17 พ.ค. 2022 เวลา 22:33 • ไลฟ์สไตล์
(บทความที่ 10)
วิถีคนโสดควรออมเงินอย่างไร?
5
สำหรับนักออมที่ตั้งใจโสดหรือโสดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ อาจมีคำถามที่ทำให้สับสน จนหาคำตอบไม่เจอว่าจำเป็นต้องเก็บออมไหม หรือสามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากเท่าคนมีครอบครัว
5
ในความเป็นจริงแล้ว นักออมเงินต้องวางแผนทางการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ไม่มีรายได้ประจำจากการลงแรงทำงาน แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำหรือมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและไม่ทันได้เตรียมตัว
นักออมผู้มีวิถีความโสดเป็นของตัวเอง หากต้องการใช้ชีวิตในช่วงที่ปริ่ม ๆ จะบั้นปลาย ไม่ว่าจะเดินตามสไตล์ของตนเอง หรือวิ่งตามสโลแกนเก๋ ๆ ที่ว่า (ยัง) หล่อ สวย และรวยมาก คงต้องเริ่มเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการใช้จ่าย รวมถึงต้องเริ่มเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตด้วย
คนโสดควรจะเริ่มเก็บออมอย่างไร ?
นักออมที่มีชีวิตแบบโสดและไม่โสดหรือนักออมที่อยากจะโสด มีแนวทางในการวางแผนทางการเงินไม่แตกต่างกัน แต่ดูเหมือนคนโสดจะสามารถเก็บออมได้มากกว่าเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่านักออมคนรักครอบครัว
สำหรับแนวทางในการเก็บออม มีขั้นตอนที่ทำตามได้ไม่ยาก เพียง 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนเป้าหมายว่าในวัยเกษียณว่าต้องการใช้จ่ายวันละเท่าไร โดยใช้เกณฑ์อายุขัยในอนาคตเป็นตัวกำหนดเป้าหมาย
ตัวอย่าง นาย ก. สถานภาพ โสด ปัจจุบันอายุ 21 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 55 ปี หลังเกษียณคาดว่าจะมีอายุขัยจนถึง 75 ปี
ดังนั้น หาก นาย ก. ไม่ไปกระโดดบันจี้จัมพ์คลายเหงาในวัยเกษียณ นาย ก. จะมีชีวิตหลังวัยเกษียณประมาณ 20 ปี
หากในวัยเกษียณของนาย ก. มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย วันละ 700 บาท
ชีวิตที่เหลืออยู่ของ นาย ก. อีก 20 ปี คิดเป็น 7,300 วัน (365 วัน x 20 ปี)
นาย ก. จะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อย 5,110,000 บาท (700 บาท x 7,300 วัน)
หมายเหตุ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย การคำนวณตามตัวอย่างข้างต้น ไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่ 02 และ 04 มากำหนดค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคตของ นาย ก.
ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์รายรับ รายจ่าย เพื่อหาความสามารถในการออม
นักออมต้องรู้จัก เข้าใจ และสามารถวิเคราะห์รายรับและแยกประเภทรายจ่ายของการเงินของตนเอง ศึกษาแนวทางการประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินออม เช่น แนวทางการประหยัดภาษีเงินได้ การประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อสิ่งของหรือบริการต่าง ๆ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 วางแผนแบ่งสันปันสวนเงินออมเพื่อลงทุนในสินทรัพย์สำหรับสร้าง Passive Income ในอนาคต
ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. สถานภาพ โสด ปัจจุบันอายุ 21 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 55 ปี หลังเกษียณคาดว่าจะมีอายุขัยจนถึง 75 ปี มีเงินออมเดือนละ 15,000 บาท
นาย ก. ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมูลค่าเงินตามระยะเวลา (บทความที่ 08) และการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้าง Passive Income (บทความที่ 09) ทำให้ นาย ก. ไม่รู้จักการลงทุนโดยวิธีอื่นนอกจากการไหว้วานให้ธนาคารดูแลเงินให้
จากเป้าหมายทางการเงินของ นาย ก. ซึ่งต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อย 5,110,000 บาท (700 บาท x 7,300 วัน)
นาย ก. จึงนำเงินทั้งหมด (15,000 บาทต่อเดือน) ไปเก็บไว้ในธนาคาร ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนถึงอายุ 55 ปี (รวมระยะเวลา 34 ปี) มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 0.50 ต่อปี
เมื่อนาย ก. มีอายุครบ 55 ปี จำนวนเงินที่นาย ก. เก็บสะสม รวมผลตอบแทนจากดอกเบี้ย จะมีทั้งหมด 6,670,908.09 บาท
(นาย ก. จะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณตามเป้าหมาย 5,110,000 บาท หรือวันละ 700 บาท)
ในขณะที่อายุ 22 ปี นาย ก. มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 487.13 บาท
ในขณะที่อายุ 55 ปี นาย ก. มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 32,777.78 บาท คิดเป็นวันละ 89.80 บาท โดยประมาณ (32,777.78 บาท / 365 วัน)
หมายเหตุ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย การคำนวณตามตัวอย่างข้างต้น ไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่ 02 และ 04 มากำหนดค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคตของ นาย ก.
ตัวอย่างที่ 2 นางสาว ข. สถานภาพ โสด มีอายุ 21 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 55 ปี หลังเกษียณคาดว่าจะมีอายุขัยจนถึง 75 ปี
ดังนั้น หาก นางสาว ข. ไม่ไปเล่นรถไฟเหาะคลายเหงาในวัยเกษียณ นางสาว ข. จะมีชีวิตหลังวัยเกษียณประมาณ 20 ปี
หากในวัยเกษียณของนางสาว ข. มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย วันละ 1,000 บาท
ชีวิตที่เหลืออยู่ของ นางสาว ข. อีก 20 ปี คิดเป็น 7,300 วัน (365 วัน x 20 ปี)
นางสาว ข. จะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อย 7,300,000 บาท (700 บาท x 7,300 วัน)
หมายเหตุ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย การคำนวณตามตัวอย่างข้างต้น ไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่ 02 และ 04 มากำหนดค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคตของ นางสาว ข.
นางสาว ข. มีเงินออมเดือนละ 15,000 บาท มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมูลค่าเงินตามระยะเวลา (บทความที่ 08) และการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้าง Passive Income (บทความที่ 09) ทำให้ นางสาว ข. สามารถตัดสินใจเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับความรู้และประสบการณ์ของตนเองได้มากขึ้น
บทความนี้จะยกตัวอย่างทางเลือกของนางสาว ข. เพียง 2 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 หาก นางสาว ข. นำเงินทั้งหมด (15,000 บาทต่อเดือน) ไปเก็บไว้ในธนาคาร ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนถึงอายุ 55 ปี (รวมระยะเวลา 34 ปี) มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 0.50 ต่อปี
เมื่อนางสาว ข. มีอายุครบ 55 ปี จำนวนเงินที่นางสาว ข. เก็บสะสม รวมผลตอบแทนจากดอกเบี้ย จะมีทั้งหมด 6,670,908.09 บาท
