Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เธอๆอ่านเรื่องนี้หรือยัง
•
ติดตาม
23 พ.ค. 2022 เวลา 13:12 • การ์ตูน
EP : 1,057
POISON CITY
หลังจากที่ได้อ่านมังงะหลายเรื่องจนติดใจยกให้เป็นหนึ่งในนักวาดมังงะที่ตัวผมห้ามพลาด ผมก็พยายามหางานของ อ. Tetsuya Tsutsui มาอ่านอยู่เสมอครับ จนเหลือแต่เรื่องนี้มั้งครับที่ผมยังไม่ได้อ่าน และด้วยความเชื่อใจในฝีมือทั้งการแต่งและการวาด ที่เกือบทุกเรื่องถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนต์ฉายในญี่ปุ่น
เพราะงานของ อ. แต่ละเรื่องมักจะเล่าอะไรที่ไม่เกินตัว ไม่แฟนตาซีนัก เป็นเรื่องราวดราม่าหนักๆ ที่เกิดขึ้นได้ในสังคมญี่ปุ่น ดราม่านั้นหลายครั้งสะท้อนและเสียดสีสังคมรวมถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรื่องราวอย่างนี้ถูกใจทางฝั่งภาพยนตร์นักเพราะดัดแปลงเอาไปทำไม่ยากเลย
ด้วยฝีมือที่ผ่านตามา ทำให้เรื่องนี้สำหรับผมไม่ต้องคิดมากที่จะซื้อมาอ่าน แม้จะสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าชื่อเรื่อง POISON CITY นี่จะพูดถึงเรื่องอะไร กับหน้าปกที่มีฉากหลังเป็นกองเพลิงกับฉากหน้าเป็นชายหนุ่มที่ใช้ผ้าเช็ดหน้าพันปิดจมูก น่าสนใจไม่น้อยหรือจะเกี่ยวกับมลพิษตามชื่อ นั้นคือความคิดแรกเริ่มก่อนได้อ่านเรื่องนี้ครับ
... หลังจากเกิดคดีเขย่าขวัญเมื่อเจอศพของคนตายกลางเมืองด้วยสภาพโดนกัดกิด ...... และผลพิสูจน์ออกมาว่า รอยกัดนั้นเกิดจากฟันมนุษย์ ... นั่นก็สร้างความแตกตื่นและหวาดกลัวกับการใช้ชีวิตตอนกลางคืนของผู้คนในเมืองใหญ่ แม้จากนั้นไม่นานจะจับตัวคนร้ายได้ ซึ่งคนร้ายไม่มีท่าทีขัดขืนระหว่างจับกุม แต่คำตอบที่ได้กลับสร้างความวิตกให้กับผู้เกี่ยวข้องคดีนี้ไม่น้อย .
.. เพราะคนร้ายคือคนธรรมดาที่ไม่เคยมีประวัติอะไรเสียหายเลย แถมเขาไม่รู้ด้วยว่าทำไมถึงกัดกินคนอย่างนั้น รู้แค่ว่าตอนนั้นเขาอยากกินเนื้อมนุษย์มากๆ ที่สำคัญ .... หลังกินมนุษย์เรียบร้อย ตัวเขาเองก็ยังกลับไปใช้ชีวิตทำงานตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย .... มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในตอนนี้...
และหลังจากการจับกุมคนร้ายไม่นาน ก็เกิดคดีเดียวกันนี้อีกครั้งและอีกครั้ง .... จนเหมือนกับว่าเรื่องราวการจับกุมคนร้ายคดีมนุษย์กินคนนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้น เท่านั้น....กับจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันสยองขวัญกับคดี “โหยมนุษย์” ....
