26 พ.ค. 2022 เวลา 12:44 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ข้อคิดจากหนัง Top Gun: Maverick (2022) “ผลจากการเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกศิษย์”
ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้ประจักษ์ และเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกศิษย์
Top Gun: Maverick (2022)
เล่าเรื่องราว 36 ปีต่อจากภาพยนตร์ภาคแรก Top Gun (1986)
เมื่อตำนานนักบินอย่างพีท มิตเชล หรือในฉายา “มาเวอร์ริก”
ถูกเรียกตัวให้กลับมายังท็อปกัน
(ศูนย์การฝึกที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างสุดยอดนักบิน)
โดยมาเวอร์ริกได้รับมอบหมายให้ฝึกและคัดเลือกนักบิน
เพื่อไปทำภารกิจสุดหฤโหดและเสี่ยงตาย
แต่แล้วมาเวอร์ริกก็ได้พบว่า หนึ่งในนักบินที่เข้ามาฝึก
กลับเป็นลูกชายของ “กู๊ส” เพื่อนสนิทผู้ล่วงลับของเขา
(กู๊สเป็นนักบินคู่หูซึ่งตายในอุบัติเหตุระหว่างการฝึก)
ถึงแม้มาเวอร์ริกจะไม่ได้รับความผิดเนื่องจากมันเป็นอุบัติเหตุ
แต่ตัวเขายังคงฝังใจ เสียใจ
และไม่ยอมปล่อยวางจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
เนื่องจากการบินอย่างเสี่ยงอันตรายของเขา
ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น
“สามสิบหกปีที่ผ่านพ้น แต่ความเสียใจยังไม่พ้นผ่าน”
นี่จึงเป็นเรื่องราวอันท้าท้ายในชีวิตของมาเวอร์ริก
ทั้งการฝึกบินอันเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การเพิ่มขีดความสามารถของเหล่าลูกศิษย์
การปกป้องลูกชายของสหายผู้ลาจาก
และเป็นการสมานรอยร้าวในหัวใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา
“เพื่อให้พร้อมต่อการทำภารกิจท้าความตาย”
หากจะให้ทำลิสต์ภาพยนตร์ไว้ใช้สำหรับ
การเตือนใจผู้ที่ทำอาชีพครูบาอาจารย์
“Top Gun: Maverick” คือหนึ่งในนั้นครับ
สำหรับผมแล้ว
หนังเรื่องนี้นอกจากจะอัดแน่นไปด้วยฉากแอ็คชั่นเหินเวหา
ยังมีองค์ประกอบส่วนอื่น ๆ ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย
เช่น
-ความรู้สึกเสียใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา
-การเห็นคุณค่าและความสำคัญในชีวิตของผู้อื่น
-การไว้ใจ เชื่อมั่น และให้อิสระ (ที่มีให้กับลูก และ ลูกศิษย์)
-การไว้วางใจในสัญชาตญาณ และ ปัญญาญาณของตนเอง
องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้หนังมีชีวิตชีวาขึ้นมา
(ถ้าใครชอบหนังภาคแรกจะรักหนังภาคต่อนี้)
ข้อคิดจากหนังในครั้งนี้
ผมจึงขอนำเสนอในแง่มุมที่ตัวละครมาเวอร์ริก
“ได้มอบบทเรียนของการเป็นครูให้กับเรา”
“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้ประจักษ์”
เป็นภาวะของการเข้าถึง การรู้จัก
และการเข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลึกซึ้งรอบด้าน
ซึ่งเกิดขึ้นจากการสังเกตสิ่งนั้นด้วยความเอาใจใส่
มันเป็นการมอบหัวใจทั้งหมดให้กับสิ่งนั้น
แล้วยังใช้การใคร่ครวญที่ละเอียดลึกซึ้ง
ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่สอดคล้องกับความจริง
และพร้อมตัดในส่วนที่เกิน เติมในส่วนที่ขาดได้เสมอ
ซึ่งแตกต่างจาก
การคิดวิเคราะห์ที่มักนำไปสู่การตั้งข้อสรุปอันตายด้าน
และมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
บทบาทของครูจึงไม่ใช่แค่การท่องจำในสิ่งที่เล่าเรียนมา
หรือแค่สอนไปตามแผนการสอนที่เตรียมไว้
แต่คือการดำรงชีวิตอย่างเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่สอน
จนชีวิตจิตใจของครูสามารถผสานกลมกลืนกับสิ่งนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ
ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย
เช่น
-เปลี่ยนบทเรียนที่ซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องที่ง่าย
-เปลี่ยนเนื้อหาที่ไกลตัวผู้เรียน ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าถึงได้
-เปลี่ยนจากคำอธิบายอันยืดยาว ให้กลายเป็นประโยคที่สั้นกระชับและเข้าใจได้ทันที
-เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนที่ดูเซื่องซึมไร้พลัง ให้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีสีสันและมีชีวิตชีวา
-เปลี่ยนสัมพันธภาพระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่ดูเหินห่าน ให้กลายเป็นความผูกพันแน่นแฟ้นและเกื้อกูลกัน
เป็นต้น
การจะบ่มเพาะลูกศิษย์ให้งอกงามได้
ตัวของครูพึงเข้าถึงความงอกงามนั้นให้ได้เสียก่อน
(เข้าใจได้เท่าใด ถ่ายทอดได้เท่านั้น)
“ความเข้าใจ”
เป็นปัจจัยที่ดำรงอยู่ในชีวิตจิตใจของทุกคน
