17 พ.ค. 2022 เวลา 02:02 • ประวัติศาสตร์
“จักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire)” จักรวรรดิที่ร่ำรวยที่สุดในศตวรรษที่ 17
1
“จักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire)” คืออาณาจักรที่ร่ำรวยและมั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 17
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และมั่งคั่ง ก็คือ “ทัชมาฮาล (Taj Mahal)” หนึ่งในมรดกโลกที่ยิ่งใหญ่
นอกจากนั้น ประมุขแห่งจักรวรรดิโมกุลยังครอบครองเพชรที่มีขนาดใหญ่และล้ำค่ามากมาย รวมทั้ง “เพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor)”
1
เพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor)
เพชรโคอินัวร์มีขนาด 186 กะรัต และภายหลังได้มีการตัดแบ่ง โดยปัจจุบัน เพชรนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์สหราชอาณาจักร (Crown Jewels of the United Kingdom)
สำหรับบัลลังก์ของราชวงศ์โมกุล เรียกว่า “บัลลังก์นกยูง (Peacock Throne)” ก็เป็นอีกสิ่งที่แสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของจักรวรรดิโมกุลได้อย่างดี
บัลลังก์นกยูงนั้นทำมาจากทองคำกว่าหนึ่งตัน และอัญมณีอีก 230 กิโลกรัม และหากคิดมูลค่าในปัจจุบัน จะมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 34,000 ล้านบาท)
บัลลังก์นกยูง (Peacock Throne)
สำหรับประวัติคร่าวๆ ของจักรวรรดิโมกุลหรือ “ราชวงศ์โมกุล” นั้น ก็คือจักรวรรดิที่ปกครองดินแดนที่ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนใหญ่ในปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย โดยจักรวรรดิโมกุล เรืองอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 16-19
สำหรับผู้ปกครองจักรวรรดิโมกุลนั้น ตามเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ก็คือชาวมองโกล หากแต่ถ้าดูตามศาสนา ก็คือชาวมุสลิม และประชาชนส่วนใหญ่ในจักรวรรดิโมกุล ก็คือชาวฮินดู
จักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโมกุล คือ “จักรพรรดิบาบูร์ (Babur)” ซึ่งเป็นสายเลือดของ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)”
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
สำหรับพระประมุขที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือรัชกาลที่ 3 แห่งจักรวรรดิโมกุล นั่นคือ “จักรพรรดิอักบาร์ (Akbar)”
3
จักรพรรดิอักบาร์ได้ทรงขยายดินแดนของจักรวรรดิโมกุล อีกทั้งยังมีพระราชกรณียกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ประชาชนนับถือศาสนาได้อย่างเสรี มีการปรับปรุงหลักสิทธิมนุษยชน ปรับปรุงระบบการศึกษา
1
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงสนับสนุนการปฏิรูปที่ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง อีกทั้งทำให้อาณาจักรของพระองค์นั้นมั่นคง แข็งแรง
จักรพรรดิอักบาร์ (Akbar)
จักรวรรดิโมกุลรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชสมัยของ “จักรพรรดิออรังเซบ (Aurangzeb)” ซึ่งปกครองตั้งแต่ค.ศ.1658-1707 (พ.ศ.2201-2250)
หากแต่ในเวลาต่อมา ลูกหลานของจักรพรรดิออรังเซบนั้นอ่อนแอ และเป็นเพียงหุ่นเชิดให้แก่อังกฤษ โดยในปีค.ศ.1858 (พ.ศ.2401) บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ได้ทำการโค่นล้มและเนรเทศ “บาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ (Bahadur Shah Zafar)” จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิโมกุลออกจากบัลลังก์
3
บาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ (Bahadur Shah Zafar)
สำหรับความมั่งคั่งของจักรวรรดิโมกุล ในราวค.ศ.1700 (พ.ศ.2243) จีดีพีของจักรวรรดิโมกุล เท่ากับ 24% ของเศรษฐกิจโลก มั่งคั่งยิ่งกว่าจีนและยุโรปตะวันตกทั้งหมด
หากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน ความมั่งคั่งของจักรวรรดิโมกุลจะเท่ากับ 21 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 714 ล้านล้านบาท)
เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 17 จักรวรรดิโมกุลก็เป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรม โดยผลผลิตจากอุตสาหกรรมต่างๆ ของจักรวรรดิโมกุล เท่ากับ 25% ของผลผลิตจากทั้งโลก ดึงดูดให้ชาติในยุโรปสนใจ
1
จักรวรรดิโมกุลได้นำเข้าเครื่องเงินจากอเมริกาสเปน เครื่องเทศจากตะวันออกไกลก็ได้ถูกส่งไปยังยุโรปผ่านจักรวรรดิโมกุล
ยุโรปก็ให้ความสนใจกับสินค้าจากจักรวรรดิโมกุล โดยเฉพาะผ้าฝ้ายและผ้าไหม
สำหรับบริเวณที่มีการผลิตมากที่สุด และผลผลิตกว่าครึ่งของจักรวรรดิโมกุล ก็ได้มาจากเขตการปกครองเบงกอลซูบาห์ (Bengal Subah)
เขตการปกครองนี้มีความมั่งคั่งเท่ากับ 12% ของจีดีพีโลก ซึ่งหากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะเท่ากับจีดีพีของอิตาลี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส บราซิล และแคนาดารวมกัน
นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน บรรยายถึงดินแดนนี้ว่าเป็น “สวรรค์ของชาติ (Paradise of nations)” โดยผู้คนในเบงกอลซูบาห์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สูงที่สุดในโลก อีกทั้งค่าแรงยังสูงที่สุดในโลกในเวลานั้นอีกด้วย
เรียกได้ว่าคุณภาพชีวิตของผู้คนในดินแดนนี้สูงกว่าผู้คนในอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่ามีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในยุโรปซะอีก
เบงกอลซูบาห์ยังมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์โลกอีกอย่าง นั่นก็คือเงินที่อังกฤษปล้นจากเบงกอล ก็ถูกนำไปใช้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในศตวรรษที่ 18 สร้างความมั่งคั่งให้อังกฤษ
ภายหลังการสิ้นสลายของจักรวรรดิโมกุล อินเดียก็สูญเสียอำนาจและอิทธิพลในเวทีโลกลงไปมาก
1
แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่ทรงอิทธิพล และมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมากที่สุดชาติหนึ่ง
อินเดียจะกลับมารุ่งเรืองเทียบเท่ากับสมัยจักรวรรดิโมกุลได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นคงเป็นคำตอบ
โฆษณา