23 พ.ค. 2022 เวลา 13:28 • ธุรกิจ
มรสุม 5 ลูกกระหน่ำหลังโควิด
ส่งผลกระทบค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2565 อย่างไร
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เราเริ่ม เห็นการระบาดของไวรัสโอมิครอนเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีในมุมเศรษฐกิจ ความท้าทายกำลังเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น มรสุมเศรษฐกิจอย่างน้อย 5 ลูก กำลังเริ่มโถมเข้าหาไทย ประกอบด้วย ดอกเบี้ยสูง น้ำมันแพง โควิตและสงครามรุมเร้า ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูง ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อัตราดอกเบี้ย-ตัวฉุดการลงทุนและหนี้เพิ่มขึ้น
เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สูงสุดในรอบ 22 ปี เรื่องนี้บอกอะไรกับเรา !!
เมื่อมีการประกาศปรับขึ้น-ลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงตัวเดียว ก็สามารถบอกได้ถึงการขึ้นหรือลงของดอกเบี้ยตัวที่เหลือได้ เพราะหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ว่าขึ้นหรือลง โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้จะมีทิศทางขาขึ้นลงตามไปด้วย
ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีผลต่อเราในแง่แรงจูงใจต่อการฝากเงินกับธนาคารที่มากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากการฝากสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้เรามีแรงจูงใจต่อการลงทุนต่ำลง เพราะต้นทุนหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงขึ้น และแน่นอนว่า
สำหรับคนมีหนี้ ดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ภาวะหนี้-ตัวฉุดการบริโภคและการเติบโต ความท้าทายเรื่องหนี้ โดยเฉพาะภาวะหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจคือที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก่อนโควิด หนี้ครัวเรือนในประเทศก็สูงอยู่แล้ว
การระบาดโควิดก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการช าระหนี้ของครัวรือนลดลง เราจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ที่มาลงทะเบียนผู้ว่างงานที่สูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งการว่างงานกระทบรายได้และความสามารถชำระหนี้ ซึ่ง จะกดดันให้ครัวเรือนจำนวนมากลดการบริโภคลง และมีความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียที่มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการก็ประสบกับปัญหาการชำระหนี้ จะเห็นได้จากธุรกิจจำนวนมากประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องเนื่องจากธุรกิจจำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน แม้ว่า ทั้งภาครัฐ และธนาคารเอกชนจะมีการออกมาตรการพักชำระหนี้การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้กิจการยังดำเนินอยู่ได้ แต่หากการบริโภคของครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว ย่อมทำให้ธุรกิจไม่มีรายได้มากอย่างที่เคย
น้ำมันแพง-ตัวหนุนเงินเฟ้อ
วัตถุดิบในการผลิต การขนส่ง ตลอดจนในส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น เม็ดพลาสติกก็สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เท่านั้นไม่พอ ค่าขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ ที่แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นก่อนสงครามก็จริง แต่พอมีสงครามผู้ส่งออกเลยต้องจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลกลับมาที่ต้นทุนและลงเอยที่ราคาสินค้าส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เลยทำให้เกิด ‘เงินเฟ้อ’ เป็นการเร่งภาวะเงินเฟ้อที่มาจากด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง และผลกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจ
อาทิเช่น น้ำมันปาล์ม ได้ทยอยปรับราคาขายปลีกจาก 37 บาท/ขวด (1 ลิตร) ขยับเป็น 49 บาท และล่าสุดเพิ่มขึ้นมาที่ 57 บาท ส่วนพื้นที่ห่างไกล ราคาอาจอยู่ที่ 67-68 บาท หรือมากกว่านี้ ตอนนี้ธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต ต่างก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ปลากระป๋อง เป็นต้น
โควิดและสงคราม-ซ้ำเติม ดิสรัป ซัพพลายเชน
ทั่วโลกกำลังฟื้นจากโควิด ความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้นแบบถาโถม เรียกว่าพอฟื้นไข้แล้วก็พร้อมจะออกวิ่งกันทันที ทำให้ Demand ในตลาดสูงขึ้น แต่ Supply หรือฝั่งผู้ผลิตผลิตไม่ทันเกิดภาวะที่เรียกว่า “Supply Chain Disruption” ที่ลุกลาม ตั้งแต่การชะงักของการขนส่งสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
บทวิเคราะห์ของ “Euler Hermes” บริษัทประกันภัยสินเชื่อทางการค้าระดับโลก ระบุว่า...การหดตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2022 มีปัจจัยสำคัญ 25% มาจากปัญหาเรื่องคอขวดด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งรายงานจากเวิล์ดแบงก์ ได้ออกมาประเมินว่า การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง 8.5% ในขณะนี้ เนื่องจากท่าเรือบางแห่งยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้มีสินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ นโยบาย ‘Zero-COVID’ จากจีนนำไปสู่การล็อกดาวน์ในหลายๆ เมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเพิ่มผลกระทบ “ซัพพลายเชน”ให้วิกฤตมากขึ้น สินค้าที่ติดอยู่ในจีน กำลังจะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ของธุรกิจในไทย ปัญหาคอขวดในซัพพลายวัตถุดิบ ตู้คอนเทนเนอร์ และแรงงาน จะกดดันการเติบโตในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้
ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กำลังซื้อยังไม่มา
สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน แล้วก็ตาม แต่เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาทันที ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารโลก ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด รายได้จากอุตสาหกรรมทางการท่องเที่ยวของไทยถือเป็นสัดส่วนสำคัญและเป็นฟันเฟืองหลังของเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 17% ของจีดีพี
อีกทั้งข้อมูลจากนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ประมาณการว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยน่าจะมีจำนวนราว 16% ของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ( นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน) สาเหตุมาจากยังคงมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และการจำกัดการเดินทางของจีนและสงครามยูเครน-รัสเซีย
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มจะเป็นในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กำลังซื้อของประชาชนและสภาพคล่องของภาคธุรกิจก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ตลอดจนยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูง และราคาสินค้าที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อต้นปี หอการค้า 5 ภาคชี้เศรษฐกิจภูมิภาคเริ่มซึม กำลังซื้อวูบกว่า 50% หลังเจอมรสุมถาโถม โดยเฉพาะยอดติดเชื้อโอมิครอนพุ่งสูงคนผวาหยุดเดินทางท่องเที่ยว รัฐออกมาตรการคุมเข้ม งดจัดกิจกรรม อีเวนต์ปิดสถานที่เสี่ยง ตามด้วยราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค วัสดุก่อสร้าง เหล็ก หมู ไก่ อาหาร ปรับราคาแพงลิ่วขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกันหมดกำลังซื้อดิ่ง คาดเศรษฐกิจฟื้นตัวต้องใช้เวลาและภาครัฐกระตุ้นต่อเนื่อง
จากข้อมูลดัชนี RSI ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจัดทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมายอดขายของค้าปลีกค้าส่งผ่านโครงการคนละครึ่งมีสัดส่วน 20-30% ของยอดขายทั้งหมด แต่พอมาตรการนี้สิ้นสุดลงก็เท่ากับว่าตัวเลขเม็ดเงินก็จะหายไปจากระบบ 20-30% เช่นกัน สะท้อนว่าการมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในแต่ละครั้งแต่ละเฟสสามารถช่วยปลุกกำลังซื้อและทำให้มีเม็ดเงินสะพัดได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจยังมีปัญหาโดยเฉพาะค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้มีเท่าเดิมหรือลดลง รวมทั้งปัจจัยภายนอก ปัญหาสงคราม ราคาน้ำมัน ฯลฯ ที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ภาครัฐควรจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อปลุกกำลังซื้ออีกครั้ง
ภาพรวมของครึ่งปีแรกส่งสัญญาณบวก แต่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน
ช่วง Q1 ของปี 2565ภาคค้าปลีกและบริการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการอุดหนุนสวัสดิการ โครงการ“คนละครึ่ง”และ“ช้อปดีมีคืน”ที่สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2564 และต้นปี 2565 ทำให้กำลังซื้อฐานรากหายไป ส่งผลให้การเติบโตในไตรมาสแรกของปี ไม่สดใสเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับ Q4 ของปี 2564
สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นั้น ภาคค้าปลีกและบริการโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และอานิสงส์จากการเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาราว 400,000 คน รวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวกันก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวของภาคการค้าและบริการ
ครึ่งปีหลังของปี 2565 มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ครึ่งปีหลังของปี 2565 เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ยังคงมีความเปราะบางเนื่องจากยังเผชิญกับสภาวะ ‘พายุเศรษฐกิจ 5 ลูก’ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระดับโลกที่ทำให้ราคาพลังงานซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังส่งผลโดยตรงทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
โดยสองปัจจัยนี้ ถือเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 4.71% และอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาสะสม มานานส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท ในปี 2564
ทั้งนี้ พายุเศรษฐกิจ 5 สูง ที่มาเยือนเศรษฐกิจไทยนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์จนอาจก่อตัวขึ้นเป็น “ทอร์นาโด” ทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยต้องตั้งรับและเตรียมความพร้อมให้ดี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคค้าปลีกและบริการ พบว่า เป็นการฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า "K-Shaped" ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล
คือมีส่วนที่ฟื้นตัวชัดเจนและอีกส่วนหนึ่งไม่ฟื้นตัวหรือทรงตัว ห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ และภัตตาคารร้านอาหาร โตตามกระแสของการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค
ส่วนไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ บางกลุ่มมีหนี้ครัวเรือน และยังคงต้องพึ่งมาตรการการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐเป็นหลัก
โฆษณา