ผู้เล่นก็ต้องจ่ายเงินให้ EA เพื่อซื้อเหรียญสำหรับเอามาซื้อการ์ด
2
EA ฉลาด ที่จับจุดของคอฟุตบอลได้ เพราะคนดูบอล หรือเล่นเกมบอล ส่วนใหญ่ก็อยากเป็นผู้จัดการทีม สร้าง Superstar XI ของตัวเองที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาดวลกับคู่แข่งทั้งนั้น แถมพวกเขาใส่ทริกกาชา ที่มีความเป็นการเสี่ยงโชคนิดๆ ลงไป ทำให้คนรู้สึกลุ้นมากขึ้น สุดท้ายก็สามารถดึงดูดคนเล่นทั่วๆ ไป มาได้เล่น FIFA ได้อย่างมหาศาล
2
การเปิดตัว FUT ทำให้ในปี 2009 FIFA มียอดขาย 8.7 ล้านชุด ส่วน PES มียอดขาย 6.9 ล้านชุด เป็นครั้งแรกที่ FIFA เอาชนะ PES ได้
1
และจากวันนั้น ช่องว่างของทั้ง 2 เกมก็ต่างกันเรื่อยๆ เพียงเวลาแค่ 6 ปีต่อมา ในปี 2015 FIFA มียอดขาย 18 ล้านชุด ส่วน PES มียอดขายเพียง 1.7 ล้านชุดเท่านั้น ผลการแพ้ชนะมันถูกตัดสินแล้ว
1
จุดชี้ขาด คือตอนที่ FIFA เริ่มมีระบบ FUT ฝั่ง PES ทำอะไรไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ตัวละครจริงจากสโมสรฟุตบอล คือชาวบ้านที่ไหน ใครจะอยากเปิดกาชา ถ้าได้ตัวนักเตะตัวปลอม ชื่อปลอมอย่าง Skoles (Scholes) หรือ Roberto Larcos (Roberto Carlos)
5
โอเคว่าในช่วงหลัง PES พยายามสู้ ด้วยการไปเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับหลายสโมสร เช่นบาร์เซโลน่า, อาร์เซน่อล, แมนฯ ยูไนเต็ด หรือ ยูเวนตุส (จนทำให้เกมฟีฟ่าต้องเปลี่ยนชื่อยูเว่ เป็น พายมอนเต้ กัลโช่ เพราะใช้ชื่อยูเว่ไม่ได้) แต่ในภาพรวม PES เดินเกมช้าไปแล้ว พวกเขาไล่ FIFA ที่ครองตลาดโลกเอาไว้ไม่ทัน
10
สุดท้าย PES รีแบรนด์ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น eFOOTBALL แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เป็นชัยชนะที่เด็ดขาดของค่าย EA ที่มีต่อโคนามิ
3
--------------------------
กลับมาที่ประเด็นการแยกทาง ของ FIFA กับ EA ที่เรากล่าวไว้ตอนแรก
ทุกคนทราบดีว่า การที่เกม FIFA โค่น PES แล้วขึ้นมาครองโลกได้ ประกอบด้วยเหตุผล 2 ข้อหลัก ข้อแรกคือ พวกเขาเป็นเกม Official ของ FIFA และข้อที่ 2 คือพวกเขา ใช้ชื่อจริง โลโก้จริงทั้งเกม
เพื่อทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ขนาดนั้น EA ต้องยอมจ่ายเงินมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องจ่ายอะไรบ้าง สามารถแจกแจงได้ง่ายๆ ดังนี้
1- จ่ายให้ FIFA ปีละ 150 ล้านดอลลาร์ ในการขอใช้ "ชื่อ FIFA" เอามาเป็นชื่อแบรนด์เกม และ ได้สิทธิ์ Exclusive Right เป็นค่ายเกมเดียวที่สามารถใช้ชื่อ FIFA ได้ ในเกมฟุตบอลทุกประเภท
2
