18 พ.ค. 2022 เวลา 06:28 • ธุรกิจ
(บทความที่ 11)
ธุรกิจเล็ก ๆ ของพ่อค้าตลาดนัด หรือแม่ค้าออนไลน์ มีวิธีคำนวณต้นทุนและกำไรอย่างไร?
นักออมหลาย ๆ ท่านได้นำเงินออมไปลงทุนสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการลงทุนทำธุรกิจเล็ก ๆ ตามตลาดนัด หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เมื่อขายไประยะหนึ่งก็จะเริ่มพบว่าเงินที่ลงทุนไปมีจำนวนมากขึ้นหรือลดลง แต่ยากที่ทำความเข้าใจได้ว่าส่วนไหนคือต้นทุนและส่วนไหนที่เป็นกำไร
คำถามที่พบเป็นประจำจากนักออมที่ลงทุนทำธุรกิจเล็ก ๆ ตามตลาดนัด หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ จะสอบถามเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนและกำไร และจำนวนเงินกำไรที่แท้จริงที่สามารถนำออกมาใช้จ่ายได้
ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อ โปรดทำความเข้าใจว่า บทความนี้เป็นการคำนวณต้นทุนและกำไรของธุรกิจเล็ก ๆ ในนามบุคคลธรรมดาเท่านั้น เพื่อให้นักออมที่เริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจเข้าใจได้ง่าย จึงเลือกเฉพาะบางรายการมาใช้ในการคำนวณเป็นแนวทางในเบื้องต้น และมีข้อจำกัด ดังนี้
ข้อจำกัด 1 : การคำนวณต้นทุนและกำไรของธุรกิจเล็ก ๆ ถ้าต้องการความละเอียดและถูกต้อง ควรจะนำหลักการทางด้านบัญชีมาใช้ประกอบในการคำนวณ แต่การนำหลักการทางด้านบัญชีมาใช้จะพบข้อจำกัดหลายประการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เช่น วิธีการหักค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคา ค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย ค่าเช่าฯลฯ
ข้อจำกัด 2 : ตัวอย่างด้านล่างจะไม่กล่าวถึงกฎหมายทางด้านธุรกิจ ประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ข้อจำกัด 3 : ตัวเลขในตัวอย่างทั้งหมดเป็นเพียงตัวเลขสมมติ ผู้ทำธุรกิจจำเป็นต้องหาตัวเลขที่แท้จริง เพื่อที่จะสามารถกำหนดราคาขายได้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างที่ 1
นาย ก. และ นางสาว ข. ร่วมกันขายอาหาร ประเภทข้าวและกับข้าวที่ตลาดนัดตั้งแต่วันอังคาร – วันอาทิตย์ มีรายได้จากการขายเฉลี่ยวันละ 5,000 บาท จะมีกำไรเท่าไร? (นาย ก. และนางสาว ข. ไม่มีภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจ)
เนื่องจากการขายข้าวและกับข้าว สินค้าที่ซื้อมาสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง ในระหว่างการขายไม่สามารถจดบันทึกได้ว่าขายสินค้าประเภทใด เป็นจำนวนเท่าไร การจัดทำต้นทุนรวมน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
เริ่มจากต้องหาค่าใช้จ่ายทั้งหมดของ นาย ก. และ นางสาว ข. ที่ใช้ในการสร้างรายได้ที่ตลาดนัด แยกเป็น
ค่าใช้จ่ายที่เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารในวันนั้น ประกอบด้วย :
ค่าน้ำมันรถยนต์ที่ไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาดและกลับบ้าน 200 บาท
ค่าผัก 400 บาท
ค่าเนื้อสัตว์ 1,000 บาท
