25 พ.ค. 2022 เวลา 23:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🏦 สรุปและวิเคราะห์รายงานการประชุมเฟดหลังเฟดมีท่าทีอ่อนลง 💸
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐเห็นพ้องต้องกันในการประชุมในเดือนนี้ว่าพวกเขาจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป โดยคิดว่าการดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อเนื่องจะทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนโยบายได้ในภายหลังหากมีความจำเป็น
ขณะที่เน้นย้ำถึง “ความมุ่งมั่นและความตั้งใจอย่างแรงกล้า” ของผู้กำหนดนโยบายในการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา โดยรายงานการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจต่อสภาวะทางการเงินขณะเตรียมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ในช่วงหลายสัปดาห์นับตั้งแต่มีการประชุม ความผันผวนของตลาดการเงินได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนรู้สึกไม่สบายใจต่อความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่านักลงทุนจะได้รับข่าวดีเมื่อรายงานของเฟดแสดงท่าทีที่ hawkish น้อยลง
ทั้งนี้รายงานยังระบุถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงิน รวมถึงระดับของอัตราเงินเฟ้อที่จะกดดันความต้องการของผู้บริโภค หลังจากเฟดกำลังต่อสู้กับแรงกดดันด้านราคาที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
นับเป็นสัญญาณว่าเฟดจะใช้นโยบายที่เข้มงวด และจะไม่หยุดจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมาย 2% และเป็นสัญญาณอีกว่ากลยุทธ์ของเฟดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลมากขึ้นหลังจากการประชุมเฟดในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม
นอกจากนี้ทางด้านคุณ Raphael Bostic ประธาน Fed แห่งแอตแลนตา กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน "อาจสมเหตุสมผล" หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวลง
ทั้งนี้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นหลังจากมีการเผยแพร่รายงานการประชุม ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความผันผวน และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และตลาดยังคงคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 100 bps ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เฟด “ตั้งข้อสังเกตว่าจุดยืนของนโยบายที่เข้มงวดอาจมีความเหมาะสมขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต” รายงานการประชุมระบุ รวมถึงยังกล่าวว่าอีกว่า ในตลาดแรงงานยังคงมีอุปสงค์มากกว่าอุปทานอยู่
ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินด้วยเช่นกัน โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลงประมาณ 17% ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีให้ผลตอบแทน 2.5% เทียบกับ 0.8% ในช่วงต้นเดือนมกราคม
ทั้งนี้ในการประชุม เฟดยังได้สรุปแผนการลดขนาดงบดุลมูลค่า 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันเพิ่มเติมต่อต้นทุนการกู้ยืม ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน โดยจะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และจะค่อยๆเพิ่มเป็น 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนกันยายน ในขณะที่จะลดการถือครองตราสารหนี้ MBS ลง 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์
1
นอกจากนี้รายงานการประชุมยังแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออีด้วย โดยคาดว่าดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น 4.3% ในปี 2022 ก่อนที่จะชะลอตัวลงเป็น 2.5% ในปีหน้า
ทั้งนี้เป้าหมายของเฟดสำหรับมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อคือ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ที่ระดับ 2% ต่อปี อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 6.6% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของกระทรวงแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 8.3% ในเดือนเมษายน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้สร้างความโกรธเคืองให้กับชาวอเมริกันและส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และความโกรธก็พุ่งเป้าไปที่เฟดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามนาย เจอโรม พาวเวลล์ ได้รับการยืนยันจากวุฒิสภาในการดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ในฐานะประธานเฟดในเดือนนี้ด้วยคะแนนเสียง 80-19 คะแนน
อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคมากนัก โดยดัชนียอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน ขณะที่ยอดขายบ้านก็ชะลอตัวลงหลังอัตราดอกเบี้ยบ้าน 30 ปีสูงกว่า 5%
1
🎯 ความเห็นของนิคกี้
เราเริ่มเห็นสัญญาณที่อ่อนลงจากทางเฟดบ้างแล้ว ซึ่งนิคกี้มองว่าเฟดน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่น่าจะไหวถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วมากๆ เพราะตอนนี้ตลาดเริ่มพูดถึงเรื่อง recession มากขึ้นเรื่อยๆ (จริงๆนิคกี้พูดเป็นคนแรกๆตั้งแต่ GDP ประกาศออกมาแล้ว) และเราเริ่มเห็นคนแห่เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตุได้จาก bond yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ที่ปรับตัวลงแรง
รวมถึงถ้าเราไปย้อนดูข้อมูลในอดีตจะพบว่า เฟดเคยทำ tightening มาแล้วทั้งหมด 15 ครั้ง แต่มีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่สามารถทำให้เกิด soft-landing ได้ หรือคิดเป็นความน่าจะเป็นเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่เฟดจะทำให้เกิด soft-landing ในรอบนี้มีไม่เยอะจริงๆคะ
1
นอกจากนี้เราน่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อค่อยๆปรับตัวลงต่อเนื่องหลังจากนี้ เพราะราคาพลังงานยังไม่ได้พุ่งขึ้น ขณะที่ราคารถยนต์มือ 1 มือ 2 เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่เงินเฟ้อในภาคสินค้าก็ลดลงเช่นเดียวกัน (เงินเฟ้อในภาคบริการยังสูงขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดเมือง)
2
ประกอบกับ PPI หรือเงินเฟ้อผู้ผลิตก็ลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เราเริ่มได้ยินข่าวแล้วว่า ปธน. ไบเดน จะไม่ต่ออายุมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของทรัมป์ที่จะหมดอายุในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยลดเงินเฟ้อได้อีกด้วย
1
สุดท้ายนี้คำแนะนำยังคงเหมือนเดิมคือ เก็บเงินสดไว้ก่อนจนกว่าเราจะทราบแน่ชัดว่าเงินเฟ้อเป็นขาลง ส่วนตัวเดาว่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนกรกฎาคม แล้วเราค่อยกลับไปซื้อตอนนั้นก็ยังไม่สายเกินไป และเราน่าจะได้เห็น recession ในหลายๆประเทศรวมถึงสหรัฐฯ แต่น่าจะเป็น recession เล็กๆน้อยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับฝีมือของทั้ง 3J คือ Janet Yellen, Jerome Powell และ Joe Biden คะ
Source: Bloomberg, Investing
✅ ทั้งนี้ อย่าลืมติดตามนิคกี้เพิ่มเติมได้ทาง
#เศรษฐกิจ #การเงิน #ลงทุน #กองทุน #มือใหม่ #ข่าวเศรษฐกิจทั่วโลก #ข่าวทั่วโลก #ARK #GINNO #TMBESGINNO #กลต #ECB #Commodities #WeeklyNews #หุ้น #กองทุนรวม #ดอกเบี้ย #นักลงทุน #จีน #GDP #พาวเวลล์ #สหรัฐฯ #Terra #UST #รัสเซีย #เงินเฟ้อ #หุ้นจีน #ยุโรป #เวียดนาม #Bitcoin #คริปโต #Bloomberg #Crypto #FED #เฟด
โฆษณา