18 พ.ค. 2022 เวลา 15:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
(บทความที่ 12)
“หุ้น” หนึ่งในตัวเลือกของการลงทุน
นักออมที่เริ่มเก็บสะสมเงินออมได้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มมองหาหนทางที่จะทำให้เงินออมงอกเงยขึ้นได้ บ้างก็นำไปฝากธนาคาร ลงทุนทำธุรกิจ ซื้อสลากเผื่อลุ้นรางวัล หรือลงทุนด้านอื่น ๆ ที่เห็นว่าสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้เราได้
การลงทุนในหุ้น เป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ที่ลงทุนได้ เนื่องจากหุ้นคือสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการ (บทความที่ 09) เราจึงมีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากผลกำไรที่เกิดขึ้นจากกิจการที่เรานำเงินไปลงทุนโดยที่เราไม่ต้องทำธุรกิจเอง
เราจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นจากไหนบ้าง?
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นมี 2 ประเภท
.
1. เงินส่วนแบ่งจากกำไรของกิจการ (ที่ได้ยินผ่านหูบ่อย ๆ ว่า “เงินปันผล” นั่นแหละ)
.
2. ส่วนต่างจากราคาหุ้น
สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาใหม่ ๆ อาจยังไม่เข้าใจว่าเงินปันผล และส่วนต่างจากราคาหุ้น คืออะไร ขอยกตัวอย่าง ผ่านตัวละครนาย ก. นางสาว ข. นางสาว ค. และ นางสาว ง. ดังนี้
นาย ก. และ นางสาว ข. ลงเงินกันคนละ 10,000 บาท ทำให้มีเงินทุนรวมกัน 20,000 บาท และนำเงินไปเปิดร้านขายข้าวแกง
นาย ก. และ นางสาว ข. ตกลงกันไว้ว่า เงินทุน 20,000 บาท กำหนดให้มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 20,000 หุ้น ดังนั้น ราคาหุ้นจะมีมูลค่าหุ้นละ 1 บาท
นั่นแสดงว่า นาย ก. มีหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น และ นางสาว ข. ก็มีหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น
เมื่อดำเนินธุรกิจผ่านไป 1 ปี ร้านข้าวแกงของ นาย ก. และ นางสาว ข. สามารถสร้างผลกำไรได้ทั้งหมด 40,000 บาท
นาย ก. และ นางสาว ข. จึงประชุมร่วมกันและตกลงกันว่า กำไรที่หามาได้ทั้งหมด 40,000 บาท จะแบ่งก็บไว้ 10,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการหรืออาจจะนำไปขยายกิจการในอนาคต ส่วนอีก 30,000 บาท จะนำมาจ่ายปันผลตามจำนวนหุ้นที่แต่ละคนมี
เมื่อคำนวณอัตราเงินส่วนแบ่งของกำไรต่อหุ้นแล้ว กำไร 30,000 บาท จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้หุ้นละ 1.50 บาท (คำนวณจาก เงินกำไร 30,000 บาท หารด้วย จำนวนหุ้น 2,000 หุ้น)
ดังนั้น นาย ก. และ นางสาว ข. จะได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรตามสัดส่วนที่แต่ละคนถือหุ้นอยู่
ทำให้ นาย ก. ได้รับเงินส่วนแบ่งจากกำไร เป็นเงิน 15,000 บาท (คำนวณจาก เงินปันผลหุ้นละ 1.50 บาท x จำนวนหุ้นของนาย ก. 10,000 หุ้น)
นางสาว ข. ก็ได้รับเงินส่วนแบ่งจากกำไร เป็นเงิน 15,000 บาท (คำนวณจาก เงินปันผลหุ้นละ 1.50 บาท x จำนวนหุ้นของนาย ก. 10,000 หุ้น)
ต่อมา นางสาว ค. เห็นว่ากิจการของนาย ก. และ นางสาว ข. เติบโตด้วยดี และอยากเป็นหุ้นส่วนของร้านนี้ด้วย นางสาว ค. จึงขอซื้อหุ้นต่อจากนาย ก. จำนวน 2,000 หุ้น
นาย ก. ทราบดีว่าร้านข้าวแกงที่เปิดขายอยู่ ดำเนินธุรกิจเพียงแค่ 1 ปี ก็สามารถสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นจากเงินที่ลงทุนในคราวแรกเป็นเงิน 1.50 บาทต่อหุ้น (ลงทุน 1 บาทต่อหุ้น ได้ส่วนแบ่งกำไร 1.50 บาทต่อหุ้น) หากจะขายหุ้นในราคาเดียวกันกับที่เริ่มลงทุนก็คงจะขายในราคาถูกเกินไป นาย ก. จึงเสนอขายหุ้นให้นางสาว ค. ในราคา 4 บาทต่อหุ้น
นางสาว ค. เห็นว่า หากซื้อหุ้นของ นาย ก. ที่ราคา 4 บาทต่อหุ้น ถ้าร้านข้าวแกง ยังสามารถรักษาผลกำไรเท่าเดิมได้ จะทำให้ตนเองได้รับเงินปันผล 1.50 บาทต่อหุ้น ( คิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 37.50 ต่อปี คำนวณจาก (1.50/4) x 100) ) โดยไม่ต้องลงแรงทำธุรกิจด้วยตนเอง นางสาว ค. จึงตกลงซื้อหุ้นจาก นาย ก. จำนวน 2,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4 บาท เป็นเงิน 8,000 บาท
สิ่งที่ นาย ก. ได้รับและสูญเสีย...
นาย ก. ได้รับเงินจากการขายหุ้น ทั้งหมด 8,000 บาท (ขายหุ้นจำนวน 2,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4 บาท) นาย ก. จึงมีกำไรจากการขายหุ้นทั้งหมด 6,000 บาท (คำนวณจาก 3 x 2,000 เนื่องจากนาย ก. ลงทุนในคราวแรกหุ้นละ 1 บาท ขายหุ้นให้นางสาว ค. ในราคาหุ้นละ 4 บาท ทำให้นาย ก. มีกำไรจากการขายหุ้น หุ้นละ 3 บาท)
ในขณะเดียวกัน นาย ก. ก็สูญเสียสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงของตนเองไป 2,000 หุ้น
สรุป ใน 1 ปีที่ผ่านมา นาย ก. นำเงินไปลงทุน 10,000 บาท
ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล 15,000 บาท และกำไรจากการขายหุ้น 6,000 บาท นาย ก. ได้รับผลตอบแทนที่เป็นเงินสดทั้งหมด 21,000 บาท และยังมีเงินที่ลงทุนไว้แล้ว 8,000 บาท (ในสิทธิของความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง)
สิ่งที่นางสาว ค. ได้รับ...
นางสาว ค. ได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 2,000 หุ้น และได้รับความเสี่ยงในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจากกรณีที่ร้านข้าวแกงไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ตามที่คาดหวังไว้
ถึงตรงนี้แล้ว สัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการ เป็นดังนี้
นาย ก. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 8,000 หุ้น
นางสาว ข. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 10,000 หุ้น
นางสาว ค. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 2,000 หุ้น
เวลาผ่านไป...การทำธุรกิจของร้านข้าวแกงในปีที่ 2 สามารถสร้างผลกำไรได้ 50,000 บาท นาย ก. นางสาว ข. และ นางสาว ค. จึงประชุมร่วมกัน โดยนาย ก. ต้องการให้นำเงินกำไรทั้งหมดมาจ่ายเงินปันผลเป็นเงิน 50,000 บาท แต่นางสาว ข. และ นางสาว ค. ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้จ่ายปันผลเพียงแค่ 30,000 บาท เงินที่เหลือให้เก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองฯ
เนื่องจากการอนุมัติจ่ายเงินปันผล จะนับเสียงข้างมากตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ โดยนางสาว ข. และ นางสาว ค. มีหุ้นรวมกันจำนวน 12,000 หุ้น ส่วนนาย ก. มีหุ้นเพียง 10,000 หุ้น จากผลการลงคะแนนในที่ประชุมทำให้ร้านข้าวแกงต้องนำกำไร 30,000 บาท มาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท (คำนวณจาก เงินกำไร 30,000 บาท หารด้วย จำนวนหุ้น 2,000 หุ้น)
เงินปันผลทั้งหมด 30,000 จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วน ดังนี้
นาย ก. ได้รับเงินปันผล 12,000 บาท (คำนวณจาก เงินปันผล 1.50 บาท x 8,000 หุ้น)
นางสาว ข. ได้รับเงินปันผล 15,000 บาท (คำนวณจาก เงินปันผล 1.50 บาท x 10,000 หุ้น)
นางสาว ค. ได้รับเงินปันผล 3,000 บาท (คำนวณจาก เงินปันผล 1.50 บาท x 2,000 หุ้น)
ต่อมานางสาว ง. เห็นว่ากิจการข้าวแกงร้านนี้เติบโตได้ดี จึงติดต่อซื้อหุ้นจาก นาย ก. และ นางสาว ข. แต่ไม่มีผู้ใดยอมขายหุ้นให้นางสาว ง. มีเพียงแต่ นางสาว ค. ที่ต้องการแบ่งหุ้นขายให้นางสาว ง. จำนวน 500 หุ้น ในอัตราหุ้นละ 8 บาท