ค่าข้าวสาร 500 บาท
ค่าเครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหาร 500 บาท
(เนื่องจากเครื่องปรุงบางอย่างไม่สามารถคำนวณสัดส่วนการใช้ในแต่ละวันได้ คำนวณต้นทุนค่าเครื่องปรุงให้หมดไปในวันที่จ่ายเงินจะสะดวกที่สุด)
ค่าก๊าซหุงต้ม 380 บาท (เนื่องจากไม่สามารถคำนวณสัดส่วนการใช้ก๊าซในแต่ละวันได้ คำนวณต้นทุนค่าเครื่องปรุงให้หมดไปในวันที่จ่ายเงินจะสะดวกที่สุด)
ค่าไฟฟ้าต่อการหุงข้าว 1 ครั้ง 10 บาท
ค่าไฟจากการแช่เนื้อสัตว์ 10 บาท
ค่าน้ำประปาที่ใช้ในการประกอบอาหาร 30 บาท
รวมค่าใช้จ่ายวัตถุดิบ เป็นเงิน 3,030 บาท
ค่าใช้จ่ายในการขายอาหาร ประกอบด้วย
ค่าน้ำมันรถยนต์ไปขาย-กลับบ้าน 200 บาท
ค่าเช่าที่ตลาดนัด 100 บาท
ค่าเสียโอกาสจากการไปทำงานอื่น (ค่าแรง) ของนาย ก. 350 บาท (สามารถปรับตามความเป็นจริงที่เห็นว่าเหมาะสม)
ค่าเสียโอกาสโอกาสจากการไปทำงานอื่น (ค่าแรง) ของนางสาว ข. 350 บาท (สามารถปรับตามความเป็นจริงที่เห็นว่าเหมาะสม)
ค่าถุงพลาสติก หนังยาง 100 บาท
ค่าเสื่อมรถยนต์ (กรณีซื้อรถยนต์เพื่อขายสินค้า) สมมติ ซื้อรถยนต์มาทั้งหมด 600,000 บาท คาดว่าใช้งานได้ 5 ปี (หรือ 1,825 วัน) คิดเป็นวันละ 328.77 บาท คำนวณจาก 600,000/1,825 วัน)
(กรณีวันไหนไม่ขายสินค้าก็ยังมีค่าเสื่อมรถยนต์เรื่อยๆ หากทำบัญชีเป็นรายเดือนจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนกว่า)
ค่าเสื่อมอุปกรณ์ (เครื่องครัวต่าง ๆ) สมมติ ซื้ออุปกรณ์มาทั้งหมด 6,000 บาท คาดว่าใช้งานได้ 4 ปี (หรือ 1,460 วัน)
คิดเป็นวันละ 4.11 บาท (กรณีวันไหนไม่ขายสินค้าก็ยังมีค่าเสื่อมอุปกรณ์เรื่อยๆ หากทำบัญชีเป็นรายเดือนจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนกว่า)
ค่าน้ำยา และค่าน้ำสำหรับล้างอุปกรณ์ 20 บาท
จากยอดขายดังกล่าว จะทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีเงินได้พึงประเมินภาษี ราว ๆ 10% คิดเป็น 200 บาท/วัน โดยประมาณ
รวมค่าใช้จ่ายในการขาย = 1,652.88 บาท
รายได้ – ต้นทุนวัตถุดิบ – ค่าใช้จ่ายในการขาย = กำไร
5,000 – 3,030 – 1,652.88 = กำไร 317.12 บาท
ดังนั้น หากนาย ก. และ นางสาว ข. ต้องการแบ่งกำไร 50% ไว้ในธุรกิจเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมหรือสำหรับขยายธุรกิจ นาย ก. และนางสาว ข. จะสามารถนำกำไรไปใช้ได้ 168.56 บาท (337.12/2) หาก นาย ก. และ นางสาว ข. ไม่แบ่งกำไรไว้ในธุรกิจเลย จะสามารถนำกำไรไปใช้ได้ 337.12 บาท
ตัวอย่างที่ 2
นางสาว ค. ขายตุ๊กตาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มียอดขายเฉลี่ยวันละ 4,000 บาท มีภาระดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคารวันละ 20 บาท โดยประมาณ (เงินกู้ 800,000 อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี) มีการจ้างพนักงานเพื่อทำการหุ้มห่อสินค้า 1 คน ค่าแรง 400 บาท
ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนสินค้า ประกอบด้วย :
ค่าน้ำมันรถยนต์ที่ไปซื้อตุ๊กตา = 200 บาท
