21 พ.ค. 2022 เวลา 04:36 • การศึกษา
การแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมด้วยเกมแฮกกาธอน (Hackathon)
เกมแฮกกาธอน (Hackathon) คือกิจกรรมกลุ่มที่มีสมาชิกหลากหลายสายงาน มีความแตกต่างกันในทีม มาร่วมแข่งขันกันสร้างไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ตามโจทย์ที่ได้รับ ภายในระยะเวลาที่จำกัด เช่น ๑๒ - ๔๘ ชั่วโมง หรือใช้ช่วงเวลาสุดสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งปกติแล้วจะจัดขึ้นโดยบริษัทหรือองค์กรด้านเทคโนโลยี โดยแต่ละทีมจะมีสมาชิกประมาณ ๒ - ๕ คน ประกอบไปด้วยพนักงานในสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักออกแบบ นักคิด และนักพัฒนา
NATO Headquarters
จุดประสงค์หลักของการจัดการแข่งขัน Hackathon คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงว่า สิ่งที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้ จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ทันที แต่มีเป้าหมายก็เพื่อฝึกฝนให้ผู้เข้าร่วมได้เตรียมพร้อม สำหรับการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
คำว่า Hackathon เกิดจากการรวมคำว่า "Hack" ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ในที่นี้ หมายถึง การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ และ "Marathon" คือการวิ่งระยะไกล หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน สำหรับงานที่ยากและใช้เวลานาน ชื่อเรียกอื่นๆ เช่น hack days, hackfests หรือ codefests เป็นต้น
เกม Hackathon มีการใช้ครั้งแรก ในการพัฒนา Cryptographic ในงาน OpenBSD ที่จัดขึ้น ณ เมืองคาลการี ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปัจจุบัน คำว่า Hackathon ถูกใช้ในแง่ของการแข่งเขียนโปรแกรมเพื่อสำรวจค้นหา งานที่ยากและใช้เวลานาน ไม่ใช่การเจาะระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ที่ต้องการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหายากๆ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
กติกาในเกม Hackathon เบื้องต้น ควรมีลักษณะดังนี้
1. โจทย์ที่ถูกกำหนดต้องมีความชัดเจน เช่น ปัญหาที่องค์กร อยากแก้ไขหรือปรับปรุงคือเรื่องอะไร
2. โจทย์ต้องสามารถบรรลุผลได้ ไม่ยากจนเกินไป ในเวลาที่กำหนด โดยโปรเจกต์ที่แต่ละกลุ่มทำเสร็จสิ้นเมื่อจบ Hackathon จะต้องมีความสำเร็จอย่างน้อยร้อยละ ๒๕% จากสิ่งที่คิด
3.จัดสมาชิกแต่ละกลุ่มให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สมาชิกในทีมแต่ละคนมีสิ่งที่จะต้องทำ และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้จัด Hackathon จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมแข่งขัน และความเชี่ยวชาญของแต่ละคน
4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม กระตุ้นให้สมาชิกร่วมกิจกรรม กล้ามีส่วนร่วมในโปรเจกต์ หรือหากเกิดสภาวะเครียด สามารถจัดกิจกรรมแทรกคั่นได้
๕. หลังจากจบกิจกรรม Hackathon ควรมีชั่วโมงแห่งความสุข (Happy Hour) เป็นงานเลี้ยงเล็กๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พบปะสังสรรค์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงบันทึกผลลัพธ์จากการจัดงาน เพื่อให้รู้ว่าสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำในครั้งต่อไป รวมทั้งเป็นการสำรวจ Feedback จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
1
ข้อจำกัดและอุปสรรคของการจัดกิจกรรม Hackathon
๑. ไม่เหมาะกับการเพิ่มยอดการตลาดของการขายสินค้า เพราะทีมไม่ใช่กลุ่มผู้บริโภค
๒. อาจเกิดปัญหาในการเข้าร่วมทีมของคนใหม่ในทีม ที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีความรู้ไม่พอในการช่วยทีม หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม จึงต้องมีผู้ประสานงาน หรือผู้ช่วย ที่เก่งและมีความสามารถ สนับสนุนให้ทีมดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างราบรื่น
๓. ต้องมีการออกแบบระบบทางกายภาพที่ดี ระหว่างการจัดกิจกรรม มิฉะนั้นจะส่งผลต่อกระบวนการของกิจกรรม ได้แก่ อาหาร(คำนึงถึงชนกลุ่มน้อย เช่น มุสลิม ผู้ไม่ทานเนื้อ เป็นต้น) เครื่องดื่ม สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น Wi-Fi คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สำหรับระดมไอเดียต่าง ๆ ปากกา กระดาษโพสต์อิต การดานไวต์บอร์ด รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอ โดยมีสัดส่วนต่อจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ ๑:๑๐
๔. พี่เลี้ยงประจำกลุ่ม (Mentor) ต้องมีสมรรถนะสูง สามารถแนะนำ ให้คำปรึกษา และประสานกลุ่มได้ โดยมีสัดส่วนต่อจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ ๑:๕
ปัจจุบันนี้ ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความคิด Start-Up ก็มักนิยมใช้ Hackathon เพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากเป็นการสร้างความสนุก และสร้างการเรียนรู้มหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย Hackathon เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ที่ทำให้พนักงานตื่นตัวและรู้สึกสนุกไปกับการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ร่วมทำงานกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ ทั้งยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรใฝ่การเรียนรู้ และนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
เกมแฮกกาธอน นอกจากเกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาองค์กร และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้องค์กรแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคัดสรรบุคลากรเข้าทำงานในองค์กร หรือคัดเลือกเข้าหลักสูตรฝึกอบรมอีกด้วย Facebook ใช้ผลการทำกิจกรรม จ้างคนเก่งในทีมชนะเข้าทำงาน และร่วมมือกับ บริษัทสร้างเกม Nintendo จัด Hackathon เพื่อหาไอเดียใหม่ๆในการสร้างภาคต่อ ของเกม Super Mario โดยมีผู้สนใจติดตามการแข่งขันในสื่อสังคมอย่างมากมาย
References:
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล รายการ "ร้อยเรื่องเมืองไทย" สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. การจัดแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วนในประเทศไทย, ออกอากาศเมื่อ ธ.ค.๒๕๖๓ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เข้าถึงได้จาก https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2563-dec3
ลงทุนแมนสื่อที่โฟกัสใน Digital Media, "รู้จัก Hackathon กิจกรรมสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่บริษัทเทค ทั่วโลกนิยมใช้ 5 ก.ค. 2021 https://www.longtunman.com/30701
Aaron Lawrence, Rasmussen University, What is a Hackathon? A Newbie's Guide to Collaborative Coding, 22 February 2016
Joshua Taubere, How to run a successful Hackathon เข้าถึงได้จาก https://hackathon.guide/
Kendra Galante, TD Ameritrade, Inc, 4 Companies Using Hackathons to Drive Product Innovation, 10 December 2015 เข้าถึงได้จาก https://freshaccounts.amtd.com/blog-details/2015/4-Companies-Using-Hackathons-to-Drive-Product-Innovation/default.aspx
Laurenellen McCann, So You Think You Want to Run a Hackathon? Think Again. 24 June, 2014 เข้าถึงได้จาก https://medium.com/@elle_mccann/so-you-think-you-want-to-run-a-hackathon-think-again-f96cd7df246a
โฆษณา