17 พ.ค. 2022 เวลา 05:57 • การเมือง
ใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้วนะ
สำหรับ กทม. ผมว่า ผู้สมัครทุกท่านรู้ปัญหา (แต่ก็รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง)​ และพยายามเสนอทางออกให้ปัญหาต่างๆ (ที่บางอย่างก็ทำไปแล้ว บางอย่างก็กำลังทำ บางอย่างก็ยังไม่ได้ทำ)​ แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือ...
ท่านว่าที่ผู้ว่าฯ มีอำนาจจะทำไหมในสิ่งที่หาเสียงไว้? มีน้ำหนักพอจะขอความร่วมมือหน่วยงานอื่น หรือระดับรัฐบาลได้ไหม? (เพราะอย่าลืมว่ากรุงเทพฯ​คือ มหานคร และเป็นหัวใจของประเทศไทย หน่วยงานรัฐสำคัญทั้งหมด และรัฐบาลตั้งอยู่ใน กทม. และควรมีส่วนแก้ปัญหาหรือให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ปล่อยให้ กทม. ทำกันเองอย่างเดียว)​
ถ้าต้องใช้งบประมาณ กทม. มีงบประมาณไหม? ถ้าไม่มีจะหาที่ไหน ด้วยวิธีใด? อะไรที่ กทม. ควรทำเอง? อะไรที่ควรให้สิทธิ์​เอกชน แล้ว กทม. ควบคุม? อะไรที่ควรเดินหน้าร่วมทุน และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ? (อย่ากลัวคำว่าเอื้อเอกชน ถ้าท่านทำเองไม่ได้ดีกว่าเขา)​
ท่านทราบข้อจำกัดของกรุงเทพในด้านต่างๆไหม? (งบประมาณ ที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ประชากรศาสตร์ ระบบภาษี กฎหมาย และสำคัญสุดคือคน)​ ท่านคิดว่าจะแก้ข้อจำกัดต่างๆด้วยวิธีใด?
หากไม่ปลดล๊อก ข้อจำกัดต่างๆ การบริหารงานเมืองในรูปแบบใหม่ๆย่อมทำได้ยาก การทำงานแบบข้าราชการ คือ ป้องกันตัวเอง ไม่ทำผิด พยายามไม่ให้โดนร้องเรียน ทำตามกฎหมาย ระเบียบ และใช้ตัวหนังสือในกฎระเบียบบริหารงาน โดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลง (ทำยังไงไม่ให้โดน 157 ก็พอ) ต่อให้ดีกับเมือง กับประชาชน แค่ไหน ถ้ากฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ หรือไม่มีระเบียบกำหนดให้ทำได้ ย่อมไม่มีใครกล้าทำ
ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงสิ่งแวดล้อม โลกหมุนเร็ว แต่กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ มันหมุนไม่ทัน หากเดินตามกฎหมาย หรือระเบียบเหมือนเดิม เราก็จะได้กรุงเทพฯ​แบบเดิมๆ แถมกระบวนการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือระเบียบ ก็มักจะช้า
เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวก และทางลบ ต่ออำนาจ ผลประโยชน์ และคน ซึ่งต้องผ่านไม่รู้กี่ด่านถึงจะเปลี่ยนกฎหมาย หรือระเบียบได้ จึงเป็นที่มาของปัญหาซ้ำซากที่ไม่ได้รับการแก้ไขเสียที และ สุดท้าย กฎหมาย และ ระเบียบ (เก่าๆ)​ จะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ สิ่งหนึ่งสิ่งใด
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆสำหรับ ว่าที่ผู้ว่า กทม. คือต้องรู้จัก กทม. จริงๆ รู้จักทั้งการบริหารราชการ รู้จักคน กทม. ซึ่งรวมถึงคนที่มีทะเบียนบ้าน และไม่ได้มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯแต่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องทราบ พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา เลยหาวิธีการ ขอความร่วมมือกับคนกรุงเทพฯ เพื่อบรรเทา ปัญหาเฉพาะหน้า และวางแผนในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
เริ่มจากการปลูกฝังระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมในเด็กรุ่นใหม่ ในระบบการศึกษา (อาจต้องคุยกับกระทรวงศึกษา)​ต้องเข้าใจคนที่เกิดและโต รวมถึงผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมปัญหาที่กรุงเทพฯ มีอยู่ เพราะปัญหาทั้งหลายล้วนเกิดจาก คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯทุกคน ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้าน หรือไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่ว่าจะร่ำรวย หรือยากจน ทุกคนต้องมีส่วนในการร่วมกันพัฒนากรุงเทพฯให้น่าอยู่ได้
ต่อให้ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเก่งสักแค่ไหน ถ้าข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ คนกรุงเทพฯ ไม่ช่วยกัน บรรเทาปัญหาลง แถมยังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯท่านใหม่ มีเวลาแค่ 4 ปีในตำแหน่ง และยังแถมด้วยข้อจำกัดมากมาย รับรองว่าทำอะไรไม่ได้แน่นอน
อยากทิ้งท้ายไว้ว่า กรุงเทพฯพัฒนามาเยอะแล้ว มีสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าใครเข้ามาดำรงตำแหน่ง อยากให้สานต่อ และทำให้ดีขึ้น อย่าใช้วิธีการยกเลิก เปลี่ยน หรือเริ่มใหม่ทั้งฟมด ในทิศทางของตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะมันถือเป็นการเสียเวลา เป็นอย่างมาก
อยากให้กรุงเทพฯน่าอยู่ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมนะครับ ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกัน ในวันอาทิตย์นี้ให้เยอะๆ
ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง
17 พ.ค. 2565
โฆษณา