23 พ.ค. 2022 เวลา 13:14 • การตลาด
“โลตัส – บิ๊กซี” ปรับเกมอย่างไร
เมื่อเป็นแค่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขายของถูก ไม่พออีกต่อไปแล้ว
จากข้อมูลของสมาคมค้าปลีกไทยที่ออกมาวิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ปี 2565-2567 ยอดขายของร้านค้าปลีก Modern Chain Store ที่มีสัดส่วนประมาณ 32% ของตลาดค้าปลีกโดยรวมมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถูกจัดให้เป็นกลุ่มผู้ประกิบการค้าปลีกแถวหนึ่ง มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 1.5-2.5%
การเติบโตส่วนหนึ่งจะมุ่งเน้นไปการ Transform ร้านค้าจากอนาล็อคสู่ดิจิทัล แต่การขยายสาขากลับจะมุ่งเน้นไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาฟอร์แมตของสโตร์รวมถึงรูปแบบการทำตลาดแบบ Omni channel จากประเทศต้นทางคือไทย ไปสู่การปรับใช้ในหลายประเทศในย่านอาเซียน
อย่างในกรณีของเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่กำลังรุกตลาดเวียดนามอย่างเข้มข้นในเวลานี้ หรือในกรณีของบิ๊กซี จากค่ายบีเจซี ที่กำลังนำค้าปลีกแบรนด์นี้บุกตลาดทั้งเวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว เป็นต้น
ในความเปลี่ยนแปลงของตลาด มีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การแข่งขันในตลาดค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ปัจจุบันเหลือเชนใหญ่ 2 เชน คือ บิ๊กซีกับโลตัสที่กลับมาอยู่ภายใต้ชายคาของกลุ่มซีพี
ซึ่ง ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก และรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ทั้งคู่ ลดดีกรีการแข่งขันที่รุนแรงลง แล้วหันมาเน้นในเรื่องของการทำกำไร โดยการปรับรูปแบบการทำตลาดใหม่ทั้งในเรื่องของการขยายสาขา และการปรับในเรื่องของการบริหารจัดการด้านตัวสินค้า
สิ่งที่เห็นอย่างได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การปรับรูปแบบการลงทุนในเรื่องของการขยายสาขาของโลตัส ที่ไม่เน้นที่การขยายสาขาในรูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ให้น้ำหนักกับการมีพื้นที่ของสโตร์ขนาดใหญ่ แต่หันไปที่พื้นที่เช่นในส่วนของมอลล์
อย่างการเปิดสาขาเลียบคลองสอง เขตคลองสามวา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีแนวคิดในเรื่องของการเป็น Smart Community Center จุดศูนย์รวมในการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ท ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ มีความโดดเด่นและแปลกตาไปจากสาขาทั่วไป
เพราะเป็นสาขานำร่องสาขาแรกที่ถูกออกแบบในสไตล์ open air mall มีพื้นที่ร้านค้าเช่าตั้งอยู่นอกอาคารหลัก ดึงร้านอาหารแบรนด์ดังใหม่ ๆ มาร่วมเป็นพันธมิตร รวมถึงเปิดพื้นที่สำหรับ food truck และร้านค้ารายย่อยเติมเต็มความเป็น Food Destination
การเปิดสาขาในรูปแบบดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายของโลตัสคือการเป็น Smart Community Center ที่เป็นจุดศูนย์รวมสำหรับการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ทของลูกค้า นอกเหนือจากการเป็นแหล่งช้อปปิ้งสินค้าคุณภาพสูงครบครัน ยังต้องเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมอื่น ๆ ของลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหาร จับจ่ายใช้สอย ใช้บริการ
รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยที่มองถึงการมาไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าแค่การช้อปปิ้ง แต่คือการใช้ชีวิต
การปรับรูปแบบของสาขาใหม่ของโลตัสในครั้งนี้ เป็นอีกตัวอย่างของการปรับรูปแบบการทำตลาดของไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่ได้เน้นไปที่การขายสินค้าหรือเป็นสถานที่ช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่สำหรับการใช้ชีวิต โดยเป็น Community ของคนแต่ละไลฟ์สไตล์
2
ซึ่ง เบญจวรรณ บอกว่า นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์ open air mall แล้ว โลตัสยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาศูนย์การค้าในอีกหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และการใช้ชีวิตที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น
