20 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • การศึกษา
👩‍🎓 เดือนนี้เป็นเดือนที่หลายมหาวิทยาลัยจัดพิธีรับปริญญา บัณฑิตใหม่ต่างก็เฉลิมฉลองกับความสำเร็จอันเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิต
แอดมินก็ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ที่จบการศึกษาในปี 2564 (ที่เลื่อนมารับปริญญาในปี 2565) รวมถึงว่าที่บัณฑิตที่จะจบการศึกษาในปี 2565 ทุกคนนะครับ
📖 เรื่องหนึ่งที่หลายคนสงสัยกันมานานคือ ทำไมคำว่า “บัณฑิต” ถึงอ่านว่า [บัน-ดิด] ทั้งที่ปกติตัว ฑ จะต้องอ่านเป็นเสียง [ท] สิ
หลายคนจำกันว่ามันเป็นข้อยกเว้นของตัว ฑ ที่จะอ่านเป็นเสียง [ด] ในบางคำเช่น บัณฑิต, มณฑป, บัณเฑาะว์/ก์
แต่ที่จริงแล้ว สาเหตุที่ ฑ ของคำเหล่านี้ออกเสียง [ด] สามารถอธิบายได้ด้วยการสืบที่มาของเสียง ฑ ตั้งแต่เสียงดั้งเดิมในอินเดียของภาษาบาลี-สันสกฤต จนมาถึงการออกเสียงแบบไทยในปัจจุบัน
📖 ตัวอักษร ฑ (ड) มีเสียงอ่านแบบอินเดียคือ [ɖ] หากอธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดคือ “เสียง ด แบบม้วนลิ้น” ก็คือแทนที่จะเอาปลายลิ้นแตะปุ่มเหงือก (alveolar) แบบปกติ ก็ให้ม้วนลิ้นขึ้น (retroflex) ไปแทน
หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่าเสียงม้วนลิ้นเป็นอย่างไร มันก็คือเสียงชนิดเดียวกับ zh, ch, sh, r ในภาษาจีนนั่นแหละ สำหรับคนเรียนภาษาจีนคงรู้กันดีว่ากว่าจะพูด 4 เสียงนี้ให้ชัด ต้องฝึกม้วนลิ้นจนปวดระบมแค่ไหน
จะเห็นได้ว่าเสียงม้วนลิ้นออกเสียงยาก ทำให้ภาษาไทยรับตัว ฑ มาใช้ แต่ปรับการออกเสียงจาก [ɖ] เป็น [d] หรือเสียง ด ที่ออกเสียงง่ายกว่าแทน
หรืออาจกล่าวได้ว่าเสียง [ด] คือเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงดั้งเดิมของตัว ฑ ที่สุดแล้ว
ลองเปรียบเทียบการออกเสียงในภาษาไทย กับภาษาสันสกฤตก็ได้
- บัณฑิต (bandìt) - पण्डित (paṇḍitá)
- มณฑล (monthon) - मण्डल (maṇḍala)
- ไพฑูรย์ (phaithuun) - वैडूर्य (vaiḍūrya)
📖 ถ้าเป็นแบบนี้เสียง [ด] ก็ควรจะเป็นเสียงอ่านมาตรฐานของ ฑ สิ แต่ทำไมถึงกลายเป็นเสียง [ท] แทนล่ะ
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าภาษาไทยยังมีปรากฏการณ์ Voicing shift ที่เกิดกับ “อักษรต่ำคู่” อีกด้วย
เดิมทีอักษรต่ำคู่มีเสียงของตัวเองที่ต่างจากอักษรสูงโดยสิ้นเชิง แต่เวลาผ่านไปเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงจนออกเสียงเหมือนกับอักษรสูง ดังนี้
ค [g] > [kʰ]
ช [dʑ] > [tɕʰ]
ฑ/ท [d] > [tʰ]
พ [b] > [pʰ]
คนที่มีความรู้สัทศาสตร์ จะบอกได้เลยว่า อักษรต่ำคู่เปลี่ยนจากเสียงกัก ก้อง (voiced stop) กลายเป็นเสียงกัก ไม่ก้อง พ่นลม (aspirated voiceless stop) ซึ่งเป็นเสียงดั้งเดิมของอักษรสูง ข ฉ ฐ ถ ผ
เมื่ออักษรต่ำคู่เปลี่ยนเสียงจนเหมือนกับอักษรสูง ทำให้คนไทยแยกตัวอักษรกันที่ระดับเสียงวรรณยุกต์แทน จนกลายเป็นรูปแบบการผันวรรณยุกต์ที่เราเรียนกันว่า “อักษรต่ำคู่ผันคู่กับอักษรสูง”
📖 ในบรรดาอักษรต่ำคู่ มีเพียง ฑ ตัวเดียวที่ยังรักษาเสียงดั้งเดิมคือ [d] ไว้ได้ ถึงจะเหลืออยู่แค่บางคำเช่น
- บัณฑิต [บัน-ดิด]
- มณฑป [มน-ดบ]
- บัณเฑาะว์/ บัณเฑาะก์ [บัน-เดาะ]
- บัณฑุ [บัน-ดุ]
และด้วยตัว ฑ ยังรักษาเสียงเดิมไว้ได้ ทำให้ชื่อเมืองแถบเอเชียใต้ที่ใช้ตัว ฑ เราจะอ่านเป็นเสียง [ด] ทั้งหมดเช่น
Tamil Nadu - ทมิฬนาฑู [ทะ-มิน-นา-ดู]
Kathmandu - กาฐมาณฑุ [กาด-มาน-ดุ]
Mandalay - มัณฑะเลย์ [มัน-ดะ-เล]
เมืองกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ประเทศเนปาล
ก็หวังว่าบทความนี้จะตอบข้อสงสัยที่ค้างคาใจหลายคนว่า ทำไม ฑ ในบัณฑิต ถึงอ่านเป็นเสียง [ด] กันนะครับ
🧑‍🎓 ปล. รูปแอดมินเวอร์ชั่นบัณฑิต....เมื่อ 4 ปีที่แล้วนะ (รู้อายุกันหมด 555)
โฆษณา