ซึ่งสิ่งนี้ได้เกื้อกูลมนุษยชาติเสมอมา
มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ มากมายนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เช่น
-การสร้างที่อยู่อาศัย การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์
-การประดิษฐ์เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก
-การสร้างรถ เรือ เครื่องบิน ยานอวกาศ
-การทำอาหาร การทำขนม และการผสมเครื่องดื่ม
-การรักษาโรค และการส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ
(ครอบคลุมทุกบทบาทและสาขาอาชีพ)
ดังนั้น “ความเข้าใจ”
จึงคล้ายกับเป็นอุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับการอยู่กับความจริง
การเข้าใจความจริง และเลือกวิธีการปรับตัวที่เกิดประโยชน์
ซึ่งขอบเขตของความเข้าใจนั้น
ครอบคลุมทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เช่น
-ความเข้าใจในตนเอง
-ความเข้าใจในผู้อื่น
-ความเข้าใจในจิตใจ
-ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต
-ความเข้าใจในศาสตร์และทักษะต่าง ๆ
เป็นต้น
เมื่อครูสามารถค้นพบความเข้าใจที่ดำรงอยู่ในตนเอง
และบ่มเพาะความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ
รวมทั้งเนื้อหาในวิชาชีพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
ครูย่อมเข้าใจด้วยว่า “ในตัวลูกศิษย์ก็มีสิ่งนี้เช่นกัน”
แล้วเมื่อนั้นบรรยากาศในการเรียนการสอนย่อมเปลี่ยนแปลงไป
เนื่องจากครูได้เห็นความจริงของชีวิตอย่างลึกซึ้งมากมาย เช่น
-ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
-หากไม่มีผู้เรียน ย่อมไม่มีผู้สอน
-หากไม่มีผู้ฟัง ย่อมไม่มีผู้พูด
-ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยนแปลง
-ให้ความจริงกำหนดวิธีการปรับตัว ไม่ให้วิธีการปรับตัวกำหนดความจริง
-ให้ชีวิตผู้เรียนกำหนดบทเรียน ไม่ใช่ให้บทเรียนกำหนดชีวิตผู้เรียน
“ความถือตัวของครูย่อมลดน้อยลง”
ซึ่งจะนำไปสู่ความเคารพที่ตัวครูมีต่อตนเอง
มีต่อลูกศิษย์ และมีต่อทุกสิ่งรอบตัว
ผลจากความถือตัวที่เบาบาง
ผลจากความเคารพที่มีต่อทุกสรรพสิ่ง
และผลจากความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความจริง
ย่อมทำให้บุคลิกภาพของครูถูกยกระดับขึ้นมา
จากความวุ่นวายสู่ความสงบ
จากความร้อนรุ่มสู่ความร่มเย็น
จากความหม่นหมองสู่ความแจ่มใส
จากความแข็งกระด้างสู่ความอ่อนโยน
“จากความไม่เข้าใจสู่ความเข้าใจ”
“จิตใจอันเอื้อเฟื้อเกื้อกูลย่อมเกิดขึ้นกับครู”
นำมาซึ่งการสังเกต ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น
และความไว้วางใจที่มีต่อตัวลูกศิษย์
บรรยากาศของการเรียนรู้เช่นนี้
จึงมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัย ไม่แบ่งแยก
ไม่กดดันบีบคั้น และไม่ทอดทิ้งผู้เรียน
“เป็นความเกื้อกูลไม่ก้าวก่าย”
ที่ครูและลูกศิษย์ต่างปรับตัวปรับใจเข้าหากัน
จนก่อเกิดเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะเจาะกับจังหวะชีวิตในขณะนั้น
(เข้าใจได้พอดี-ไม่ขาดไม่เกิน)
เมื่อศิษย์รับรู้ถึงบุคลิกภาพที่เกื้อกูลของครู
เมื่อศิษย์รับรู้ถึงจิตใจอันกว้างใหญ่ไพศาลของครู
เมื่อศิษย์รับรู้ถึงความเข้าใจอันเรียบง่ายและลึกซึ้งของครู
เมื่อศิษย์รับรู้ถึงความไว้วางใจที่ครูมอบให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
“ศิษย์ย่อมวางใจได้ว่า สิ่งที่เรียนอยู่นั้นสามารถเข้าใจได้จริงและเอาไปใช้ได้จริง”
เนื่องจากศิษย์ได้ประจักษ์แจ้งในสิ่งเหล่านั้น
จากเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ของครู
ซึ่งจะช่วยให้ศิษย์เกิดความมั่นใจ เกิดความสงบในใจ
เกิดความสนใจจดจ่อ และเปิดประตูใจสำหรับการเรียนรู้
ด้วยเหตุนี้เอง
การที่จะถ่ายทอดบทเรียนให้กับผู้คน
จนเกิดเป็นความเข้าใจอันลึกซึ้งขึ้นได้
จึงไม่ใช่สิ่งที่ฉาบฉวยและตื้นเขิน
แต่มันเป็นเรื่องของการบ่มเพาะตนเองอย่างต่อเนื่อง
จนเกิดเป็นความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ
และเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้น
แล้วยังเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมวิธีการสื่อสาร
เพื่อถ่ายทอดบทเรียนเหล่านั้นออกมาอย่างเรียบง่าย
ลึกซึ้ง เข้าถึงใจผู้เรียน และสามารถนำไปใช้ได้จริง
แล้วที่ขาดไม่ได้เลยคือ “จิตใจอันเกื้อกูล”
(ใส-ว่าง-กว้าง-เบา-สงบ)
ซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตและการทำงาน
ที่จะช่วยให้ครูสามารถพัฒนาความงอกงามในตนเอง
และส่งต่อความงอกงามเหล่านั้นให้แก่ลูกศิษย์
โฆษณา