(นางสาว ข. จะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณตามเป้าหมายที่ 7,300,000 บาท หรือวันละ 1,000 บาท แต่น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่เหลือได้)
ในขณะที่อายุ 22 ปี นางสาว ข. มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 487.13 บาท
ในขณะที่อายุ 55 ปี นางสาว ข. มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 32,777.78 บาท คิดเป็นวันละ 89.80 บาท โดยประมาณ (32,777.78 บาท / 365 วัน)
ทางเลือกที่ 2 (นางสาว ข. เข้าใจดีว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่นางสาว ข. เลือกที่จะเสี่ยงเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้)
2.1 นางสาว ข. นำเงินจำนวนครึ่งหนึ่งที่สามารถออมได้ (7,500 บาทต่อเดือน) ไปฝากไว้ในธนาคาร ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนถึงอายุ 55 ปี (รวมระยะเวลา 34 ปี) มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 0.50 ต่อปี
เมื่อนางสาว ข. มีอายุครบ 55 ปี จำนวนเงินที่นางสาว ข. สะสม รวมผลตอบแทนจากดอกเบี้ย จะมีทั้งหมด 3,335,454.04 บาท
ในขณะที่อายุ 22 ปี มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 243.56 บาท
ในขณะที่อายุ 55 ปี มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรายปี เป็นเงิน 16,388.89 บาท คิดเป็นวันละ 44.90 บาท โดยประมาณ (32,777.78 บาท / 365 วัน)
2.2 นางสาว ข. นำเงินจำนวนอีกครึ่งหนึ่งที่สามารถออมได้ (7,500 บาทต่อเดือน) ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มมากขึ้น และนำผลตอบแทนที่ได้รับไปลงทุนต่อ ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนถึงอายุ 55 ปี (รวมระยะเวลา 34 ปี) มีผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี
เมื่อนางสาว ข. มีอายุครบ 55 ปี จำนวนเงินที่นางสาว ข. สะสม รวมผลตอบแทนจากการลงทุน จะมีทั้งหมด 9,678,562.72 บาท
ในขณะที่อายุ 22 ปี นางสาว ข. มีผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เป็นเงิน 5,400 บาท
ในขณะที่อายุ 55 ปี มีผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เป็นเงิน 615,653.09 บาท คิดเป็นวันละ 1,686 บาท โดยประมาณ (615,653.09 บาท / 365 วัน)
จะเห็นได้ว่า หากนางสาว ข. เลือกลงทุนตามทางเลือกที่ 2 จะทำให้นางสาว ข. มีเงินสะสมจากการเก็บออม การลงทุน และผลตอบแทนจากการลงทุน (รวมทางเลือกที่ 2.1 และ 2.2) เป็นเงิน 13,014,016.76 บาท
(นางสาว ข. จะมีเงินที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณตามเป้าหมายที่ 7,300,000 บาท หรือวันละ 1,000 บาท)
หมายเหตุ 1. การคำนวณดังกล่าว เพื่อให้ไม่เข้าใจยากเกินไป ใช้จำนวนเงินออมต่อเดือนของ นาย ก. และ นางสาว ข. คงที่ (ในความเป็นจริง นาย ก. และ นางสาว ข. อาจจะออมมากขึ้นหรือน้อยลง ตามรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนมี รวมถึงอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเปลี่ยนไปในแต่ละปีด้วย
นอกจากนี้ ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการรับดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการลงทุนอื่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าเสียโอกาส อัตราเงินเฟ้อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกนำมารวมในการคำนวณ)
หมายเหตุ 2 ตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการคำนวณดังกล่าว เป็นเพียงตัวเลขแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเงินออมและระยะเวลา แต่ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ 1
ขั้นตอนที่ 4 อดทน ทำตามวินัย ไม่ย่อท้อ
เนื่องจากการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ มีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ในระหว่างที่ดำเนินการตามเป้าหมาย อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ นักออมผู้ที่ความอดทน มีวินัย ไม่ย่อท้อ เข้าใจในสถานการณ์และสามารถวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมฝ่าฟันอุปสรรคและประสบความสำเร็จตามแผนทางการเงินที่วางไว้
จะเกษียณตามสไตล์ของนาย ก. หรือวิ่งตามสโลแกนเก๋ ๆ ของนางสาว ข. คุณได้สิทธิเลือก
(บทความที่ 11) ธุรกิจเล็ก ๆ จากพ่อค้าตลาดนัด หรือ แม่ค้าออนไลน์ มีวิธีคิดต้นทุนและกำไรอย่างไร?
โฆษณา