20 พ.ค. 2022 เวลา 10:49 • ธุรกิจ
น้ำมันแพง...ส่องกำไร "ปั๊มน้ำมัน" ไตรมาสแรกปีนี้ แต่ละเจ้าดีแค่ไหน
ในช่วงไตรมาแรกของปี 2565 ถือเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันของโลกอยู่ในสถานการณ์ขาขึ้นแบบกระฉูดในบางช่วงขึ้นไปทำนิวไฮทะลุไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แน่นอนว่าสาเหตุหลักสำคัญคือ ผลพวงจากสถานการณ์วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เจ้าหนึ่งของโลกที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเจอวิกฤตน้ำมันแพง
กำไร 4 ปั๊มไตรมาส 1/65
ด้านบมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์(OR) ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบไตรมาส 1/2565 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย อยู่ที่ 95.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงไตรมาส 4/2564 ที่เฉลี่ยที่ระดับ 78.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และสูงกว่าช่วงไตรมาส 1/2564 ที่ระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงไตรมาส 1/2565
มีสาเหตุมาจาก
การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น รวมทั้งการเปิดประเทศเพิ่มเติม
  • การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น รวมทั้งการเปิดประเทศเพิ่มเติม
  • กลุ่ม OPEC+ มีการผลิตน้ำมันดิบได้ต่ำกว่าแผนมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการซ่อมบำรุงในประเทศบางประเทศ
  • สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและแคนาดาคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และกลุ่มประเทศยุโรปพยายามหลีกเลี่ยงการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
คาดการณ์ว่าปริมาณอุปทานน้ำมันโดยรวมจากภูมิภาคอื่นจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยลบมาจากการประกาศระบายน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) จากกลุ่มประเทศสมาชิกของสำนักพลังงานสากล (IEA) ในช่วงมีนาคม – เมษายน 2565 ปริมาณ 60 ล้านบาร์เรล เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับสถานการณ์การใช้น้ำมันในประเทศ กรมธุรกิจพลังงานรายงานภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวัน รอบ 3 เดือนปี 2565เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3% โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่เพิ่มขึ้น 55.6% กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 13.4% LPG เพิ่มขึ้น 6.6% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.4%
อย่างไรก็ตาม การใช้กลุ่มเบนซินลดลง 5.7% และน้ำมันก๊าดลดลง 7% การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.3 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.7% โดยปริมาณการใช้ปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินในเดือนมีนาคม พบว่า ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6.2%
ที่มา : ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก(โออาร์)
เนื่องจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับสูงขึ้น 10-13% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 76.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ 13.4%
ในส่วนของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.7 ล้านลิตร/วัน หรือ 61.9% สาเหตุมาจากนโยบายภาครัฐที่มีการปรับสัดส่วนการผลิตรวมทั้งรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ให้เท่ากับดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซล บี20
ส่งผลให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มี ปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่ 0.2 ล้านลิตร/วัน ภาพรวมการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากกิจกรรม
ลองมาส่องว่าในช่วงน้ำแพงมากๆ ในไตรมาสแรกปีนี้ธุรกิจปั๊มน้ำมันเบอร์ใหญ่ของไทยสามารถโกยกำไรกันไปได้มากแค่ไหนในช่วงชาวบ้านต้องควักเงินจากมากขึ้นกับค่าน้ำมันและยังต้องลุ้นทุกเย็นว่าราคาพรุ่งนี้จะขึ้นอีกกี่บาท เริ่มจาก
"โออาร์" กำไร Q1/65 ลดเกือบ 4% โดนพิษรัฐอุ้ม 'ดีเซล'
บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก(OR) ผู้ประกอบการสถานีน้้ำมันแบรนด์ 'PTT' มีกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 3,845 ล้านบาท ลดลง 3.9% เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยโออาร์มีกำไรขั้นต้นลดลง 74 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรอ่อนตัวลง 0.17 บาท
แม้ปริมาณขายจะปรับเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยกดันหลักในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐมีนโยบายตรึงราคาดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากภาวะราคาพลังงานในตลาดโลกปรับสูงขึ้นทำให้มีผลต่อการปรับราคาขายหน้าสถานีบริการ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรปรับลดลง
ส่วนเบนซินมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรปรับสูงขึ้นจากการบริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจตลาดพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นในดีเซลเป็นหลัก และน้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการบริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น
ในขณะที่น้ำมันอากาศยานปรับลดลงจากโครงสร้างราคาขายอ้างอิงกับราคาน้ำมันเดือนก่อนหน้า และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานขึ้นจากค่าบริการใช้สถานีเติมน้ำมันอากาศยาน และค่าจ้างเติมน้ำมันอากาศยานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขาย รวมถึงมีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายที่เพิ่มขึ้น
ด้านราคาขายเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก โดยภาพรวมปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้น 814 ล้านลิตร หรือ 13.8% เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการการควบคุม COVID-19
ในขณะที่ช่วง 1 ปี 2564 มีมาตรการการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวดโดยในธุรกิจตลาดพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น 618 ล้านลิตร หรือ 22.2% ในน้ำมันอากาศยานจากเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น
เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โรงไฟฟ้ามีความต้องการใช้ดีเซลและน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สำหรับปริมาณขายธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้น 196 ล้านลิตร หรือ 6.3%