2- จ่ายเงินให้สหพันธ์ฟุตบอลระดับทวีป เช่น ยูฟ่า (เพื่อเข้าถึงการใช้สิทธิ์โลโก้ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) หรือ คอนเมโบล (เพื่อเข้าสิทธิการใช้โลโก้โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส)
3- จ่ายเงินให้ลีกของแต่ละประเทศ เช่น พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลาลีกา, ลีกเอิง และ กัลโช่ เซเรียอา เพื่อสิทธิ์ในการใช้หน้าจริงของนักเตะ และตราสโมสรจริง
6
4- จ่ายเงินพิเศษให้สโมสร ถ้ามีการขอลิขสิทธิ์นำสนามแข่งขันมาใช้อยู่ในเกม เช่น ทุกปี EA ต้องจ่ายเงินให้อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม เพราะนำสนามโยฮันครอยฟ์ อารีน่า มาอยู่ในเกมด้วย
2
เราจะเห็นว่าค่าย EA ต้องจ่ายเงินให้หลายภาคส่วนมาก แต่ทว่าเมื่อดูจากยอดขายแล้ว ที่ทำรายได้มากกว่าปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แปลว่าต่อให้จ่ายให้เยอะแค่ไหน ก็ยังได้กำไรอยู่ดี
4
ที่ต้องจ่ายให้ยูฟ่า,คอนเมโบล, ลีกต่างๆ และสโมสร ส่วนนี้ EA ไม่มีปัญหาอะไร แต่ดราม่าที่เกิดขึ้นจริงๆ อยู่ที่การเจรจากับ FIFA
3
สัญญาปัจจุบันของ EA กับ FIFA ที่เซ็นกันเมื่อ 9 ปีก่อน จะหมดลงในเดือนธันวาคม 2023 จำเป็นต้องคุยกันเพื่อต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไป
1
FIFA นั้นเข้าใจว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบ จึงขอเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ จากเดิมปีละ 150 ล้านดอลลาร์ เป็น 300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี ลองคิดดูว่าในปี 2013 จ่าย 150 ล้านต่อปี ผ่านไป 10 ปี เกม FIFA ขายดีขึ้นตั้งเท่าไหร่ จ่ายเงินเป็น 300 ล้านต่อปี ก็ถือว่าเข้าใจได้
3
ตรงนั้นไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่ดราม่าจริงๆ อยู่ที่ FIFA ขอ EA ว่าจะเปลี่ยน จากที่เคยให้ EA ครองสิทธิ์ทำเกมฟุตบอลแบบ Exclusive และเป็นค่ายเดียวที่ใช้ชื่อ FIFA ได้ ให้กลายมาเป็น Non-Exclusive Right แทน คือต้องอนุญาตให้ FIFA ไปจับมือกับเกมอื่นได้ หากมีลักษณะต่างจากเกมของ EA
4
อธิบายคือ เกมฟุตบอลในปัจจุบันมีหลายแบบ เช่น เกมวางแผนเชิงลึกแบบ Football Manager ,เกมในมือถือแบบ Dream League Soccer ,เกมแนวให้เราเป็นเอเยนต์นักบอล หรือ เกมที่ให้บทบาทเราเป็นกรรมการ เป็นต้น
1
ในมุมของ FIFA ถ้า EA อยากจะทำเกมฟุตบอลปกติในคอนโซลก็ทำไป แต่ถ้าเป็นเกมแนวอื่นๆ FIFA ก็มองว่า EA น่าจะปล่อยให้พวกเขาไปจับมือกับ Third Party เจ้าอื่นได้ เพราะมันไม่ทับไลน์กัน
แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ EA ยอมไม่ได้ เพราะชื่อ "เกม FIFA" เป็นชื่อที่พวกเขาปลุกปั้นมา ทาง FIFA จะมาตีกินง่ายๆ แบบนี้ มันบ้าไปแล้ว เงินค่าลิขสิทธิ์ก็เอาไปแล้ว ยังจะมาตัดสิทธิ์ Exclusive อีก แบบนี้ก็เกินไป แล้วถ้า FIFA เอาชื่อไปขายให้ค่ายอื่น แล้วผลิตเกมแย่ๆ ออกมา คนที่จะเสียเครดิตก็คือ EA นั่นแหละ
