28 พ.ค. 2022 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการขายเครื่องบินของการบินไทย เป็นที่ฮือฮากัน เครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินปลดระวางรุ่น Boeing 747-400 อายุการใช้งาน เกือบ 30 ปี วิธีการยื่นซองประมูลภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ก่อนหน้านี้ได้มีการไลฟ์สดแนะนำเครื่องบินลำนี้แล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
การบินไทยมีการทยอยขายเครื่องบินออกตั้งแต่มีการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยมีการส่งมอบเสร็จสิ้นล็อตแรกในไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 34 ลำ ต่อมามีการขายล็อตที่ 2 ในเดือน กันยายน ปี 2564 อีก 10 ลำ ทั้งหมดเมื่อนำมาเป็นกระแสเงินสดหมุนเวียนในการบริหารในระยะยาว อีกทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลเครื่องบินในช่วงโควิดที่ไม่มีผู้โดยสารใช้งานอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเพิ่มกระแสเงินสดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขายปาท่องโก๋การบินไทย ที่เคยโด่งดังในช่วงก่อนหน้านี้ การขายซากเครื่องบินที่กำลังมาถึงอาจเป็นส่วนในการเพิ่มเงินสดหมุนเวียนภายในบริษัทการบินไทยอีกทางหนึ่งเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
หลายคนคงสงสัยว่าซากเครื่องบินหลังจากถูกซื้อไปแล้วนั้นจะถูกนำไปใช้ทำอะไรต่อ ซึ่งการซื้อขายซากเครื่องบินไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซากเครื่องบินก่อนหน้านี้ที่ถูกขายออกไปส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นโครงของร้านอาหารหรือคาเฟ่ หรือบางที่นำไปวางไว้เป็นแลนมาร์คใหม่
คาเฟ่ 747 Café ลาดกระบัง เป็นคาเฟ่ที่ใช้เครื่องสร้างภายในเครื่องบินตกแต่งเป็นคาเฟ่ ใช้ทุนสำหรับเครื่องบิน 16 ล้าน บวกรวมค่าตกแต่งเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 50 ล้าน รวมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม สามารถดึงดูดผู้คนต่อวันได้ไม่ต่ำกว่า 700 คน แม้อยู่ในช่วงโควิด
อีกตัวอย่างคาเฟ่ คือ Airplane park korat เป็นร้านอาหารที่สามารถมองเห็นเครื่องบินได้จากระยะใกล้ นอกจากนั้นที่ลานว่างจอดเครื่องบินยังสามารถใช้เป็นที่จัดอีเว้นท์อย่างคอนเสิร์ตซึ่งมีเนื้อที่รองรับและบรรยากาศสำหรับผู้ชมจำนวนมากได้
ในด้านต้นทุนในการจัดซื้อเครื่องบินแต่ละลำก็ไม่สูงอย่างที่คิด ซากเครื่องบินหลังปลดประจำการแล้วราคาจะอยู่ระหว่าง 3 - 10 ล้าน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ ต้นทุนในการขนย้ายแล้วประกอบเครื่องบิน เพราะเราไม่สามารถยกเครื่องบินมาทั้งลำได้ในที่เดียวจำเป็นต้นวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการถอดและประกอบเครื่องบินรวมทั้ง คนขับรถขนย้ายที่สามารถขนชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่ผ่านเส้นทางเดินรถปกติได้
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงสูงมาก สูงกว่าการซื้อเครื่องบินทั้งลำอีก
แต่แน่นอนว่ามูลค่าเพิ่มจากการซื้อเครื่องบินมาจอดนั้นอาจสูงกว่าเงินที่ลงทุนไปก็ได้
ลองนึกเล่น ๆ ว่าหากมีที่ดินโล่งแปลงหนึ่ง ราคา 20 ล้าน แล้วหลังจากนั้นเอาเครื่องบินมาจอด ราคาที่ดินแปลงนั้นจะสูงขึ้นขนาดไหน เพราะเครื่องบินไม่ใช่ของประดับทั่วไปที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด เครื่องบินจึงกลายเป็นแลนมาร์คดึงดูดผู้คนให้มาเยือน ราคาที่ดินจะสูงขึ้นจากการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับการติดภูเขา แม่น้ำหรือชายฝั่ง
การซื้อขายเครื่องบินลำนี้จึงเป็นที่จับตามองว่าสุดท้ายแล้วเครื่องบินลำนี้ใครจะได้เป็นเจ้าของ และจะนำไปต่อยอดทำเป็นอะไรต่อไป หากใครมีที่ดินหลังบ้านเหลือสัก 10 ไร่ และสนใจเครื่องบินลำนี้สามารถเข้าไปที่เพจ TG Warehouse Sale เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสามารถยื่นซองประมูลได้เลย
โฆษณา