23 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
ชวนกันมองต่างมุม  เรื่อง NFT ในวงการศิลปะ
“ตลาด NFT เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน วงการ DeFi มีโอกาสมากแต่ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนครับ”
พี่พอล พูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
เล่าก่อนว่า พี่พอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ คือ Head of Venture Builder ของ KX (KASIKORN X) มีภารกิจในการสร้างและลงทุนในสตาร์ตอัป ที่มุ่งสู่ Decentralized Finance and Beyond
โดยภารกิจหลักของ KX คือ “Building Trust in the Trustless World” หรือ “การสร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ” ทำให้พลังของโลก Decentralized ไปอยู่ในมือของคนจำนวนมาก เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น มีโอกาสมากขึ้น
หนึ่งในผลงานของ KX คือ Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ที่เป็นช่องทางให้ศิลปินไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โปรโมตและขายผลงานศิลปะดิจิทัล NFT เพื่อส่งมอบให้กับนักสะสมทั่วโลกผ่านระบบ Decentralized System
วันนี้พวกเราเลยมาขอมุมมองจากพี่พอลเกี่ยวกับ #สายผลิตไม่เอาNFT งานศิลปะที่ก่อนหน้านี้เป็นที่พูดถึงกันมากในโลกโซเชียล โดยเนื้อหาในนั้นแบ่งได้เป็นหลายประเด็น คือ
🏅 1. ลิขสิทธิ์ ตัวตนศิลปิน และการขโมยผลงาน
พี่พอลบอกว่า “นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับ Coral เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกที่ต้องเริ่มให้ถูกต้อง”
ทุกวันนี้การสวมรอยศิลปินและขโมยผลงานไปขายนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถตัดต่อรูปภาพ ลบชื่อ ลบลายน้ำของศิลปินออกจากรูปได้อย่างแนบเนียน
มิจฉาชีพเข้าไปในเว็บไซต์พอร์ตฟอลิโอของศิลปิน คัดลอกตัวตน และผลงาน และนำไปสร้างตัวตน ความน่าเชื่อถือ และสวมรอยเอาผลงานของปลอมไปขายในตลาด
ผลที่ตามมาของเรื่องนี้ คือ ศิลปินจะเสียทั้งโอกาส ชื่อเสียง และสูญเสียตัวตนจากการถูกขโมยผลงานไปขาย
ส่วนผู้ซื้อก็เสียความรู้สึก เพราะนักสะสมก็ซื้อผลงานด้วยความชื่นชมในตัวศิลปิน ลองนึกดูถ้าเรามารู้ทีหลังว่าของสะสมที่ซื้อมาเป็นของปลอม เราจะรู้สึกยังไง
Coral จึงเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้ ด้วยการสร้างระบบยืนยันตัวตนศิลปิน เพื่อให้แน่ใจว่านี่คือศิลปินตัวจริง งานศิลปะ NFT ที่เอามาลงในแพลตฟอร์มจึงเป็นของแท้แน่นอน
🏅 2. การเก็งกำไร ปั่นราคา
พี่พอลมองว่า เรื่องนี้เป็น Passion Investment ชนิดหนึ่ง มันคือการลงทุนในสิ่งที่รักและหลงใหล ผู้ซื้อจะต้องชอบสิ่งนั้นจริง ๆ ถึงจะอยากได้มาครอบครอง
คล้ายกับ การลงทุนในกระเป๋าแบรนด์เนม ที่ผู้ซื้ออยากได้และเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ดี จึงมักจะมีคำพูดที่ว่า “ซื้อเอาไว้ก่อน เดี๋ยวราคามันก็ขึ้น”
เรื่องของราคาจึงขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะให้ค่ายังไง แต่ละคน แต่ละกลุ่ม ก็มีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกัน ชื่นชอบผลงานที่ไม่เหมือนกัน
แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่รากฐานสำคัญ คือ มันมีมูลค่าตามราคาที่ตีไว้จริง ๆ รึเปล่า ?