........ นี่คือพล็อตเรื่องมังงะเรื่องใหม่ที่ “ฮิบิโนะ มิกิโอะ” นักเขียนกลางเก่ากลางใหม่คิดขึ้นมาได้และร่างและนำไปเสนอผู้ดูแลต้นฉบับของเขา “คุณฮิงะ” ซึ่งเมื่อฮิงะได้อ่าน ก็รู้สึกชอบ เนื้อหาเป็นอย่างมาก เพราะแม้เนื้อหาอาจจะดูไม่หนีจากเรื่องราวอื่นมากนัก แต่ก็มีดีพอที่คนอย่างเขาจะดูออกว่าถ้าวาดออกมาแล้วต้องขายดีอย่างแน่นอน... และแน่นอน เขาไฟเขียวให้ “ฮิบิโนะ” เริ่มงานเขียนต่อเนื่องเรื่องนี้ได้เลย
นี่คือข่าวดีสำหรับ “ฮิบิโนะ” ผู้เคยพลาดจากงานเรื่องแรกที่ลงต่อเนื่องได้แค่ 8 ตอนจนต้องตัดจบลงไป เพราะหลังจากนั้นชีวิตนักวาดมังงะที่ไม่มีผลงานต่อเนื่องอย่างเขาก็ต้องไปเป็นผู้ช่วยของนักวาดมังงะคนอื่นเพื่อประทังชีวิตให้รอดระหว่างนี้ ผลงานเรื่องนี้จึงเป็นความหวังใหม่ที่จะสร้างชื่อให้กับเขา
เมื่อกองบก เห็นชอบและไฟเขียวให้เขาเขียนเพื่อลงหนังสือรายสัปดาห์ได้ เขาจึงทุ่มเทให้กับการคิดและวาดผลงานเรื่องนี้ “อสูรย่ำรัตติกาล” อย่างเต็มที่
แต่ทั้งที่วาดเรื่องนี้ออกมาได้อย่างดี ได้อย่างที่เขาต้องการ คุณฮิงะของกองบก กลับแนะนำให้เขาลดฉากน่ากลัวซึ่งเป็นหัวใจของการเล่าการ์ตูนแนวสยองขวัญระทึกขวัญนี้ รวมถึงฉากเล็กๆน้อยๆ ที่เขาดูแล้วมันไม่มีอะไรต้องมานั่งกังวล “ก็เพราะกฎหมายสุขลักษณะสื่อสิ่งพิมพ์” ที่เพิ่งถูกประกาศออกมาไม่นานและมี “คณะปัญญาชน” เป็นคนพิจารณานะสิ
ถึงทำให้ตัวเขาต้องเข้ามาบอกกล่าวอย่างนี้กับนักเขียนของเขา ทั้งๆที่เขาก็ไม่อยากที่จะให้ ฮิบิโนะ ต้องลำบากใจและทำการเปลี่ยนแปลงการวาดและนำเสนอในแบบของตัวเอง
แต่เพราะเขามั่นใจ ว่าหากฮิบิโนะ ไม่ทำตามที่เขาแนะนำ ผลงานของเขาจะต้องถูกคณะปัญญาชน ทำการจัดให้เป็น “สื่อสิ่งพิมพ์อันตราย” ที่จะต้องถูกควบคุมการจำหน่าย และส่งผลให้นักวาดถูกขึ้นบัญชีและมีความเสี่ยงที่ต้องเข้าไปรับการบำบัดตามโปรแกรมพิเศษตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวจุดเปลี่ยนของนักเขียนอย่าง ฮิบิโนะ กับช่วงเวลาที่สังคมมองว่ามันหมดเวลาสำหรับอิสระในการคิดและนำเสนอเรื่องราวบางเรื่องราวแล้วใน POISON CITY ครับ
ถือเป็นเรื่องแปลกที่อยู่ๆได้มาอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นที่พูดถึงการปิดกั้นอิสระในการนำเสนอ เพราะเราก็รู้อยู่ว่า “ตลาดมังงะ” เป็นวัฒนธรรมสายหลักที่ทั่วโลกยอมรับ ด้วยความหลากหลายในแนวทางและการนำเสนอ แบบที่บ้านเราไม่สามารถทำได้ จนผมรู้สึกว่าที่ญี่ปุ่นให้อิสระเกี่ยวกับการนำเสนอมังงะที่สุดแล้ว
แต่อาจด้วยเรื่องนี้จับกระแส “โอลิมปิกปี 2020” ซึ่ง ณ เวลาก่อนเริ่มนั้น หากไม่นับว่าเจอปัญหาโควิดจนต้องเลื่อน ข่าวการกวาดล้างหรือพยายามนำการ์ตูนแนวภาพโป๊เปลือยลงจากแผงหนังสือ