1
ฝั่ง FIFA กล้ายื่นข้อเสนอโหดขนาดนี้ เพราะเชื่อว่ายังไง EA ก็ต้องยอม เพราะ คิดตามคอมม่อนเซนส์ EA อุตส่าห์ปั้น "เกม FIFA" จนชื่อเสียงโด่งดังขนาดนี้ เป็นที่ติดปากของคนทั้งโลก คุณจะยอม "ทิ้งชื่อ" ไปง่ายๆ ได้ยังไง
อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้เป็นอย่างที่ FIFA ตั้งใจ เมื่อฝั่ง EA บอกว่า นี่เป็นข้อเสนอที่เอาเปรียบกันเกินไป และเลือกไม่ต่อสัญญา โดยจะยุติความสัมพันธ์หลังหมดสัญญาในปี 2023 พร้อมทั้งตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเกม เป็น EA Sports FC แทน
9
ปีเตอร์ มัวร์ หนึ่งในผู้บริหารของ EA ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ส ว่า "เราทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างแบรนด์เกม FIFA จนคนทั่วโลกรู้จัก แล้วคุณจะมาบอกว่า วันนี้ค่าย Epic Games จะมาสามารถใช้ชื่อ FIFA ร่วมกับเราได้อย่างนั้นหรือ? ใครจะไปยอมกัน"
2
สถานการณ์ล่าสุด ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มั่นใจมาก ว่าการแยกทางครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อองค์กรตัวเอง
3
ฝั่ง EA มั่นใจ เพราะเชื่อว่า คนที่เขาเลือกเล่นเกม FIFA ไม่ใช่เพราะ "ชื่อเกม" แต่เป็นเพราะระบบเอ็นจิ้น และโหมด Fifa Ultimate Team ต่างหาก ดังนั้นต่อให้เปลี่ยนชื่อ จาก FIFA เป็นชื่ออื่น คนก็ยังตามมาเล่นอยู่ดี แค่ชื่อเอง มันจะไปมีผลอะไรขนาดนั้น
1
มีกรณีศึกษาอยู่แล้ว ในเคสของเกม CM (Championship Manager) ที่ค่ายเกม Eidos แยกทางกับผู้ออกแบบเกม โดยมั่นใจว่า ถ้ามีชื่อแบรนด์อยู่ ยังไงก็ขายได้ สุดท้ายกลายเป็นพังพินาศ เกม CM เจ๊งไม่เป็นท่า ตรงข้ามกับ ผู้ออกแบบเกม ที่ไปสร้างเกมใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น FM (Football Manager) ซึ่งก็ยังขายดิบขายดีจนถึงปัจจุบัน
4
ในทฤษฎีเดียวกัน การที่ EA เปลี่ยนชื่อ จาก FIFA เป็น EA Sports FC อาจะไม่ได้ส่งผลเสียหายขนาดนั้น เพราะตัวเกมใดๆ ก็ยังเหมือนเดิม ลิขสิทธิ์ชื่อทีม ชื่อนักเตะ ก็ยังใช้ได้เหมือนเดิม เพราะ EA ก็ยังจ่ายเงินให้พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลีกเอิง, ลาลีกา และ เซเรีย อา อยู่
5
ในมุมของ EA เชื่อว่า คนอยากเล่นเกม เพราะตัวเกม ไม่ใช่ชื่อเกม หรือการถูกรับรองจาก FIFA หรอก
3
แถมการยกเลิกสัญญากันไป ถ้าคิดดีๆ แต่ละปี ก็ไม่ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ให้ FIFA ปีละ 150 ล้าน หรือ 300 ล้านดอลลาร์อีกต่างหาก เอาเงินก้อนนี้มาพัฒนาเกมให้ดีขึ้นดีกว่า