ค่าตุ๊กตา = 1,500 บาท
รวมต้นทุนสินค้า = 1,700 บาท
ค่าใช้จ่ายในการขาย ประกอบด้วย
ค่าแรงพนักงาน 400 บาท
ค่าอินเตอร์เน็ต วันละ 21.37 บาท (คำนวณจากแพ็คเกจราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 640.93 บาท)
ค่ากล่องและวัสดุหุ้มห่อสินค้า 100 บาท
ค่าไฟฟ้าวันละ 10 บาท
ค่าเสียโอกาสโอกาสจากการไปทำงานอื่น (ค่าแรง) ของนางสาว ค. 350 บาท (สามารถปรับตามความเป็นจริงที่เห็นว่าเหมาะสม)
ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ถ่ายภาพ สมมติวันละ 41.90 บาท (30,000 บาท/1,070 วัน คำนวณจากราคาอุปกรณ์ 30,000 บาท คาดว่าใช้งาน 2 ปี)
(กรณีวันไหนไม่ขายสินค้าก็ยังมีค่าเสื่อมอุปกรณ์เรื่อยๆ หากทำบัญชีเป็นรายเดือนจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนกว่า)
ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ที่ใช้ในการขาย เช่น Notebook PC หรือ Smart Phone สมมติวันละ 14.02 บาท (15,000 บาท/1,070 วัน คำนวณจากราคาอุปกรณ์ 15,000 บาท คาดว่าใช้งาน 2 ปี)
(กรณีวันไหนไม่ขายสินค้าก็ยังมีค่าเสื่อมอุปกรณ์เรื่อยๆ หากทำบัญชีเป็นรายเดือนจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนกว่า)
ค่าส่วนแบ่งจ่ายแพลตฟอร์มออนไลน์ 2% เป็นเงิน 80 บาท (4,000 x 2%)
จากยอดขายดังกล่าว จะทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีเงินได้พึงประเมินภาษี ราว ๆ 10% คิดเป็น 160 บาท/วัน โดยประมาณ
รวมค่าใช้จ่ายในการขาย = 1,177.29 บาท
รายได้ – ต้นทุนวัตถุดิบ – ค่าใช้จ่ายในการขาย = กำไร
4,000 – 1,700 – 1,177.29 = กำไร 1,122.71 บาท
เนื่องจากนางสาว ค. มีภาระเงินกู้ จะต้องหักไว้ส่วนหนึ่งจากเงินกำไร 1,122.71 บาท เพื่อชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนดหรืออาจชำระเพิ่มเติมได้ตามที่นางสาว ค. เห็นสมควร (สมมติว่านางสาว ค. หักเงินต้นไว้ 250 บาทต่อวัน และดอกเบี้ย 20 บาทต่อวัน) กรณีนี้ นางสาว ค. จะสามารถนำเงินกำไรไปใช้ได้เพียง 852.71 บาท (1,122.71 – 250 – 20)
หลังจากแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับชำระเงินกู้จากธนาคารพร้อมดอกเบี้ยแล้ว นางสาว ค. อาจวางแผนแบ่งกำไร (จากเงินที่เหลือหลังชำระเงินกู้) ไว้ในธุรกิจ เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมหรือสำหรับขยายธุรกิจ หรือสามารถนำไปใช้ส่วนตัวได้ตามที่เห็นสมควร
สิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ คือการเข้าใจรายการทางการเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในธุรกิจซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนและการกำหนดราคาขายสินค้า/บริการ การทำธุรกิจควรมีการจดบันทึกรายการทางการเงินไว้สำหรับตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง บันทึกรายการทางการเงินจะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ธุรกิจในอนาคตได้
บทความต่อไป : "หุ้น" หนึ่งในตัวเลือกของการลงทุน
โฆษณา