นัยว่าไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติที่จะมาดูโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นตอนนั้นได้เห็น ซึ่งสำหรับต่างชาตินั้นอาจจะซีเรียสเรื่องนี้ เพราะด้วยความหลากหลายมากเกินไปของการนำเสนอที่เปิดโล่งของญี่ปุ่น ตรงจุดนี้นี่แหล่ะที่ผมรู้สึกว่าเป็นพล็อตเรื่องที่ อ. หยิบมาเล่นในกรณีถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆกับตลาดมังงะ แบบเข้มข้น มันจะเกิดอะไรขึ้นกับนักวาดมังงะครับ
ที่ผ่านมาเราได้อ่านการ์ตูนแนวนักวาดมังงะหรือกองบก กันในรูปแบบแฟนตาซี สนุกๆ หรือจะเครียดก็จะโฟกัสไปที่การพยายามแข่งขันผลิตงานมังงะเพื่อได้รับความนิยมเป็นหลักครับ เพราะฉะนั้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกของผมที่ได้อ่านการนำเสนอแนวความเป็น “อิสระ” ทางความคิดและการนำเสนอ
ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นของมังงะญี่ปุ่นที่หลายชาติไม่อาจสู้ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้มังงะของญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก การเล่าได้ถึงหัวใจคนอ่าน เป็นจุดแข็งที่มังงะทำได้ดีเสมอมา นอกจากเนื้อเรื่องที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจในความหลากหลายที่คนอ่านสามารถจะเลือกว่าตัวเองชอบแบบไหนได้แล้ว มันทำให้มังงะญี่ปุ่นกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่แข็งแรงตลอดมาครับ
แต่ในทางกลับกัน .... งานที่ผลิตออกมา มีหลายเรื่องที่ต้องยอมรับว่ามีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ในหลายๆแง่ ซึ่งเราก็จะคุ้นเคยอยู่แล้วว่ามังงะญี่ปุ่นจะมีภาพสะท้อนของความรุนแรงหรือแนวความคิดอันสุดโต่ง
ซึ่งก็ถูกสังคมตั้งคำถามว่า การปล่อยให้เรื่องบางเรื่องออกมาวางบนแผงหนังสือและให้เด็กๆเลือกซื้ออ่านกันอย่างเสรี แม้จะมีอายุกำกับก็ตาม แบบนี้มันดีแล้วเหรอ ... นี่คือจุดเริ่มต้นไอเดียที่ผมอ่านแล้วเข้าใจในความกังวลเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยครับ
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการ์ตูนที่หยิบยกเรื่องราวนักวาดมังงะมาเล่าในมุมมองที่ซีเรียส เพราะเนื้อหาที่นำเสนอเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนำเสนอ ที่มีผลต่อสังคมอยู่ไม่น้อยตามแต่ แต่ละคนจะคิดครับ ซึ่งแบบนี้ไม่เคยเจอในเรื่องอื่นซักเท่าไหร่ ครับ
ด้วยประเด็นที่ถือว่าสำคัญไม่น้อยและด้วยสไตล์การเล่าที่ออกแนวจริงจัง ตัวเรื่องเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมยกคดีหรือปัญหาต่อเนื่องเข้ามาให้เราเห็นภาพ ปัญหาของมันครับ ส่วนนึงมันให้ความคุ้นเคยกับเรื่องราวในบ้านเราอย่าง “เกมกับความรุนแรง” ไม่น้อย แต่ตัวเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่นักวาดมังงะ
ผู้ซึ่งต้องการจะนำเสนอไอเดียโดยใช้วิธีการเล่าที่มองว่าทำให้ผลงานตัวเองเป็นไปตามที่ต้องการได้ แน่นอนความคิดต่อสังคมมันอาจไม่ตรงและโดนใจคนทุกคน เพราะแต่ละนักวาดเขามีสิ่งที่ต้องการนำเสนออยู่แล้ว แต่ตัวเรื่องก็ใช้ “กลุ่มคน” ยกขึ้นมาในการตัดสินและบอกว่า
