13 พ.ค. 2022 เวลา 09:10 • ธุรกิจ
แกะโจทย์ข้อคัดค้านดีลทรูดีแทค อะไรในกอไผ่
การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคถูกขัดขวางใน 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ ด้านกฎหมาย ที่มีการฟ้องร้องกสทช. จากกรณีที่กสทช. เปลี่ยนมาใช้ประกาศปี 2561 แทนประกาศปี 2553 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการให้อำนาจกสทช. พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวม มาเป็น รับทราบการควบรวม และด้านธุรกิจ ที่เอไอเอสอ้างว่า การควบรวมจะทำให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเพียงสองรายอย่างถาวร
สำหรับประเด็นด้านกฎหมายนั้น มีการมองมุมต่างว่า การฟ้องศาลในตอนนี้ ไม่สมเหตุสมผล เพราะประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ผ่านมา 4 ปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาฟ้อง ซึ่งการอ้างว่า กสทช. แก้ประกาศเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนสองรายที่ควบรวมกัน ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะการแก้ประกาศเกิดขึ้นก่อนที่เอกชนสองรายจะตัดสินใจควบรวมกันหลายปี
และในช่วงที่ผ่านมา กิจการอื่นๆ ในธุรกิจโทรคมนาคมก็ได้ดำเนินควบรวมสำเร็จ โดยใช้กฎหมายฉบับนี้มาแล้ว เช่น ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562, ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563, TOT กับ CAT ในปี 2564 และ ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต กับ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564
หากอ้างเหตุผลว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการควบรวม ก็ควรจะฟ้องร้องไปนานแล้ว แม้แต่ตอนที่ CAT ควบรวมกับ TOT ที่ก่อให้เกิดบริษัท NT ก็เป็นกรณีที่ใหญ่มาก ยังจะเหมาะสมกว่า แล้วทำไมจึงไม่ทำ แต่มาทำเอาตอนนี้ มีจุดประสงค์แอบแฝงอะไรกันแน่
นอกจากนี้ การสร้างวาทกรรมว่า ประกาศของ กสทช. ปี 2561 มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังเสี่ยงต่อการกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐาน เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการดำเนินการตามขั้นตอน และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมทุกรายก็เห็นชอบกับกฎหมายดังกล่าว
อีกด้านหนึ่งการฟ้องร้องเรื่องในอดีต ในช่วงที่กำลังมีการพิจารณาการควบรวมเป็นการเบี่ยงประเด็น ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณา และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผลเสียจะเกิดกับธุรกิจที่กำลังดำเนินการควบรวม แต่ปราศจากผู้รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น
ส่วนประเด็นที่เอไอเอออกมาขัดขวางการควบรวมนั้น มีความเห็นจากฝ่ายกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์ และสื่อบางสำนัก สอดคล้องกันในทำนองว่า หากมองในแง่ความเป็นจริง เอไอเอสไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่ออกมาค้าน เพราะเอไอเอสอยู่ในสถานะได้เปรียบที่สุด มีความแข็งแกร่งมาก มีทุนดี ไม่มีหนี้สิน และธุรกิจใหญ่ ทำกำไรงาม
ส่วนทรูและดีแทคที่อยู่ระหว่างการควบรวม ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทรูยังมีหนี้สินจำนวนมาก และดีแทคก็มีจุดอ่อนด้านบริการหลายประการ แม้หากการควบรวมสำเร็จ หลังการควบรวม ทรูและดีแทคก็ยังต้องใช้เวลาอักหลายปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง ซึ่งเป็นช่วงที่เอไอเอสสามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม การที่เอไอเอสต้องออกมาคัดค้าน หากมองในแง่ประโยชน์ ก็อาจเป็นไปได้ว่า เอไอเอสเกรงจะเสียประโยชน์จากการที่คู่แข่งจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากที่เคยทิ้งห่างกันมาก ต่อไปอาจมีโอกาสสูงที่จะโดนดึงลูกค้า
เช่น เน็ตบ้าน เนื่องจากทรูเองก็มีความแกร่งด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และด้านโปรโมชั่นที่จะต้องสู้กันหนักขึ้น ดังนั้น หากการควบรวมผ่าน เอไอเอสจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มที่เหมือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจากทันหุ้นและสยามรัฐ
โฆษณา