1
ยิ่งไปกว่านั้น เราทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ทาง EA ไม่สามารถแอบใส่โฆษณาอะไรไปได้เยอะๆ ในเกม เพราะ FIFA มีผู้สนับสนุนของตัวเองอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งแบรนด์ไนกี้ ขอเป็นสปอนเซอร์ให้ EA โดยให้แทรกโลโก้ไนกี้ให้อยู่ในตัวเกมด้วย
2
แต่ผลิตภัณฑ์กีฬาทางการของ FIFA คือ อาดิดาส ซึ่งเป็นคู่อริของไนกี้ ดังนั้น FIFA จึงไม่อนุมัติให้ EA เอาไนกี้ไปอยู่ในเกมได้ ซึ่งคราวนี้ เมื่อไม่ต้องอยู่ภายใต้ร่มของ FIFA อีก ทาง EA ก็จะเปิดช่องทางการทำเงินได้อย่างอิสระมากๆ
6
ข้อดีมีเยอะ แต่ในมุมความเสี่ยงก็มีเหมือนกัน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชื่อแบรนด์ FIFA" มีความแข็งแกร่งอย่างมาก อีกทั้งมันช่วยสร้างฐานผู้เล่นกลุ่มใหม่ๆ ทุกปีด้วย ในความเชื่อที่ว่า นี่เป็นเกมที่ FIFA รับรอง ก็ควรจะเป็นเกมที่ดีที่สุดในตลาด
2
บางคนเชื่อว่า ที่ EA ขาย FIFA ได้ดีๆ เพราะไม่มีตัวเลือกที่สูสีกันมากกว่า ลองดูในเกมบาสเกตบอลสิ เมื่อ EA ผลิต NBA Live ออกมา เจอคู่แข่งอย่าง 2K ผลิต NBA 2K ออกมาถล่มจนพังไม่เป็นท่า
4
และถ้าคิดดีๆ การจับมือกับ FIFA ต่อไป แม้จะเสียประโยชน์อะไรหลายอย่าง แต่ก็จะยังทำให้ EA เป็นเบอร์ 1 ของตลาดอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้นมาเปรียบเทียบ แต่เมื่อ EA ไม่จับมือกับ FIFA แล้ว อาจทำให้เกิดเกมฟุตบอลตัวใหม่ ขึ้นมาแย่งชิงคนเล่นไปก็ได้
2
อีกประเด็นที่สำคัญเช่นกันคือ "การทิ้งชื่อ" ที่เป็นเครื่องหมายการค้ามา 30 ปี แล้วเปลี่ยนใช้ชื่ออื่นแทนดื้อๆ คือจะบอกว่า ไม่มีผลกระทบอะไรเลย คงไม่ใช่แน่ๆ
ลองเปรียบเทียบเล่นๆ นะครับ อย่างสำนักข่าว "ขอบสนาม" ถ้าวันดีคืนดีเปลี่ยนชื่อบริษัทขึ้นมาเป็นอะไรสักอย่าง ต่อให้คุณบอกว่า เฮ้ย เบลล์ ขอบสนามก็ยังอยู่, เดอะ นัท ซัดหมดแม็กซ์ ก็ยังอยู่, เกมส์เอง, เปี๊ยก บางใหญ่ ฯลฯ บุคลากรของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนไปเลยสักคนเดียว เปลี่ยนแค่ชื่อบริษัทเฉยๆ ถามว่ามันจะไม่มีผลกระทบเลยสักนิดหรอ? ก็คงไม่ใช่แน่ๆ มันเป็นการโละชื่อแบรนด์ที่ผู้คนคุ้นเคยทิ้งไปดื้อๆ เลยนะ
2
ดังนั้น ก็เป็นโจทย์ของทาง EA ที่จะทำให้เห็นว่า เมื่อไม่ได้ใช้ชื่อ FIFA แล้ว พวกเขาสามารถหยัดยืนได้ด้วยคุณภาพของตัวเกมเอง
1
นั่นคือมุมของ EA ขณะที่ฝั่ง FIFA ก็เห็นข้อดีของการแยกทางครั้งนี้เช่นกัน คือก่อนหน้านี้ FIFA โดนวิจารณ์ตลอดว่า จะไปยอมให้ EA ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวทำไม 30 ปี ที่เซ็นสัญญากันมา ยังไม่นานพออีกหรือ?