เรื่องไหนไปได้ เรื่องไหนต้องหยุด ซึ่งส่วนตัวผมมองเรื่องนี้คล้อยตามไปทั้ง 2 ฝั่งไม่น้อย ทั้งเห็นด้วยกับนักวาดในหลายๆแง่ๆ และเห็นด้วยกับกลุ่มคนอีกกลุ่มในสิ่งที่กังวล ซึ่งก็ต้องถือว่าเรื่องนี้ นำเสนอที่น่าถกเถียงกันมาเล่าด้วยเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจครับ
แม้เนื้อหาจะออกแนวซีเรียสที่เกาะกับเรื่องราวของนักเขียน กองบก และกลุ่มคนที่ตัดสินไปเรื่อยๆ แต่ อ. เขาก็ใช้วิธีการเล่าแบบผสมเข้ามาช่วยให้เรื่องดูไม่เรียบง่ายหรือน่าเบื่อจนเกินไปครับ ด้วยการเล่าเรื่องในการ์ตูนของ ฮิบิโนะ อย่าง “อสูรย่ำรัตติกาล” ผสมเข้าไปด้วย
นอกจากช่วยปรับสมาธิที่กำลังตึงอยู่กับเรื่องหลักแล้ว ยังมีความสนุกและแฟนตาซีของเรื่องอสูรนี้เข้ามาให้เราได้อ่านด้วย ในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่า หลายๆฉากตัวเอกในเรื่องอสูร กำลังทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนกับสิ่งที่ ฮิบิโนะ ผู้เขียนกำลังเผชิญอยู่ เหมือนกับว่าทั้งสองกำลังต่อสู้กับปัญหาไปพร้อมๆ กัน แม้สุดท้ายตอนจบทั้งสองจะไม่เหมือนกันก็ตามครับ
ในขณะเดียวกันเนื้อเรื่องค่อนข้างใส่อะไรหลายๆอย่างมาสนับสนุนเรื่องราวเนื้อหาที่กำลังเล่าถึงปัญหาของมันอยู่ ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆในวงการคอมมิคของทางฝั่งอเมริกา ที่เคยเกิดเรื่องคล้ายๆกันแบบนี้ จนส่งผลต่อการพัฒนาด้านคอมมิคของเขา
ซึ่งอ่านไปก็เพิ่มน้ำหนักของเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้ดีไม่น้อยเลยครับ หรือแม้แต่การใส่เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ทำให้กรณีมังงะถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อกลุ่มเด็กที่อ่าน ด้วยการยกเคสที่อ่อนไหวที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนนี้ก็เพิ่มน้ำหนักให้คนในสังคมมีทัศนคติที่ไม่ดีกับมังงะได้ไม่ยาก
อ่านสิ่งที่เรื่องราวพยายามใส่เพื่อเป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนเรื่องราวหลักของเรื่องแล้ว รู้สึกเลยครับว่า รอดยาก ซึ่งตัวเรื่องก็เล่าตรงจุดนี้ได้ดีรวมถึงหาทางออกในแง่ความเป็นไปได้ใส่เข้าไปอีกหลายๆด้านด้วยบอกเลยว่าแน่นไปตลอดทั้งเรื่องแน่นอนครับ
ถ้าว่ากันตามตรงประเด็นที่เรื่องนี้หยิบมาพูด แม้จะถูกนำเสนอโดยผ่านกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับมังงะ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยทั้งประเด็นที่ว่าความรุนแรงหรือทารุณกรรมจากมังงะ อาจจะทำให้เกิดการส่งผ่านไปยังผู้อ่านโดยเฉพาะกลุ่มคนอ่านอายุน้อยๆ