จากน้ำมันดีเซลที่มีการชะลอการปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการทำให้ลูกค้ากลุ่มตลาดรถขนส่งเชิงพาณิชย์ยังคงเติบโต ในขณะที่เบนซินปรับลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นทำให้ความต้องการของลูกค้ากลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลหดตัวลง
"บางจาก" กำไรโตกระฉูด 91% เหตุธุรกิจโตทุกกลุ่ม
บมจ. บางจาก ปิโตรเลียม (BCP) ผู้ประกอบการสถานีน้้ำมันแบรนด์ 'บางจาก' มีกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 4,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมาจากทุกกลุ่มธุรกิจที่ดีขึ้นหมดซึ่งกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล-ดูไบ ซึ่งดีเซลเป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นบางจากฯ ผลิตได้มากที่สุด ส่งผลให้โรงกลั่นปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 122,100 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 102% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น
ธุรกิจการค้าน้ำมันปรับตัวดีขึ้น จากกำไรต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันเตาในกลุ่มเรือขนส่งปรับเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะที่ธุรกิจระบบขนส่งน้ำมันทางท่อและโลจิสติกส์
โดย บจก. กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) ได้เริ่มดำเนินการบริหารระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ช่วงกรุงเทพ-บางปะอิน เพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนขนส่งน้ำมัน ลดการสูญเสียระหว่างขนส่ง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
กลุ่มธุรกิจการตลาด ปรับเพิ่มขึ้น 338% จากไตรมาสก่อนโดยหลักมาจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ส่งผลให้มีกำไรจากสต็อคพิ่มขึ้น และปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 14% จากปี 2564 เนื่องจากประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 และอุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ
ธุรกิจการตลาดหรือสถานีเบริการน้ำมันจะยังคงได้รับผลกระทบด้านค่าการตลาดสุทธิ เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก และบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ
โดยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้ากับธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพยังมีกำไรเติบโตขึ้นขึ้นข้างได้ดีมาช่วยทำให้กำไรไตรมาส 1 ปีนี้ยังเติบโตได้ดี
ปั๊ม "พีที" กำไรหดหนักเกือบ 70% ผลพวงนโยบาย 'ตรึงดีเซล'
บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ผู้ประกอบการสถานีน้้ำมันแบรนด์ 'PT' มีกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 163 ล้านบาท ลดลง 69.2% เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยธุรกิจน้ำมันมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 95.4%
เมื่อเทียบจากรายได้รวม โดยบริษัทมีกำไรขั้นต้นลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะอัตราค่าการตลาดรวมที่ปรับตัวลดลง 8.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขอความร่วมมือในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของภาครัฐ
ขณะที่ทุนการขายและการให้บริการ อยู่ที่ 3.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.96 พันล้านบาท หรือ 23.6% เนื่องจาก
  • ต้นทุนน้ำมันยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสที่ 1ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 94.58 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 63% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 22.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
  • จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลประกาศขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ค้าปลีกน้ำมันให้รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระของผู้ใช้น้ำมันดีเซล
ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม การขนส่ง และการคมนาคมของประเทศ บริษัทจึงไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม และยังมียอดน้ำมันในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 1,264 ล้านลิตร ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปั๊ม "ซัสโก้" โตดี 31.90% อานิสงส์ยอดขายเพิ่ม
บมจ.ซัสโก้(SUSCO) ผู้ประกอบการสถานีน้้ำมันแบรนด์ 'SUSCO' มีกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 130.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.90% เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมีปริมาณการขายน้ำมันรวม 274.282 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.73% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
ทำให้มีรายมีรายได้รวมอยู่ที่ 7,319.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.18% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยบวกที่ทำให้รายได้จากการขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น จากปริมาณการขาย ราคาขาย และค่าการตลาดเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น
ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บรรเทาลง และการเปิดประเทศที่ททำให้ธุรกิจน้ำมันเครื่องบินกลับมาขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้รวมมากกว่า 25,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่บรรเทาลง ทำให้ยอดขายมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจค้าส่งน้ำมันไปต่างประเทศ และธุรกิจน้ำมันเครื่องบินที่สายการบินต่างๆ สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ
สำหรับธุรกิจ Non-Oil ก็มีคู่ค้าต่างๆ สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกจากนนี้จากการที่มีคู่ค้าต่างๆ สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น SUSCO จึงได้เริ่มขยายสถานีบริการขนาดใหญ่พร้อมธุรกิจ Non-oil
ภายใต้ชื่อ SUSCO Square จำนวน 2 แห่ง คือ สาขาศรีนครินทร์ บนถนนศรีนครินทร์ และสาขาพุทธบูชา ใกล้สวนธนบุรีรมย์ มีกำหนดเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ โดยทั้ง 2 สถานีบริการดังกล่าว ประกอบด้วยร้านค้าต่างๆ หลากหลาย เช่น Starbucks KFC LAWSON SUBWAY ร้านอาหาร และศูนย์บริการรถยนต์ เป็นต้น
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
โฆษณา