2
FIFA เป็นองค์กรระดับโลกที่ค่ายเกมที่ไหน ก็อยากร่วมงานด้วยทั้งนั้น ถ้าหากคุณได้ผลิตเกม Official ของ FIFA ก็มีโอกาสที่จะขายดีไปโดยปริยาย
นอกจากนั้น ปัจจุบันค่ายเกมที่ผลิตเกมฟุตบอลได้ ไม่ได้มีแค่ EA กับ โคนามิอีกแล้ว มันมีค่ายเยอะแยะที่ทำได้ อย่าง 2K ที่ผลิตเกมบาสเกตบอลยอดฮิต NBA 2K ถ้าจะให้ทำฟุตบอลจริงๆ พวกเขาก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมา ค่ายเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะประมูลด้วยซ้ำ เพราะ EA ยึดชื่อ FIFA มาตลอด 30 ปี
3
การเดินเกมตานี้ ของจานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า ก็ถูกพูดถึงในทางบวก ว่าเข้ามาทำลายการผูกขาดของ EA และอาจทำให้โลกได้เห็นว่า เกมฟุตบอลจริงๆ มันดีกว่านี้ได้ สนุกกว่านี้ได้ ไม่ใช่มีแต่ของ EA เพียงแบบเดียวเท่านั้น
สำหรับโมเดลการหาเงินนั้น เชื่อว่าเมื่อแยกจาก EA แล้ว FIFA จะได้เงินเพิ่มขึ้นอีก เพราะสามารถเซ็นสัญญากับเกมต่างๆ ได้ พร้อมกันในคราวเดียว (อย่าลืมว่า จะไม่มี Exclusive Right อีกแล้ว) รวมถึง เราอาจจะเห็น นักเตะบางคนไปเป็น Skin ในเกมต่างๆ เช่น Fortnite หรือ PUBG ก็ได้
3
อินฟานติโน่ กล่าวว่า "ผมให้คำสัญญากับทุกคนได้ว่า เกมที่จะใช้ชื่อ FIFA ต้องเป็นเกมที่ดีที่สุด สำหรับเกมเมอร์ และ แฟนฟุตบอล" เป็นการบ่งบอกได้ว่า ต่อให้แยกทางกับ EA พวกเขาก็ไม่ได้กังวลอะไรเลย
1
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมาดูกันว่า มันคือการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ เอาจริงๆ ถ้า FIFA จับมือกับ EA ต่อไป พวกเขาจะได้เงินทุกปี ปีละ 300 ล้านดอลลาร์ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เป็นเสือนอนกินไปเรื่อยๆ
ถ้าหากค่ายใหม่ที่ FIFA จับมือด้วย ผลิตเกมออกมา แล้วแย่กว่าของ EA เยอะล่ะก็ คนก็จะมีข้อเปรียบเทียบ คราวนี้แม้แต่ 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี ก็อาจจะไม่ได้รับด้วยซ้ำ
2
บทสรุปของเรื่องนี้คือ ทั้ง EA และ FIFA เข้าใจความเสี่ยงดี แต่พวกเขาต่างเห็นประโยชน์ในอนาคต ว่าการแยกทางอาจจะสร้างรายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
1
ดังนั้นเราก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชนะตัวจริงจะเป็นใคร
2
EA ในชื่อเกมใหม่ EA Sports FC จะยังคงยึดตลาดเกมเมอร์อย่างเหนียวแน่น หรือ FIFA จะจับมือกับค่ายใหม่ ผลิตสุดยอดเกมฟุตบอลที่มาทำลายอาณาจักรความยิ่งใหญ่ของ EA ลงได้ อีกไม่นานเราก็คงจะได้รู้คำตอบ
7
#NEXTSTEPOFFOOTBALLGAME
โฆษณา