ถ้ามองในแง่นี้เราก็ได้เห็นมาตลอดว่า มังงะและเกม มักจะตกเป็นเป้าหมายอยู่เสมอ ด้วยเป็นสื่อที่มักจะถูกมองว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็กเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง ทำให้ถูกสังคมซึ่งเป็นผู้ใหญ่ตั้งคำถามมาและสงสัยมาตลอด รวมถึงบ่อยครั้งเลือกที่จะโยนความผิดในทุกๆอย่างลงไปที่ มังงะ อนิเมะและเกม ซึ่งในฐานะคนที่มีอายุไม่น้อยอย่างผม (ผู้ใหญ่ละกำลังรอเป็นกำนันอยู่)
รวมถึงเป็นสายหลักในการเสพมังงะ รวมถึงอนิเมะ (เกมไม่ค่อยเสพครับ) ผมไม่ปฎิเสธหรือยอมรับในปัญหานี้นะ เพราะส่วนนึงผมว่ามันมีผลมากหรือน้อยหรือไม่มีผลเลย แล้วแต่วุฒิภาวะ รวมถึงนิสัยของแต่ละคนที่เสพ
ซึ่งหากพูดอย่างนี้ต้องไปดูถึงครอบครัวที่แต่ละคนโตมาด้วยซ้ำว่าเลี้ยงดูให้ทัศนะคติกันมาอย่างไร ซึ่งมันจะยาวไป แต่ผมว่ามีผลทางด้านจิตใจและการเรียนรู้ไม่น้อยครับ และเห็นด้วยที่จะบอกว่ามันอยู่ที่แต่ละคนในการรับรู้ คัดกรอง หรือจะดึงส่วนดีหรือไม่ดีของแต่ละเรื่องราวที่ได้อ่านเข้ามาใส่หัวตัวเอง คนดีคิดดีอย่างไรก็ไม่มีปัญหาใช่ไหมครับ แต่หากจะเลวอยู่แล้ว อย่างไรมันก็เลวครับ
เพราะฉะนั้นการที่เรื่องนี้ ใส่กลุ่มบุคคลที่กฎหมายรับรองเอาไว้มาทำหน้าที่คัดกรอง เป็นอะไรที่ขัดกับหลักในความเป็นจริงในแง่สังคมไม่น้อย หลายๆอย่างเราควรเป็นคนคัดกรองด้วยตัวเอง อันนี้ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนะครับ
แต่ในทางกลับกัน ผมก็ปฎิเสธความจริงไม่ได้ว่า ในฐานะผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นมังงะ เกม อนิเมะแล้ว การใส่ใจว่าตัวเองกำลังทำงานอะไรออกมา เพื่ออะไร ต้องการพูดอะไร คนอ่านจะได้อะไร และสังคมจะได้อะไร เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะผลงานดีๆ มันจะมีสิ่งพวกนี้อยู่ข้างในเสมอ ไม่ใช่แค่บอกเล่าความสนุก สุดโต่งหรือความสะใจออกไปเท่านั้น
ถ้าเช่นนั้นมันจะเป็นผลงานที่ตกยุคตกสมัยไปอย่างรวดเร็วมาก สารที่อยากส่ง สิ่งที่อยากพูด เป็นสิ่งที่คนอ่านมองหาและรับรู้ได้อยู่เสมอในผลงานแต่ละเรื่องที่เขียนมาครับ มันเลยกลายเป็น 2 ด้านที่ควรควบคู่กันไป
ระหว่างคนที่กำลังผลิตผลงานออกมา กับ ฝ่ายที่ต้องดูแลซึ่งต้องพิจารณาดีๆ และถี่ถ้วนรวมถึงรอบด้านโดยไม่มีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้นำเสนอปัญหาของกลุ่มคนที่ดูแลนี้ได้เป็นอย่างดีว่าล้มเหลวเพียงใดครับ
ในส่วนของลายเส้นเรื่องนี้ค่อนข้างเบากว่าเรื่องอื่นๆ ของ อ. นะครับ ด้วยเรื่องมันพูดถึงดราม่าที่ไม่มีความแฟนตาซีเข้ามาร่วมซักเท่าไหร่ แม้จะมีการเขียนมังงะซ้อนมังงะเข้าไปให้อ่าน นั่นก็อาจจะเป็นช่วงโชว์ของสำหรับ อ. เขาก็ได้ เพราะนอกนั้นแล้วผมว่าเรื่องค่อนข้างใช้ลายเส้นในการเล่าเรื่องซะมากกว่า
ซึ่งทำออกมาได้ดีตามมาตรฐานของ อ. เขา งานมีรายละเอียดแบบที่ควรมี แต่ไม่ใส่อะไรเข้าไปมากมายนัก ภาพรวมจึงมีหลายอย่างดูโล่ง แม้รายเส้นตัวละครจะแน่นดี จริงๆออกอยากให้ใส่รายละเอียดมากกว่านี้ เพราะยิ่งเป็นงานดราม่า การยิ่งใส่รายละเอียดลงไปจะยิ่งสร้างแรงกดดันเพิ่มเข้ามาเป็นอย่างดีครับ ซึ่ง อ. ทำได้อยู่แล้วเลยแอบเสียดาย แต่เอาเป็นว่างานยังคงคุณภาพอยู่เหมือนเดิมแน่นอนครับ
