13 พ.ค. 2022 เวลา 15:25 • อาหาร
ถึงเวลาร่วมแรงร่วมใจช่วยปศุสัตว์ไทยขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด
สาริทธิ์ สันห์ฤทัย
การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนการผลิตของสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด ยิ่งภาคปศุสัตว์ไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2563 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ธัญพืชทุกประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ ยิ่งในส่วนของภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรที่ประสบปัญหากับการระบาดของASF ในสุกร เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์สามารถควบคุมในวงจำกัด
ล่าสุด ข้อมูลสำรวจโดยกรมปศุสัตว์พบว่า จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเหลือเพียง 109,942 ราย เป็นผลมาจากภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยง รวมทั้งสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร
ยิ่งช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรต้องดูแลสภาพอากาศในโรงเรือนเพื่อคงประสิทธิภาพความเย็นในโรงเรือนให้อยู่ในระดับคงที่ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยต้องเปิดระบบทำความเย็นแทบทั้งวัน จึงจำเป็นต้องใช้น้ำและไฟฟ้าเพื่อเดินระบบมากขึ้น บางฟาร์มมีระบบปั่นมอเตอร์พัดลมโดยใช้น้ำมัน ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่ม
สำหรับต้นทุนสำคัญ อย่างธัญพืชหลัก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ได้ปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากราคาเฉลี่ยในปี 2563 ที่ 8.97 บาทต่อกิโลกรัม และ 12.71 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเกือบ 13 บาทต่อกิโลกรัม และ 21.30 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ เช่นเดียวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ อาทิ รำข้าว ก็ปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นกว่า 30-40%
ขณะที่การเลี้ยงสุกรที่มีอยู่ขณะนี้ ทั้งแม่พันธุ์สุกร ลูกสุกรหย่านม และสุกรขุน หายไปจากระบบมากกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงและหยุดการเลี้ยงไปมากกว่าครึ่งของประเทศ ล่าสุดราคาสุกรหน้าฟาร์มทั่วประเทศที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่พอให้เกษตรกรหนีต้นทุนที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ บอกว่า ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศ ยังคงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการร่วมดูแลค่าครองชีพประชาชนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ต่อไป
ที่สำคัญ เกษตรกรผู้เลี้ยงคัดค้านอย่างถึงที่สุดกับแนวคิดการนำเข้าสุกร เพราะต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ทำหน้าที่ปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปลายข้าว ร่วม 7 ล้านครัวเรือน
รวมไปถึงเป็นห่วงโซ่สำคัญของภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าปล่อยให้มีการนำเข้าสุกรมาทำลายผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ เกษตรกรต้องล่มสลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโนอย่างแน่นอน
ส่วนนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ บอกว่า ต้องยอมรับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ในช่วงยากลำบากที่สุดในอาชีพ แต่ก็ยังมีขบวนการปั่นราคาสุกร และให้ข้อมูลด้านเดียวว่า เนื้อสุกรหน้าเขียงมีราคาสูงถึง 250 บาทต่อกิโลกรัม และใช้หลักจิตวิทยากดดันให้เกษตรกรขายสุกรมีชีวิตในราคาต่ำกว่าราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
รวมทั้งอาจหวังหากำไรจากส่วนต่าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือแม้จะขาดแคลนเนื้อสุกรค่อนข้างมาก แต่ราคาในร้านค้าจำหน่ายทั่วไปราคายังอยู่ที่กว่า 160 บาทต่อกิโลกรัม และราคาหน้าฟาร์มขายกัน 100 บาทต่อกิโลกรัมก็เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จากผลกระทบ ASF ในสุกร
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยังคงมุ่งมั่นให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และผู้เชี่ยวชาญเดินหน้าให้ความรู้กับผู้เลี้ยงรายย่อยทั่วประเทศ ให้เกษตรกรสามารถกลับมาเลี้ยงสุกรด้วยความมั่นใจ เพื่อให้มีซัพพลายกลับเข้าระบบตามเป้าหมายของภาครัฐ
“สุกร” จัดเป็นสินค้าคอมอดิตี้ ที่ราคาขึ้นลงตามภาวะอุปสงค์อุปทาน การปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี จะทำให้สามารถปรับสมดุลที่แท้จริงได้ และยังจะช่วยให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องในวงจร ตลอดห่วงโซ่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป
โฆษณา