ทั้งสำหรับสาขาที่เปิดใหม่และสาขาเดิมที่มีการปรับปรุง มุ่งสู่เป้าหมายของการเป็น Smart Community Center ซึ่งรวมถึงโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกอย่างก็คือ การปรับรูปแบบการบริหารจัดการในเรื่องของตัวสินค้า ที่แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกบออกว่า ในกลุ่มสินค้าฮาร์ดไลน์ เริ่มมีการนำระบบ Consignment หรือการฝากขาย เข้ามาใช้แทนที่ระบบเครดิต
รวมถึงการปรับรูปแบบเป็นการเช่าพื้นที่ในห้างแทน เพื่อลดต้นทุนในเรื่องของการบริหารจัดการด้านสต็อกสินค้า ทำให้เราได้เห็น สินค้าในกลุ่มฮาร์ดไลน์บางแบรนด์ เริ่มปรับรูปแบบไปใช้วิธีการเช่าพื้นที่ในมอลล์เพื่อเปิดเป็นช้อปแทน
2
ขณะเดียวกันก็มีการทยอยปรับเลย์เอ้าท์ในสโตร์ใหม่ โดยปรับเอาสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าซอฟท์ไลน์อื่นๆ มาจัดเรียงด้านหน้า และปรับเอาสินค้าในกลุ่มฮาร์ดไลน์ เข้าไปอยู่ข้างหลังแทน โดยให้พื้นที่ของสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงามค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะเป็นการปรับตามไลฟ์สไตล์การช้อปของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังให้พื้นที่ในส่วนของสินค้ากลุ่มอาหารค่อนข้างมาก ซึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 ราย กำลังมุ่งมาที่เรื่องดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการสร้างฟอร์แมตสโตร์ และการนำเสนอสินค้า
เช่นเดียวกับบิ๊กซี ที่มีการรีแบรนด์ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของตัวเองเป็น “บิ๊กซี เพลส” ภายใต้ของคอนเซ็ปต์การเป็นสถานที่จุดหมายของครอบครัวและกลุ่มเพื่อน เป็นที่ที่นัดพบปะ สังสรรค์ ทานอาหาร พักผ่อน หรือแม้กระทั่งทำงาน และจับจ่ายซื้อหาสินค้าตามที่ต้องการ
โดยมีการปรับโฉมสาขาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 15,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ Town Center หรือช็อปร้านค้าในส่วนพื้นที่เช่า โดยจะมีสัดส่วนกว่า 60% ซึ่งจะมากกว่าพื้นที่ขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตเอง
การปรับโฉมครั้งนี้ จะเป็นการสอดรับกับไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งของคนไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มาห้างค้าปลีกโดยไม่ได้มาแค่ช้อปปิ้งอย่างเดียว แต่ยังมองถึงการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการทานอาหารนอกบ้าน ทำให้การปรับโฉมครั้งใหญ่ของบิ๊กซี เป็นบิ๊กซี เพลสในครั้งนี้ จะมีการเติมในส่วนที่เป็นร้านอาหารแบรนด์ดังในพื้นที่ของช้อปปิ้งพลาซ่าเข้าไปมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเพิ่มพื้นที่ Co-working Space และ Relax Zone เพื่อทำให้เป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับภาพลักษณ์เพื่อเล่นกับนักช้อปที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล หลังจากที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบิ๊กซีในอดีตจะเป็นกลุ่มแมส เป็นหลัก
บิ๊กซี เพลส ที่เป็นการนำสาขาสแตนอะโลนใหญ่ๆ ของบิ๊กซี และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้ามารีโนเวท อาทิ สาขารัชดา ราชดำริ อ่อนนุช และพระราม 4 เป็นต้น เริ่มจากสาขารัชดาภิเษก ที่เคยเป็นบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้าก่อนเป็นสาขาแรก และจะเป็นสาขา Flagship แทน เมโทรโพลิส ราชดำริ
โดยจะรีโนเวทหมดทั้งฝั่งสโตร์ บิ๊กซี และสโตร์ HomePro และ SB Design Square โดยบิ๊กซี วางแผนที่จะรีโนเวทบางสาขาในกรุงเทพมหานครให้เป็นบิ๊กซี เพลส ก่อน และจะรีโนเวทสาขา สแตนอะโลนทั้งหมด ให้เป็น บิ๊กซี เพลส รวมทั้งหมด 90 สาขาทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้าในสโตร์ใหม่ ด้วยการโดยจะแยกแผนกออกเป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยจะมีการแยกสินค้าแต่ละหมวดออกมาอย่างเด่นชัดพร้อมสร้างแบรนด์ในลักษณะของ “ช็อป อิน ช็อป” อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะใช้แบรนด์ Big Power
ส่วนฝั่ง Grocery และ Dry Food จะ ใช้แบรนด์ Foodplace ส่วนอาหารสดหรือ Freshfood จะใช้แบรนด์ We Are Fresh Market ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าในกลุ่มอาหารสดที่บีเจซีส่งเข้ามาทำตลาดก่อนหน้า เป็นต้น
เป็นการปรับเกมของทั้งคู่ เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดค้าปลีกที่วันนี้จะเป็นแค่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าราคาถูกอย่างเดียวไม่พออีกแล้ว....
#BrandAgeOnline #โลตัส #บิ๊กซี
โฆษณา