23 พ.ค. 2022 เวลา 07:00 • ข่าว
พินัยกรรมสำคัญอย่างไร...หากไม่ได้ทำไว้ใครมีสิทธิ์รับมรดกและชดใช้หนี้แทน?
การทำพินัยกรรม อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ต่างๆ แต่หากพินัยกรรมไม่ได้ถูกทำไว้และเจ้าของมรดกเสียชีวิตไปก่อน ใครบ้างที่จะมีสิทธิ์รับมรดกหรือรับผิดชอบหนี้สินต่างๆ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน
พินัยกรรมสำคัญอย่างไร?
พินัยกรรม เป็นเอกสารที่ใช้ระบุถึงความต้องการของเจ้ามรดก เมื่อเสียชีวิตไปแล้วต้องการมอบทรัพย์สินให้ใครบ้าง โดยพินัยกรรมจะต้องทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด จึงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยผู้ทำจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  • มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป
  • ไม่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในขณะที่ทำพินัยกรรม
มรดกคืออะไร?
มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เสียชีวิต ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
โดยสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตนั้น คือ ทรัพย์สินทุกชนิดที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิต สิทธิผูกพันในสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสิทธิหน้าที่ต่างๆ เช่น หน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า กองมรดกของผู้เสียชีวิต
*** หนี้สิน ถือเป็นมรดก และหน้าที่ในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ก็จะตกแก่ทายาทด้วย
แต่การรับผิดชอบชำระหนี้นี้จะไม่เกินจากที่ทายาทได้รับมรดก เช่น ทายาทได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิตมูลค่า 5 ล้านบาท แต่ผู้เสียชีวิตมีหนี้สินที่ยังชำระไม่หมดอยู่ที่ 7 ล้านบาท ดังนั้นทายาทอาจสละสิทธิ์ไม่รับมรดกเลย หรือจะรับมรดกแล้วนำมาชำระหนี้มูลค่า 5 ล้านบาท ก็ได้
เมื่อเสียชีวิต ใครมีสิทธิ์รับมรดก?
เมื่อเสียชีวิตมรดกต่างๆ จะตกทอดไปสู่ทายาท โดยในทางกฎหมายจัดลำดับทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ทายาทโดยพินัยกรรม
ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกตามที่ผู้เสียชีวิตกำหนดไว้ในพินัยกรรม ซึ่งจะเป็นลูกหลาน บิดามารดา ญาติพี่น้อง หรืออาจเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็ได้ โดยทายาทประเภทนี้เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม
2. ทายาทโดยธรรม
หากไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะตกทอดสู่ทายาทโดยธรรม ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ และแต่ละลำดับจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกก่อนหลัง ดังนี้
  • ผู้สืบสันดาน (ลูก, หลาน, เหลน, โหลน, ลื้อ)
  • บิดามารดา
  • พี่น้องร่วมบิดามารดา
  • พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดา
  • ปู่ ย่า ตา ยาย
  • ลุง ป้า น้า อา
สำหรับคู่สมรสจะถือเป็นทายาทต่อเมื่อมีการจดทะเบียนกันแล้วเท่านั้น โดยทางกฎหมายจะนับเป็นทายาทลำดับเดียวกับบุตร แต่จะแตกต่างกันที่สิทธิ์การรับมรดกซึ่งจะมี 2 สิทธิ์ คือ ครึ่งหนึ่งของสินสมรส และสิทธิ์รับมรดกของผู้เสียชีวิต
ดังนั้นพินัยกรรมจึงมีความสำคัญ และไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเฉพาะในกลุ่มผู้มีสินทรัพย์เยอะๆ เท่านั้น แต่ใครก็สามารถทำได้ เพราะมรดก ไม่ได้หมายถึงแค่เงินของผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงที่ดิน เงินที่ลูกหนี้ยืมไป ดอกเบี้ย ค่าเช่า บ้าน เงินปันผลกองทุน ประกันต่างๆ รวมถึงหนี้สินของผู้เสียชีวิตด้วย
โฆษณา