26 มิ.ย. 2022 เวลา 10:37 • การศึกษา
ทำบาปเพราะนึกสนุก
เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ในทางโลก และการศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาความรู้ทางโลก มีเป้าหมายเพื่อให้เรารู้จักวิธีการแสวงหาปัจจัยสี่มาหล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ส่วนการศึกษาความรู้ในทางธรรม มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้เข้าถึงความสุขอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในตน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ตายนสูตร ว่า
 
“อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกฏํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
2
ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วที่ทำลงไป จะคอยเผาผลาญเราในภายหลัง กรรมใดที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า”
พระบรมโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ เกิดกี่ภพกี่ชาติก็สร้างความดีอย่างเดียว เพราะใจท่านมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย จึงมุ่งชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์เรื่อยมา ถ้าหากหลงไปทำบาปอกุศลเข้า
เมื่อรู้ตัวก็จะรีบปรับปรุงแก้ไขทันที เพราะท่านเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วที่ทำเอาไว้ สักวันหนึ่ง กรรมนั้นจะตามมาส่งผลอย่างแน่นอน จะเร็วหรือช้านั้น ก็แล้วแต่เจตนาและความพยายามที่ได้ทำเอาไว้ ท่านจึงไม่ยอมที่จะทำบาปอกุศล แต่มุ่งสั่งสมความดีอย่างเดียว
ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการทำความดี อาจมองดูว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จึงไม่ค่อยอยากทำ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำแล้วจะมีความสุขเป็นผล ส่วนบาปอกุศลทำได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องไปเสวยทุกข์ทรมานในอบายภูมิ ซึ่งเมื่อดูผลกรรมที่ทำไว้แล้วมันไม่คุ้มกันเลย
พระพุทธองค์จึงสอนว่า "ความชั่วแม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ทำ ควรเก็บเกี่ยวแต่บุญกุศลให้เต็มที่ อย่าดูหมิ่นบาปกรรมว่าจะไม่ให้ผล เพราะการกระทำใด ๆ ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี" ถึงแม้คิดว่า ทำเพื่อล้อเล่นสนุกสนาน แต่อาจนำความทุกข์มาให้มากมาย เหมือนดังเรื่องของพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งเคยพลั้งพลาดในอดีต กว่ากรรมเก่าจะหมดสิ้นไป ต้องรับผลกรรมยาวนานจนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เรื่องมีอยู่ว่า ในยุคสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระภิกษุ ๒ รูป กำลังเดินทางไปฟังพระปาติโมกข์ในวันอุโบสถ ภุมมเทวดาตนหนึ่ง เห็นพระท่านมีความสนิทสนมสมัครสมานสามัคคีกัน จึงคิดสนุกขึ้นมาว่า “มิตรภาพของภิกษุ ๒ รูปนี้ มั่นคงแน่นแฟ้นเหลือเกิน
1
หากมีคนมาทดลองยุแหย่ให้แตกแยกกัน มิตรภาพของทั้งสองท่านนี้ ยังคงแน่นแฟ้นเหมือนเดิมไหมหนอ” แล้วเทวดาก็หาโอกาสที่จะให้พระภิกษุทั้งสองรูปแตกกัน
ในระหว่างทาง พระรูปหนึ่งได้ฝากบาตรและจีวรไว้กับอีกรูปหนึ่ง แล้วขอตัวไปทำภารกิจส่วนตัว เมื่อเสร็จภารกิจก็เดินกลับมา ขณะนั้นภุมมเทวดาได้แปลงร่างเป็นหญิงรูปงาม เดินตามหลังพระเถระมา แสร้งทำเป็นหวีผม แล้วจัดผ้านุ่งเสียใหม่ เดินออกจากพุ่มไม้
พระภิกษุที่เป็นสหายเห็นเหตุการณ์นี้ จึงเข้าใจผิดคิดว่า เพื่อนภิกษุได้ล่วงเกินหญิงนั้นแล้ว จึงเกิดความสลดสังเวชใจว่า ถ้าหากเรารู้ว่า ภิกษุรูปนี้มีความประพฤติไม่ดีเช่นนี้ เราคงไม่มาเสียเวลาคบหาสมาคมกันนานถึงเพียงนี้
จึงบอกกับเพื่อนภิกษุว่า “เชิญท่านถือเอาบาตรของท่านไปเถอะ ผมจะไม่เดินทางร่วมกับท่านอีกต่อไปแล้ว” พระภิกษุที่ถูกเทวดาแกล้ง เมื่อได้ฟังถ้อยคำเช่นนั้น ก็เกิดความงุนงง จึงถามถึงต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น พระเพื่อนเล่าเรื่องที่ได้เห็นให้ฟัง
แต่ท่านก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเรื่องไม่ดีอย่างนั้น ทั้งสองรูปก็โต้เถียงกัน ไม่มีใครฟังเหตุผลใคร เป็นเหตุให้ต้องแยกทางกันในระหว่างทาง ท่านทั้งสองต่างนึกถึงมิตรภาพที่ดีต่อกัน จนไม่อาจอดกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้ แต่เมื่อนึกถึงภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่สบายใจ คิดว่าเพื่อนทำศีลวิบัติแล้ว ไม่อาจที่จะคบกันต่อไปได้อีก
เมื่อถึงวันลงอุโบสถ ภิกษุรูปที่เข้าใจผิดเห็นเพื่อนก็กล่าวว่า “ในโรงอุโบสถนี้ มีภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสีย เราจะไม่กระทำอุโบสถร่วมกับภิกษุนั้น” แล้วออกไปยืนอยู่ข้างนอก ภุมมเทวดาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็คิดว่า เราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว จึงแปลงร่างเป็นชายแก่เข้าไปหา
แล้วบอกความจริงให้ฟังว่า “พระคุณเจ้าทั้งสองอย่าได้โกรธเคืองกันเลย ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ รูปผู้หญิงที่ท่านเห็นนั้น เป็นเพียงภาพที่ข้าพเจ้าเนรมิตขึ้นเท่านั้น” แล้วก็แสดงตนว่า ตนเองเป็นเทวดา
เมื่อภิกษุนั้นทราบความจริง ก็กลับไปทำอุโบสถร่วมกัน แล้วได้เล่าความจริงให้เพื่อนสหธรรมิกทราบ ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองรูปก็กลับมาสมานฉันท์กันเหมือนเดิม และต่างก็เกิดความสลดสังเวชใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงตั้งใจบำเพ็ญภาวนาจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ส่วนภุมมเทวดา ได้ทำบาปอกุศลเพียงเพราะความสนุกคึกคะนอง โดยขาดความยั้งคิด ทำให้ต้องไปตกนรกยาวนานถึงหนึ่งพุทธันดร แม้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ถูกกล่าวโทษไปทุกภพทุกชาติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความชั่วอะไรเลย จนมาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านบังเกิดเป็นลูกของพราหมณ์ในกรุงสาวัตถีมีชื่อว่า ธานมาณพ เมื่อเติบโตขึ้นได้ไปฟังธรรมของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธามาก จึงขอออกบวช
เนื่องจากกรรมที่ทำเอาไว้ยังไม่สิ้นสุด เวลาท่านออกบิณฑบาต หรือจะไปที่ไหนก็ตาม จะมีภาพหญิงสาวเดินตามหลังท่านไปด้วย แต่ตัวท่านเองมองไม่เห็น ท่านจึงมักถูกชาวบ้านที่ตักบาตรพูดล้อเลียนว่า “พระคุณเจ้า ข้าวยาคูกระบวยนี้สำหรับท่าน อีกกระบวยหนึ่งสำหรับเพื่อนหญิงของท่าน”
นอกจากนี้ยังถูกเพื่อนสหธรรมิกหยอกล้ออีกด้วย ท่านจึงมีชื่อว่า “พระโกณฑธานะ” แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งผลแห่งกรรมชั่ว แม้ได้รับขนานนามอย่างนั้น ท่านก็อดทนเรื่อยมา เพราะคิดว่าเป็นกรรมเก่าของตน
แต่เมื่อนานวันเข้า ท่านอดทนไม่ไหว จึงพูดโต้ตอบกลับไปบ้างว่า “พวกท่านนั่นแหละ เป็นคนชั่ว อุปัชฌาย์ของท่านไม่สั่งสอนหรืออย่างไร” พระบรมศาสดาทราบว่าพระโกณฑธานะกล่าวคำหยาบกับภิกษุด้วยกัน จึงให้เรียกท่านมา แล้วตรัสสอนว่า “ตัวเธอไม่อาจใช้กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนให้หมดไป จึงเป็นเช่นนี้ ต่อไปเธออย่ากล่าวคำหยาบเช่นนั้นอีก
และอย่ากล่าวคำหยาบกับใคร ๆ เพราะผู้ที่เธอว่าร้ายแล้ว เขาก็จะโต้ตอบเธอ ถ้อยคำที่อาศัยการแข่งดีย่อมจะนำทุกข์มาให้ ผู้ด่าตอบก็ต้องประสบทุกข์นั้นด้วย ถ้าเธอมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ความแข่งดีก็จะหมดไป”
พระเถระฟังแล้วเกิดความสลดใจ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็ไม่ได้กล่าวคำหยาบกับใครอีกเลย ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา มุ่งที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างเดียว ในที่สุดท่านก็สมปรารถนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกรรมเก่าที่เคยมีก็หมดไป
จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำด้วยความคึกคะนอง อย่าคิดว่าจะไม่มีผล พึงอย่าดูหมิ่นบาปที่เราทำเอาไว้เล็กน้อยว่าคงไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดได้ ฉันใด คนพาลเมื่อสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ย่อมเต็มด้วยบาปได้ฉันนั้น
คนมีปัญญาควรสั่งสมแต่ความดี และสนับสนุนผู้อื่นให้ทำความดี แม้เป็นความดีเพียงเล็กน้อย ก็ควรสั่งสมเอาไว้ อย่าได้ดูถูกบุญ เพราะบุญเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต ถ้ามีบุญอะไรมาถึง ก็ขวนขวายทำกันให้เต็มที่ อย่าดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่ให้ผล เหมือนน้ำหยดทีละหยดยังสามารถทำให้น้ำเต็มตุ่มได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงสั่งสมบุญให้เยอะ ๆ
1
โดยเฉพาะพวกเรานักสร้างบารมี อย่าได้พลั้งพลาดไปทำบาปอกุศล แม้เพียงเล็กน้อยกัน อย่าทำเพราะเห็นแก่ความสนุกสนาน ให้หมั่นควบคุมกาย วาจา ใจ ของเราให้ดี อย่าให้ไปกระทบกับใคร เราเกิดมาเพื่อสั่งสมบุญ สั่งสมบารมีกันเท่านั้น ชาตินี้จึงควรเก็บเกี่ยวบุญกุศลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบุญที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทำกันให้เต็มที่
จะได้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม ที่นึกถึงคราใดก็มีปีติสุขเป็นรางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญสมาธิภาวนา ต้องถือว่าเป็นกรณียกิจของนักสร้างบารมี ที่เราต้องหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกวัน ดังนั้นให้ทุกท่านอย่าได้ประมาท ให้ขยันทำภาวนากันทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๗๙ – ๘๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๓๒ หน้า ๔๐๗
1
โฆษณา