23 พ.ค. 2022 เวลา 10:42 • ข่าว
“ฝีดาษลิงในไทย” 5 เรื่องต้องรู้ และ “3 ประเทศยุโรป”เสี่ยงสูง
5 ข้อเกี่ยวกับ “ฝีดาษลิงในไทย” ล่าสุดยกระดับเฝ้าระวังผู้เดินทางจาก 3 ประเทศยุโรปที่เสี่ยงสูง และฝีดาษลิงติดต่อยังไง อาการที่ต้องสังเกต
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกหรือWHOที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2565 ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ 13-21 พ.ค.2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงยืนยันแล้ว 92 ราย และเข้าข่ายสงสัย 28 รายใน 12 ประเทศ ใน 3 ทวีป คือ
ออสเตรเลีย 1-5 ราย
เบลเยี่ยม 1-5 ราย สงสัย 1-5 ราย
ฝรั่งเศส 1-5 ราย
เยอรมนี 1-5 ราย
อิตาลี 1-5 ราย
เนเธอร์แลนด์ 1-5 ราย
โปรตุเกส 21-30 ราย
สเปน 21-30 ราย สงสัย 6-10 ราย
สวีเดน 1-5 ราย
สหราชอาณาจักร 21-30 ราย
แคนาดา 1-5 ราย สงสัย 11-20 ราย
และสหรัฐอเมริกา 1-5 ราย
ฝีดาษลิงติดต่อยังไง
1.คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
2.จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
3.การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
4.อาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
5. การติดจากคนสู่คน จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
แต่สิ่งที่ยุโรปและทั่วโลก กำลังเร่งหาคำตอบ คือ การติดต่อโรคฝีดาษลิง นอกจากจะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแล้ว ยังมีกลไกอื่นที่ทำให้ติดเชื้อได้อีกหรือไม่ รวมถึงเรื่อง เชื้อมีการกลายพันธุ์จนส่งผลต่อการแพร่กระจายง่ายขึ้นหรือไม่ เนื่องจากการแพร่กระจายในยุโรปเกิดขึ้นได้เร็ว
อาการฝีดาษลิง
1.ระยะฟักตัวในร่างกายประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
2.อาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
3. ระยะ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง
4.ระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
5.อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
6. ข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษ คือในฝีดาษจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต
7. รักษาไม่มียารักษาเฉพาะ จะให้ยาต้านไวรัส cidofovir , Tecovirimat, brincidofovir และรักษาประคับประคอง
8.อัตราการเสียชีวิตประมาณ 10 % โดยมีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ
สำหรับอาการที่ประเทศไทยใช้เฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง คือ มีไข้ และตุ่ม ร่วมกับประวัติการเดินทางจากประเทศที่กำลังมีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง
การป้องกันตนเองจากฝีดาษลิง
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
5 ข้อต้องรู้ “ฝีดาษลิงในไทย”
1.ฝีดาษลิงในไทย ไม่เคยพบรายงานผู้ติดเชื้อและไม่มีเชื้อนี้ในลิงไทย ประเทศใกล้ไทยที่สุดที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยคือ สิงคโปร์ เมื่อปี 2562 เป็นชายชาวไนจีเรีย เดินทางเข้าสิงคโปร์
2.วัคซีนฝีดาษ(smallpox) สามารถป้องกันฝีดาษลิง(monkeypox)ได้ 85 % คนไทยที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่ได้รับการปลูกฝีหรือวัคซีนฝีดาษ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกประกาศว่าโรคฝีดาษหมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2523
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีวัคซีนฝีดาษ และมี 2 ประเทศที่มีการเก็บเชื้อฝีดาษ(smallpox)ไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
3.ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์(ห้องแล็ป) ในประเทศไทย สามารถตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงด้วยวิธีRT-PCR ได้
4. เมื่อ22พ.ค.2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ
5.ไทยยกระดับเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในไทย ด้วยการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษลิง ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 มี 3 ประเทศยุโรป คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส และประเทศในแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย คองโก
ข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค รายงานว่า จำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจากประเทศเสี่ยงสูง ระหว่างวันที่ 1-22 พ.ค. 65 คือ มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน
ที่มา :
กรมควบคุมโรค
กรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข
องค์การอนามัยโลก(WHO)
โฆษณา