นางสาว ง. เห็นว่า หากซื้อหุ้นจาก นางสาว ค. ที่ราคา 8 บาทต่อหุ้น ถ้าร้านข้าวแกงนี้ยังสามารถรักษาผลกำไรเท่าเดิมได้ จะทำให้ตนเองได้รับเงินปันผล 1.50 บาทต่อหุ้น ( คิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 37.50 ต่อปี คำนวณจาก (1.50/8) x 100) ) โดยไม่ต้องลงแรงทำธุรกิจด้วยตนเอง นางสาว ง. จึงตกลงซื้อหุ้นจาก นางสาว ค. จำนวน 500 หุ้น ในราคาหุ้นละ 8 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท
สิ่งที่ นางสาว ค. ได้รับและสูญเสีย...
นางสาว ค. ได้รับเงินจากการขายหุ้น ทั้งหมด 4,000 บาท (ขายหุ้นจำนวน 500 หุ้น ในราคาหุ้นละ 8 บาท) นางสาว ค. จึงมีกำไรจากการขายหุ้นทั้งหมด 2,000 บาท (คำนวณจาก 4 x 500 เนื่องจากนางสาว ค. ลงทุนซื้อหุ้นจากนาย ก. ในราคาหุ้นละ 4 บาท ขายหุ้นให้นางสาว ง. ในราคาหุ้นละ 8 บาท ทำให้นางสาว ง. มีกำไรจากการขายหุ้น หุ้นละ 4 บาท)
ในขณะเดียวกัน นางสาว ค. ก็สูญเสียสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงของตนเองไป 500 หุ้น
สรุป ใน 1 ปีที่ผ่านมา นางสาว ค. นำเงินไปลงทุน 8,000 บาท
ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล 3,000 บาท และกำไรจากการขายหุ้น 2,000 บาท นางสาว ค. ได้รับผลตอบแทนที่เป็นเงินสดทั้งหมด 5,000 บาท และยังมีเงินที่ลงทุนไว้แล้ว 6,000 บาท (ในสิทธิของความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง)
สิ่งที่นางสาว ง. ได้รับ
นางสาว ง. ได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 500 หุ้น และได้รับความเสี่ยงในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจากกรณีที่ร้านข้าวแกงไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ตามที่คาดหวังไว้
ถึงตรงนี้แล้ว สัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการ เป็นดังนี้
นาย ก. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 8,000 หุ้น
นางสาว ข. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 10,000 หุ้น
นางสาว ค. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 1,500 หุ้น
นางสาว ง. มีสิทธิความเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง จำนวน 500 หุ้น
ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับผู้อ่านที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ พยายามจะอธิบายสรุปแต่เกรงว่าจะไม่สามารถเข้าใจได้มากพอ จึงจำเป็นที่จะต้องเขียนออกมาให้ละเอียด เพื่อให้ผู้สนใจที่จะลงทุนในหุ้นได้ทราบรายละเอียดว่าการลงทุนในหุ้นคืออะไร และจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบไหนบ้าง
เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วว่าหุ้นคืออะไร ทีนี้ลองหันไปองรอบ ๆ ตัวเรา ว่ามีกิจการอะไรที่เราเห็นหรือใช้บริการอยู่ทุกวัน เราก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด เช่น สถานีบริการน้ำมัน ปตท. Esso PT หรือ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 และกิจการอื่น ๆ อีกมาก เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนไม่มาก สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเงินออมของเราได้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง
บทความต่อไป : ลงทุนหุ้นต้องรู้อะไรบ้าง?
โฆษณา