คำพูดที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนทุกครั้ง” จึงยังใช้ได้เสมอ
🏅 3. NFT มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม
พี่พอลตอบตามตรงว่า “ใช่ มันกินไฟจริง ๆ แต่เรื่องนี้ก็มีเหตุผลในตัวของมันเองนะ”
เปรียบกับสมัยก่อนเวลาเราแกะสลักศิลาจารึกเพื่อจดบันทึกข้อมูลสำคัญมาก ๆ ที่อยากให้ทุกคนในสังคมรับรู้และตรวจสอบได้ จำเป็นต้องใช้พลังงานในการจารึก
หรือ เทียบกับการตีดาบ ก็จำเป็นต้องใช้พลังความร้อนในการหลอมเหล็กให้อ่อนตัว จึงจะตีดาบเพื่อขึ้นรูปดาบได้
หลักการในการบันทึกข้อมูลที่น่าเชื่อถือบน Blockchain มีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะ Blockchain ที่ใช้ Concensus Algorithm แบบ Proof of Work (PoW) จำเป็นต้องใช้พลังงานในการยืนยันข้อมูลที่จะบันทึก อันนี้ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแบบหนึ่ง ช่วงหลังจึงมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เช่น Proof of Stake (PoS) เป็นต้น
จากนวัตกรรมนี้ทำให้ข้อมูลน่าเชื่อถือมาก ดังนั้น จึงเหมาะกับธุรกรรมที่สำคัญ เช่น การเก็บข้อมูลงานศิลปะดิจิทัล NFT หรือข้อมูลด้านการลงทุน เป็นต้น
ดังนั้น เวลาเราเลือกใช้เทคโนโลยี ต้องคำนึงถึงข้อดี และข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองจากมุมไหน
🎬 เมื่อคุยกับพี่พอลไปเรื่อย ๆ พวกเราพบว่า จุดเริ่มต้นในการสร้าง Coral ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
พี่พอลเล่าว่า ในตอนที่โควิดมาใหม่ ๆ มีคนจำนวนมากมายที่ได้รับผลกระทบ ทุกคนล้วนเผชิญกับความยากลำบาก มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
คำถาม คือ เราทำอะไรได้บ้าง ?
Coral อยากทำให้คนทำมาหากินได้ อยู่บ้านก็ทำงานได้ ไม่ว่าโควิดจะมาอีกกี่รอบ ต่อให้มีผู้ป่วยอยู่บ้านที่ต้องดูแล เราก็ทำงานไปด้วยได้
สิ่งที่ Coral มองเห็นคือมีคนไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากโลกของ DeFi ดังนั้นเราต้องการทำให้คนอีก 99% ได้ใช้พลังจากโลก DeFi เหมือนกัน
พวกเราจึงถามต่อไปว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ วันนี้ก้าวเดินไปถึงไหนแล้ว ?
พี่พอลตอบทันที “วันนี้เรายังเพิ่งเริ่มก้าวเท่านั้น มันยังมีโจทย์ที่เราต้องแก้อีกมาก”
ข้อแรก คือ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาก่อน เพราะการที่จะช่วยคนจำนวนมากได้ ต้องทำให้คนจำนวนน้อยเชื่อมั่นก่อน ซึ่งวันนี้ Coral ก็เริ่มจุดพลุเพื่อสร้างชื่อไปในระดับหนึ่งแล้ว
ข้อที่สอง ตั้งเป้าขยายออกไปตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดในประเทศไทยเป็นเพียงแค่เวทีเริ่มต้นเท่านั้น
📌 ก่อนจบพวกเราได้ถามพี่พอล ในคำถามที่หลายคนคงเคยสงสัย “NFT สามารถเอาไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมั้ย นอกจากวงการศิลปะและเกม ?”
พี่พอล ถามกลับด้วยคำถามที่ชวนคิด “ถ้าเราสามารถสร้างทรัพย์สินจริง ๆ ในโลกดิจิทัลได้ เราจะอยากสร้างอะไร ?”
ลองเทียบกับที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากมาย การที่เราจะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เราต้องไปถามจากกรมที่ดิน แต่วันนี้เราสามารถสร้างสินทรัพย์จริง ๆ ที่เอาไปลงทะเบียนไว้ใน Blockchain (เปรียบเหมือนกับกรมที่ดินในโลกดิจิทัล)
ด้วยหลักการเดียวกัน เราสามารถสร้างนวัตกรรมจากสินทรัพย์ในโลกดิจิทัลได้มากมาย ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับจินตนาการของเราเอง
ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังเป็นการเลียนแบบ และปรับปรุงใหม่ ต่อไปเราทุกคนสามารถที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ฉีกออกจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง และเป็นนวัตกรรมที่มีความหมายแก่คนจำนวนมากได้
พี่พอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์, Head of Venture Builder ของ KX
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา