26 พ.ค. 2022 เวลา 09:09 • ธุรกิจ
ผู้นำยุคสุดท้าย
ตอน
QCC ที่ “ใครทำใครได้”
เขียนโดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“คุณภาพคือความอยู่รอด” จริงๆ ครับ
การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (ของตัวเรา สินค้า หรือบริการ) จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนและทุกองค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครับ
รางวัล “Thailand Quality Prize ” เป็นรางวัลคุณภาพที่จัดโดย “สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทยญี่ปุ่น) (สสท.)” ที่มอบให้แก่บุคคลและองค์กร ที่พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพด้วย “หลักการ” หรือ “เครื่องมือ” ที่เรียกกันว่า “QCC” ซึ่งพัฒนามาจากแนวความดิดของปรมาจารย์คุณภาพ คือ “Edward W. Deming”
งานมอบรางวัลคุณภาพในปีนี้ หรือ “Thailand Quality Prize 2022” ได้จัดมาเป็นครั้งที่ 39 แล้ว จึงนับว่ายาวนานมาก เหตุที่ยืนหยัดมาได้ถึงวันนี้ ก็เพราะประโยชน์ที่องค์กรได้รับจาก “กิจกรรม QCC”
QCC (Q.C.C. : Quality Control Circle) ก็คือ การบริหารจัดการเพื่อการควบคุมคุณภาพหรือการปรับปรุงคุณภาพโดย “กลุ่มสร้างเสริมคุณภาพ” (Quality Circle)
ความหมายของคำว่า “คุณภาพ” ที่ยอมรับกัน หมายถึง คุณสมบัติหรือลักษณะต่างๆ ของผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้รับบริการ (ลูกค้า) เพื่อให้ลูกค้าพอใจและประทับใจ
ส่วน “การควบคุมคุณภาพ” หมายถึง วิธีการหรือปฏิบัติการต่างๆ ในระหว่างการผลิต ที่ป้องกันไม่ให้เกิดของเสีย ป้องกันไม่ให้การทำงานผิดไปจากมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้
หาทางลดปริมาณของเสีย เพิ่มปริมาณการผลิตและคุณภาพให้ดีตลอดเวลา (ดีขึ้นเรื่อยๆ) และ “กลุ่มสร้างเสริมคุณภาพ” หมายถึง กลุ่มคนขนาดเหมาะสมที่ทำงานอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน (ในแผนกเดียวกัน) รวมตัวกัน เพื่อร่วมมือและช่วยกันปรับปรุงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ หรือเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้
ประสบการณ์ของผมสอนให้รู้ว่า การร่วมใน “ กิจกรรม QCC ” นั้น “ใครทำใครได้” จริงๆ ครับ
โดยปกติแล้ว เรามักจะถูกถามจากผู้ร่วมงานว่า “ถ้าผมทำ QCC แล้ว ผมจะได้อะไร” ไม่ว่าจะกล้าถามโดยตรงหรือเลียบเคียงถามทางอ้อม หรือจะถามในใจด้วยสายตาสงสัย เราในฐานะ “ผู้นำ” ก็ต้องตอบให้ได้ว่า “เมื่อเราลงมือทำ QCC แล้วเราจะได้อะไรบ้าง”
สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้เราเติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงานได้นั้น ก็คือการได้ใช้ศักยภาพของราเต็มที่ แล้วก็สิ่งที่เราได้ทำนั้น สามารถสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม (องค์กร)
และสร้างความภูมิใจให้ทั้งตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กร ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่สามารถจะสร้างศักยภาพของตัวเราเองได้เต็มที่ เท่ากับความสามารถในการใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ เพื่อปรับปรุงงานให้มัดีขึ้นๆ อันเกิดจากการร่วมในกิจกรรม QCC ที่เป็นระบบ
เวลาเราปรับปรุงงานด้วยตัวเราเองให้มันดีขึ้นๆ นั้น เราคิดว่าใครจะได้ประโยชน์ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง อย่างน้อยงานที่มันเคยทำได้ยากๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้นจากความคิดในการปรับปรุงของเรา และสิ่งที่เราทำด้วย “ กิจกรรม QCC ” นั้น จะทำให้ความคิดอ่านเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ และหากเรารู้จักขยายผลที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้นอกจากปรับปรุงงานของตัวเองได้แล้ว ยังทำให้เราสามารถทำงานเป็นทีมได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลบวกให้กับองค์กรต่อไป
ทุกวันนี้ เราจะมีความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้เกิดจากความสำเร็จของทีมงาน การทำ QCC จะทำให้เรามีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานเป็นทีมจะทำให้เราถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพากัน รู้จักอะลุ่มอะอล่วย รู้จักขั้นตอนการทำงานเป็นทีม สามารถเรียนรู้ร่วมกันด้วยการแบ่งปันกัน เป็นต้น
การร่วมในกิจกรรม QCC นั้น ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรบังคับเลยครับ เพราะใครทำใครได้ เราควรจะต้องลงมือทำด้วยตัวเราเอง ถึงการปรับปรุงงานและคุณภาพ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากหลักการ “ปรับปรุงให้ดีขึ้น” จะทำให้ความคิดอ่านของเราตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่ติดตัวเรา เป็นผลผลิตของเรา เป็นคุณสมบัติของเราจนทำให้เรามี “คุณภาพ” มากขึ้น
นอกจากตัวเราเองได้อานิสงค์จากการทำ QCC แล้ว (เพราะใครทำใครได้) ต่อไปองค์กรก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วย เพราะทำ QCC แล้วเราได้ หน่วยงานได้ หัวหน้าเราได้ ผู้บริหารเราก็ได้ องค์กรก็ได้ด้วย สินค้าไม่มีข้อบกพร่อง สินค้ามีคุณภาพ ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งมอบได้ก่อนเวลา และได้อะไรอีกมากมายตามมา
เพราะว่ามันเกิดจากการปรับปรุงงาน เกิดจากการเรียนรู้งาน เกิดจากการคลุกคลีคร่ำหวอดกับการแก้ปัญหาในงาน แล้วองค์กรก็ได้อนิสงค์ตามไปด้วย ผู้บริหารทุกคน หัวหน้าทุกคน ก็ได้ดีตามไปแน่นอนที่สุด
การปรับปรุงงานและการปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นๆ ตามแนวความคิดของ QCC ด้วย “วงจร Plan-Do-Check-Act” ของปรมาจารย์ Deming (Deming Cycle) จะนำไปสู่ความมุ่งมั่นในหลักการของ “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Improvement) ต่อไปด้วย ดังนั้น QCC จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาและปรับปรุงตนเองและพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จที่ได้ผลและยั่งยืน
QCC จึงเป็นเรื่องที่ “ใครทำใครได้” ครับผม !
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: พฤหัสบดี 26 พฤษภาคม 2565
คอลัมน์: ผู้นำยุคสุดท้าย: QCC ที่ “ใครทำใครได้”
โฆษณา