POISON CITY เรื่องนี้มีทั้งหมด 2 เล่มจบนะครับกับทางค่ายเดิมที่ได้งาน LC ของ อ. มาอย่างสม่ำเสมอนั่นก็คือ สยามอินเตอร์คอมมิค ครับ ซึ่งงานหลังๆ ทำออกมาแบบ Bigbook โดยส่วนตัวผมชอบนะครับกับงานแบบนี้ เรื่องนี้ก็เช่นกัน ใครสนใจก็มองหาได้ตามร้านหนังสือ ยังหาเรื่องนี้อ่านได้อยู่ครับในตอนนี้
ถ้ามองในแง่เนื้อหา ผมว่าเรื่องนี้หนักและน่าสนใจไม่น้อยครับ เนื้อเรื่องแม้จะจำกัดวงเพราะนำเสนอในแง่วงการนักเขียนอย่างมังงะก็ตาม แต่เนื้อหาใจความมันน่าสนใจมากนะ สิ่งที่กำลังพูดถึงการปะทะกันจากสังคมที่ไม่ต้องการให้มีอะไรที่ดูหมิ่นเหม่หรือดูอันตรายไปกระทบกับเด็กๆในสังคมเลยนั้น เป็นอะไรที่แม้จะดูดีแต่งี่เง่ามากๆนะ
ในแง่นึงกลุ่มคนพิจารณาในเรื่องถูกยกให้เห็นชัดเจนว่ามีความอคติในหลายๆด้าน แต่ในหลักความจริง มันชัดเจนมากๆว่า การที่เรามัวแต่ปกป้องเด็กๆ ด้วยการเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีเลิศ
ไม่มีอันตรายอะไรให้กังวลหรือไม่มีอะไรที่ให้พวกเด็กๆ ต้องมาใช้ความคิดแยกแยะว่าอะไรดีไม่ดี ควรทำไม่ควรทำ โดยให้ผู้ใหญ่คิดแทนนั้น ผลจะออกมาอย่างไร ไม่ต้องคิดมากเลยครับ เด็กง่อยและไม่รู้ว่าอะไรคืออันตรายต่างหาก ที่สังคมแบบนั้นจะผลิตออกมา
การทดลองการเรียนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดีต่อตนเองนั้น คือเรื่องพื้นฐานของการเรียนรู้ของมนุษย์ ครอบครัวต่างหากที่จะต้องคอยสนับสนุนและแนะนำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี พร้อมกับพูดคุยกับเขา
หากพวกคุณในฐานะคนในครอบครัวทำไม่ได้ อย่าสร้างพวกเขาออกมาจากตัวคุณ เพราะนั้นหมายถึงคุณกำลังล้มเหลวกับฐานะครอบครัวอย่างแท้จริง เรื่องง่ายๆ ที่เข้าใจได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครอบครัว
อย่าผลักมันไปให้คนอื่นเข้ามาดูแล นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ควรทำไม่ใช่ตัดสินอย่างในเรื่องครับ เอาเป็นว่าสำหรับผมเรื่องนี้สะท้อนมุมมองและสังคมที่ดัด .. จิตได้เป็นอย่างดี เป็นดราม่าหนักๆ ในพื้นที่แคบๆ ที่น่าสนใจอีกเรื่องครับ ใครชอบแนวนี้แนะนำครับ
ภาพ 8/10
เรื่อง 9/10
ความประทับใจ 9/10
อ่านรีวิวเรื่องอื่นๆที่ทางเพจเคยรีวิวไว้มีกว่า 900 กว่าเรื่องตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1803100219800016&id=998161640293882
.
#Manga #รีวิวการ์ตูน #จบ #2เล่มจบ #SiamInterComics #การ์ตูนแนววงการมังงะ #การ์ตูนแนวสะท้อนสังคม #MangaAnimeReviews #การ์ตูนแนวเสียดสีสังคม #9คะแนน #PoisonCity #หนังสือการ์ตูน #Rate15 #สยามอินเตอร์คอมมิค #การ์ตูนแนวรวมดราม่า
2 บันทึก
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย