30 พ.ค. 2022 เวลา 01:52 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางมังกร ตอนที่ 1 ความสงบสุข หลังยุคสามก๊ก
ศักกราชไท่คัง ปี่ที่ 1 ราชวงศ์จิ้น หรือในปี คศ.280 การสำรวจจำนวนประชากรพบว่าเหลือเพียง 16.16 ล้านคน กว่า 37 ล้านชีวิตที่แต่กต่างจาก ปี คศ.105 คือค่าที่ต้องจ่ายจากความวุ่นวายในยุคสามก๊ก
สิ้นสุดการนองเลือดในยุคขุนศึก ที่เรียกกันว่ายุคสามก๊ก หลังความพ่ายแพ้ของจ๊กก๊กที่ศึกอิเหลงของพระเจ้าเล่าปี่ เหนี่ยวนำมาสู่การกลืนกินจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก อันเป็นมรดกของขุนศึกที่ชื่อว่าโจโฉ จากนั้นไม่นานสุมาเอี๋ยนในนามของพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ได้รวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง เป็นไปตามปณิธาณที่จะนำแผ่นดินเข้าสู่ความสงบสุขของทั้งเหล่าขุนศึกและนักปราชญ์
แต่กลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ราชวงศ์จิ้นของพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ สุมาเอี๋ยนได้นำความสงบสุขมาสู่แผ่นดินเพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อความวุ่นวายแท้จริงแล้วยังไม่ได้จากไปไหน
นโยบายการปกครองของราชวงศ์จิ้นในตอนต้นนี้ทำให้เกิดระยะห่างทางสังคมอย่างสุดกู่ เมื่ออำนาจตกไปอยู่กับตระกูลใหญ่และราชวงศ์ ความแตกต่างทางสังคมถึงขั้น ไม่มีการแต่งงานข้ามสายเลือด หรือไม่นั่งร่วมโต๊ะกับตระกูลที่ต่ำต้อย การปกครองจากส่วนกลางถูกบั่นทอนลง การเก็บภากษีเป็นไปตามนโยบายของแต่ละตระกูลที่ปกครอง มีการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันภายใน ชาวบ้านต่างสิ้นหวัง นักปราชญ์ไม่กล้าคิดเรื่องการแผ่นดิน
ซือหม่าเอี๋ยน หรือพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ ปกครองแผ่นดินโดยมีตระกูลหยางของราชินีหยางเยี่ยนมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย เมื่อขุนนางผู้ภักดีและทำงานอย่างตรงไปตรงมาอย่างหลิวยี่ ที่กล้าทูลลงโทษแม้กระทั่งองค์รัชทายาท ได้สิ้นลงในปี คศ.285 ราชการแผ่นดินก็เริ่มจะผิดแปลกไปจากเดิม ปรับกฎหมายให้อ่อนลง
รวมถึงพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ก็เริ่มจะหาความสุขส่วนตัวมากกว่าราชการแผ่นดิน กับนางสนมกว่าหมื่นคน ปัญหาต่าง ๆ ในแผ่นดินก็เหมือนจะค่อยถาโถมเข้ามา ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยก็ดูเหมือนจะไม่ได้สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชนเช่นกัน สร้างความยากแค้นให้แก่ประชาชน ชนกลุ่มน้อยมู่หยงและเหลียวซีเริ่มก่อจราจลขึ้น มีการอพยพผู้คนระหว่างชาวนอกด่านเป็นอันมาก
พระเจ้าจิ้นอู่ตี้มีบทเรียนจากตระกูลโจที่กีดกันอำนาจของคนในตระกูลเดียวกัน เพราะเกรงการแย่งชิงกันเอง เป็นช่องโหว่ให้ตระกูลซือหม่าของพระองค์ชิงแผ่นดินมาได้ ซือหม่าเอี๋ยน จึงให้อำนาจแก่คนในตระกูลเพื่อเป็นการเกื้อหนุนและค้ำจุนราชบัลลังค์ ด้วยสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น ตระกูลต่าง ๆ ก็เริ่มวางอำนาจบาทใหญ่ขึ้นในแผ่นดิน
ปี คศ.289 จิ้นไท่คังปีที่ 10 พระเจ้าจิ้นอู่ตี้ระหว่างที่ประชวรอยู่ จึงแต่งตั้งอ๋องซึ่งเป็นทั้งพระอนุชาและโอรส เพื่อไปดูแลในมณฑลต่าง ๆ ด้วยหวังว่าจะช่วยเป็นหูเป็นตา รายชื่ออ๋องทั้ง 8 เริ่มเป็นที่รู้จักในปีนี้ ระเบิดเวลาลูกแรกได้ถูกวางไว้แล้วโดยปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์จิ้น
ปี คศ.290 ประเจ้าจิ้นอู่ตี้สรรคต ซือหม่าจงองค์รัชทายาท ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าพระอง์มีความบกพร่องทางสติปัญญา ขึ้นเป็นพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้ มีหยางจุ้น บิดาขององค์ไทเฮาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและควบตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ มีอิทธิพลอยู่เช่นเดิม
การวางอำนาจของหยางจุ้นผู้สำเร็จราชการนี่เอง ที่ทำให้เหล่าอ๋องที่เป็นทั้งพระอนุชาและพระโอรสเริ่มที่จะเกิดความคิดชิงอำนาจกลับคืนสู่กระกูลซือหม่าอีกครั้ง เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "แปดอ๋องครองเมือง ปาหวางจือล่วน" อย่างเเป็นทางการ ตั้งแต่ ปี คศ.291
มีข้อสังเกตุว่าเหตุใดพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ซึ่งมีพระโอรสอยู่มากมาย แต่กลับส่งต่อราชบัลลังก์ให้แก่ซือหม่าจงซึ่งบกพร่องทางสติปัญญา เพราะนั่นอาจกล่าวได้ว่าเป็นระเบิดเวลาลูกที่สอง ที่จิ้นอู่ตี้ ได้วางไว้กับแผ่นดิน คำตอบก็น่าจะมาจากการที่พระองค์ทรงโปรดหลานซือหม่าอวี้ย์และชื่นชมในสติปัญญาของหลานชายผู้นี้ ซึ่งเป็นบุตรของซือหม่าจงมาก
จึงต้องการให้บังลังก์ของตนสืบทอดไปสู่หลานชาย การยกบัลลังก์ให้แก่บุตรผู้ด้อยสติปัญญาเพื่อส่งต่อบัลลังก์ให้แก่หลานคนโปรดจึงเป็นหนึ่งในหายนะที่ไม่อาจเลี่ยงได้
อีกประการก็เพราะซือหม่าจงเป็นบุตรของราชินีอันเป็นที่โปรดปราน และมีตระกูลที่ทรงอิทธิพล และด้วยความบกพร่องทางปัญญาของพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้นี่เอง ทำให้ราชินีเจี่ยหนานเฟิง ซึ่งเป็นธิดาของเจี่ยซ่ง หรือกาอุ้น แกฉง อดีตกุนซือในสมัยสามก๊ก ได้มีอำนาจ
กระทั่งมีการคิดโค่นล้มอำนาจตระกูลหยางขององค์ไทเฮา โดยราชินีเจี่ยได้ติดต่อร่วมมือกับฉู่หวาง ซือหม่าเหว่ย เข้าเมืองหลวงจับหยางจุ้นผู้สำเร็จราชการ องค์ไทเฮา และสังหารคนในครอบครัวอย่างโหดเหี้ยม ทั้งที่องค์ไทเฮาเคยทูลช่วยชีวิตไว้เมื่อครั้งที่นางเที่ยวไปใช้เหล็กแหลมทำแท้งสนมที่จะมีบุตรกับองค์รัชทายาท(จิ้นฮุ่ยตี้ หรือ ซือหม่าจง) จนพระเจ้าจิ้นอู่ตี้กริ้ว
บันทึกว่าพระราชินีเจี่ยผู้นี้มีสิริโฉมไม่งดงามนัก น้ำใจอำมหิตและแข็งกร้าว และที่สำคัญคือ นางไม่สามารถมีบุตรได้ จึงไม่ใช่มารดาของซือหม่าอวี้ย์องค์รัชทายาท หลานคนที่พระเจ้าจิ้นอู่ตี้ทรงโปรดปราน ในเวลาต่อมาองค์รัชทายาทซือหม่าอวี้ย์จึงถูกราชินีเจี่ยปลดออกจากตำแหน่ง และถูกสังหารด้วยยาพิษในที่สุด
การร่วมมือกันระหว่างซือหม่าเหว่ยกับราชินีเจี่ยยึดอำนาจ ก็ไม่ได้คืนอำนาจให้กับตระกูลสุมาเสียทีเดียว เมื่อไม่นานหลังจากนั้น ซือหม่าเลี่ยงพระอนุชาของอดีตพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ก็ยกทัพมาล้อมเมืองหลวง พระนางจึงได้โอกาสกำจัดทั้งซือหม่าเหว่ยมิตรของตน และซือหม่าเลี่ยงผู้รุกราน ในข้อหาขบถ
อำนาจจึงอยู่ในมือของราชินีเจี่ยอย่างเต็มมือ อ๋องซือหม่าต่าง ๆ ก็รวมอำนาจแย่งชิงกันมากขึ้น ประชาชนต่างอพยพลงใต้บ้าง หาที่พึ่งพาใหม่บ้าง
ท่ามกลางความวุ่นวายของแผ่นดิน ชนเผ่านอกด่านก็เริ่มที่จะเติบโตและคลืบคลานเข้ามามีอิทธิพลในแผ่นดิน ส่งผลให้ประชากรส่วนหนึ่งอพยพไปเข้าด้วยชาวนอกด่านเพราะเบื่อหน่ายกับการแย่งชิง
จนกระทั่ง ปี คศ.296 ห่าวตู่หยวน หัวหน้าชนเผ่าซวุงหนูได้รวมชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ประกาศต่อต้านราชวงศ์จิ้น ก่อความวุ่นวายขึ้นทางเหนือ กลุ่มอ๋องซือหม่าซึ่งแต่เดิมถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อค้ำชูราชบัลลลังค์ บัดนี้กลับไม่สนใจภัยคุกคามเหล่านี้ นอกจากการชักชวนชนกลุ่มน้อยมาเป็นกำลังของบรรดาอ๋องเองแล้ว การแก่งแย่งของเหล่าอ๋องจึงไม่ต่างอะไรจากการชักชวนชาวนอกด่านให้มาสู่แผ่นดินใหญ่
ทางฝ่ายตะวันตก ฉีว่านเหนียนก็รวมรวมชนเผ่าต่าง ๆ ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ท้าทายอำนาจเช่นกัน สามารถปราบทัพอ๋องเหลียงซึ่งยกไปปราบปรามทั้งที่มีความขัดแย้งภายในได้
การแสวงหาอำนาจในตระกูลเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ราชินีเจี่ยจำต้องมีพันธมิตรใหม่ จึงจับมือกับอ๋องจ้าว ซือหม่าหลุนเพื่อให้เป็นกองกำลังคุมอำนาจ แต่นั่นกลับเป็นโอกาสทองให้กับซือหม่าหลุนผู้ปรารถนาอำนาจแต่ผู้เดียว สังหารราชินีโดยบีบให้ดื่มยาพิษ แล้วยึดอำนาจในเมืองหลวง บันทึกว่า ศพของนางถูกทำลายจนสภาพผิดเพี้ยนด้วยความโกรธแค้นจากหลายฝ่าย
ซือหม่าหลุน หลังจากยึดอำนาจได้ไม่นานก็ยกตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ ในปี คศ.301 เนรเทศจิ้นฮุ่ยตี้ไปขังที่จินหยง แต่ครองอำนาจได้ไม่นาน สามอ๋องประกอบไปด้วย เหลียงอ๋อง เฉิงตูอ๋อง และเหอเจียนอ๋อง อันเป็นตระกูลเดียวกันทั้งสิ้น นำกำลังกว่าสองแสนคนเข้าสู่ลั่วหยางขับไล่ซือหม่าหลุนออกไปได้ อัญเชิญเสด็จพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้กลับสู่เมืองหลวง
แต่ความร่วมมือของทั้งสามอ๋องก็อยู่ได้ไม่นานเช่นเดิม ทั้งสามก็รบพุ่งกำจัดกันเอง เกิดเหตุการณ์นองเลือดเสียทั้งทหารและผู้คนล้มตายอีกกว่าสามหมื่นคน เหลือเพียงซือหม่ายี่ แต่ก็ถูกต่อต้านด้วยซือหม่าหยงและซือหม่าอิ่ง ซึงถ้าให้บรรยายต่อก็จะมีเพียงชื่อของซือหม่าที่เข่นฆ่ากันเอง จึงต้องของหยุดการระบุชื่อเสียงเรียงนามลงแต่เพียงเท่านี้
เมื่อที่สุดแล้วก็คือเหล่าอ๋องซือหม่าปลดทั้งราชินีหยางองค์ใหม่และองค์รัชทายาทที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้ผู้เบาปัญญาไม่มีบทบาทใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งถูกอัญเชิญไปที่ต่าง ๆ และถูกชิงตัวไปมา
ระหว่างนี้ก็มีการตั้งตัวเป็นใหญ่ ทั้ง หลี่สวุง ที่เฉิงตู และหลิวยวนที่ไท่หยวน จนกระทั่ง ปีจิ้นกวงซีที่ 1 เดือน 6 พระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้ได้กลับสู่เมืองหลวงหลังจากที่พลัดพรากไปยังที่ต่าง ๆ พร้อมกับราชินีหยาง แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องสิ้นชีพหลังจากเสวยอาหารที่มีผู้ไม่หวังดีนำมาถวาย
ซือหม่าฉื้อ ซึ่งเป็นพระอนุชา และเป็นโอรสของพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ ที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่พระองค์ ถูกยกให้เป็นพระเจ้าจิ้นหวยตี้ โดยมีซือหม่าเยวี่ย ผู้ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นผู้ได้ชัยชนะชั่วคราวจากสงคราม 8 อ๋อง กุมอำนาจที่แท้จริงในเมืองหลวง
ความโกลาหลจากการชิงอำนาจกันระหว่างอ๋อง ทำให้ชนเผ่าต่าง ๆ ลุกฮือกันขึ้น ตั้งตัวเป็นใหญ่ จนกระทั่ง ปี คศ.308 หลิวยวน ที่เพิ่งตั้งตนเป็นฮ่องเต้จิ้นผิงหวางจากฮั่นก๊กหรือฮั่นจ้าว โดยมีสือเล่อ นักรบฝีมือดี ผู้นำชนเผ่าเจี๋ย เข้ามาสวามิภักดิ์ หลิวยวนยกทัพมาชิงเอาเมืองหลวงและย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ผิงหยาง แต่หลิวยวนกลับสิ้นชีพอย่างฉับพลัน
บัลลังค์ถูกส่งทอดมายังบุตรที่แย่งชิงกันเอง สมบัติตกสู่หลิวชงบุตรชาย ฝ่ายซือหม่าเยวี่ยพากำลังหลบหนีไปได้กลับมาชิงเอาลั่วหยางเมืองหลวงและพระเจ้าจิ้นหวยตี้ไว้ได้ แต่ต่อมาซือหม่าเยวี่ยผู้กุมอำนาจเมืองหลวงและเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายก็ได้ตายลงกระทันหัน
ศพถูกแม่ทัพสือเล่อหัวหน้าเผ่าเจี๋ยทำลายดุจทรราช บุตรสี่สิบแปดคนถูกตัดหัวเสียบประจาร จึงเป็นโอกาสของฮั่นจ้าวเข้ามาบุกยึดเมืองหลวง จับพระเจ้าจิ้นหวยตี้ได้อีกครั้ง
แม่ทัพสือเล่อผู้นี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่สังหารทหารของอ๋องตระกูลซือหม่ามากมายและเป็นส่วนสำคัญในการยึดดินแดนทางเหนือในเวลาต่อมา
หายนะหย่งเจีย ในปี 311 คือคำที่ใช้เรียกการเข้าเมืองลั่วหยางของเผ่าซวุงหนูและชนเผ่าต่าง ๆ ที่ปล้นฆ่าชนชั้นสูงของราชวงศ์จิ้น เผาบ้านเมืองและขุดสุสาน สังหารผู้คนกว่าสามหมื่นคน
หลิวชง กษัตริย์ที่จับตัวพระเจ้าจิ้นหวยตี้ไว้ได้ลดยศให้เหลือเพียงเจ้าพระยา ในที่สุดก็สั่งประหารอดีตพระเจ้าจิ้นหวยตี้ ในปี คศ.313 หลังจากที่ให้พระองค์เป็นผู้บริการเสริฟอาหารแล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นจากขุนนางเก่าที่ทนความอัปยศไม่ได้
เหล่าขุนนางที่ทราบข่าวว่าพระเจ้าจิ้นหวยตี้ถูกสังหารลง จึงตั้งให้ ซือหม่าเยี่ย อดีตรัชทายาทขึ้นเป็นพระเจ้าจิ้นหมิ่นตี้ในนครฉางอัน อันแทบไม่อาจจะเรียกว่าเป็นนครได้ เพราะอยู่ในสภาพที่รกร้างเหลือครัวเรือนไม่ถึงร้อยครัวเรือน
บรรดาอ๋องซือหม่าที่เหลืออยู่ก็ยังไม่ยอมรับในพระราชอำนาจ ต่างก็ยังคงเข่นฆ่าแย่งชิง เพราะต่างก็คิดว่าตนยังมีสิทธิครองบัลลังค์อยู่เช่นกัน โองการที่ออกจารราชสำนักที่ทรุดโทรมจึงไม่มีอ๋องคนใดปฏิบัติตาม
จนกระทั่ง ปี คศ.316 หลิวเย่า หัวหน้าเผ่าซวุงหนู นำกำลังเข้ายึดราชสำนึกพลัดถิ่น จับจิ้นหมิ่นตี้ส่งไปให้แค่หลิวชง และถูกสังหารในทึ่สุด เป็นอันสิ้นสุดฮ่องเต้ในราชวงศ์จิ้น อันต่อมาเรียกว่าจิ้นตะวันตก รวม 51 ปี 4 องค์กษัตริย์
ความวุ่นวายได้วนเวียนอยู่เช่นนี้ ชนเผ่าต่าง ๆ เห็นโอกาสก็พากันตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ เลือดของชาวฮั่นผสมคละคลุ้งกับชนเผ่านอกด่านทาทาบทั้งแผ่นดิน เกิดสงครามแบบหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ชาวจีนต่างอพยพลงมาตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ดินแดนเก่าของง่อก๊ก อันมีปราการทางธรรมชาติจึงเป็นดินแดนที่ปลอดภัยที่สุด
ทางตอนเหนือถูกปกครองโดยอาณาจการอาณารยชนนอกด่าน 16 แคว้น จึงเรียกช่วงยุคนี้ว่า ช่วง "สิบหกแคว้น ห้าชนเผ่า อู่หูสือลิ่วกว๋อ" ซึ่งถ้าให้ไล่เรียงกันแล้วมีมากกว่าห้าชนเผ่า แต่ห้าชนเผ่าหลัก ๆ ประกอบไปด้วย ซวุงหนู ตี เฉียง เจี๋ย และ เซียนเปย โดยหนึ่งในนั้น เผ่าซวุงหนู อ้างตนว่ามีเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ฮั่น ผ่านการสมรสระหว่างแคว้นในอดีต โดยหลิวเย่า ผู้จับตัวพระเจ้าจิ้นหมิ่นตี้และส่งไปให้หลิวชงนั่นเอง
เหล่าผู้จงรักภักดี บ้างฆ่าตัวตาย บ้างหลบหนีไปอยู่กับอ๋องซือหม่าที่เหลืออยู่ พากันลงใต้ไปต้ังอยู่เมืองนานกิง เมืองหลวงเก่าของซุนกวนในสมัยสามก๊ก กลายเป็นยุคจิ้นตะวันออก หรือ "ตงจิ้น" อันมีอำนาจเพียงเสี้ยวทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินจีนเท่านั้น ทหารพลเรือนล้มตายนับแสน ความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต้องกล่าวถึง
เหล่าขุนนางที่ยังไม่ยอมรับชะตากรรมหวังกอบกู้ราชวงศ์จิ้น ยกซือหม่ารุ่ยขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันออก ณ เมืองเจี้ยนคัง หรือหนานจิง มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ด้วยความหวังของชาวจีนทางตอนใต้แม่น้ำแยงซีเกียงที่ต้องการกอบกู้บ้านเมืองแดนเหนือคืนมา
จนกระทั่ง จู่ถี้ แม่ทัพจากตระกูลใหญ่ที่ก่อนหน้านี้ได้พยายามยกขึ้นเหนือมาแล้ว เห็นโอกาสที่จะกอบกู้แผ่นดินทางเหนือมาได้ ขอการสนับสนุนจากซือหม่ารุ่ย กษัตริย์พระองค์ใหม่
ซือหม่ารุ่ยให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่งตั้งให้จู่ถี้เป็นเจ้าเมืองอี้ย์โจวพร้อมมอบเสบียงสนับสนุน สามารถยกขึ้นเหนือยันกับทัพสือเล่อและได้ดินแดนส่วนหนึ่งทางตอนเหนือ แต่กลับต้องหยุดชะงักลงเพราะขบถหวังตุ้นทางใต้ ทำให้จู่ถี้เสียชีวิตลงในปี 321
เมื่อการรวมแผ่นดินไม่สำเร็จ การรบกันเองภายในก็เกิดขึ้นเช่นเดิม นอกจากการแย่งชิงอำนาจในรูปแบบเดิมแล้ว การแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ที่เข้ามาใหม่จากทางเหนือ กับขั้วอำนาจเจ้าถิ่นเดิมทางใต้ก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรง การทำงานของซือหม่ารุ่ย ในนามของจิ้นหยวนตี้จึงไม่ค่อยจะราบรื่นนัก
มีการก่อความวุ่นวายขึ้นตลอดช่วงเวลาของราชวงศ์จิ้นตะวันออก จนกระทั่งอำนาจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นใน 4 ตระกูลใหญ่ คือ เซี่ย หวน อี่ว์ และตระกูลหวัง อำนาจของกษัตริย์ก็ถูกลดทอนลงตามวิถีเดิม จนในเวลาต่อมาจิ้นตะวันออกเริ่มสงบอีกครั้งเมื่อ "เซี่ยอัน" สามารถผสานความขัดแย้ง ประสานผลประโยชน์สยบความวุ่นวายลงได้ระยะหนึ่ง
จนกระทั่ง ปี 382 "ฝูเจียน" ผู้นำแคว้นเฉียนฉินผู้เพรียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมและความสามารถ ผู้เป็นยอดคนที่รวมอาณาจักรทางเหนือได้เป็นหนึ่งเดียวภายใน 15 ปี บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าด้วยการผสานและยอมรับขุนนางและการศึกษาแบบชาวฮั่น ก้าวสุดท้ายของฝูเจียนคือการยกทัพลงใต้เพื่อรวมแผ่นดินจิ้นผนวกเข้าเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ฟังคำทัดทานของหวางเมิ่ง กุนซืออัจฉริยะที่ให้ไว้ก่อนตาย
ฝูเจียนยกทัพลงมาประจันหน้ากับทัพจิ้นที่ลำน้ำเฝยสุ่ย บริเวณมณฑลอานฮุย แม่ทัพตระกูลเซี่ยนำทัพจากตระกูลต่าง ๆ ออกรับศึกขับไล่ฝูเจียนกลับไปได้ด้วยกำลังพลที่น้อยกว่า ฝูเจียนเข้าใกล้ความสำเร็จในการรวมเหนือใต้ แต่กุมชัยชนะไว้ไม่ได้ การพ่ายศึกครั้งนี้ของฝูเซียนทำให้เฉียนฉินค่อย ๆ เสื่อมถอยลง
ขณะที่ดินแดนเว่ยเป่ยทะเลทรายตอนเหนือมองโกเลียใน ค่อยๆเติบโตขึ้นมาแทนที่ ซึ่งจะมีบทบาทในช่วงของราชวงศ์เหนือใต้ต่อไป ฝ่ายราชวงศ์จิ้น แม้จะสามารถป้องกันศึกภายนอกไปได้ แต่การแก่งแย่งภายในกลับปะทุหนักขึ้นอีกครั้งจนบ้านเมืองที่บอบช้ำมานาน ใกล้ถึงจุดวิกฤติขั้นสุด
ความสงบและมั่นคงพอประมาณเกิดขึ้นกับราชวงศ์จิ้นตะวันออกกว่าร้อยปี ด้วยการวางกำลังพลตลอดลำน้ำแยงซีเกียง จนกระทั่งช่วงท้าย ราชสำนักจิ้นตะวันออกในขณะนี้เหมือนกำลังต่อสู้เพื่อซื้อเวลา การยื้อชีวิตอยู่อย่างสุดขีด พระเจ้าจิ้นอันตี้ได้ขึ้นครองราช พระอนุชาซือหม่าเต๋อเหวินต้องคอยช่วยเหลือบริหารราชการแผ่นดิน
จิ้นตะวันออกต้องสูญเสียกำลังพลมากมายในการปราบจราจล ก็ถูกหวนเซวียนรุกเข้าเจี้ยนคัง ปลดองค์ฮ่องเต้ จิ้นอันตี้
แต่ อีก 8 ปีต่อมา หลิวอวี้ซึ่งเป็นผู้ที่สนับสนุนหวนเซวียนในการก่อการครั้งก่อน ก็เข้ามาปราบปรามหวนเซวียนในที่สุด อ้างว่าทำเพื่อฟื้นฟูราชสำนักจิ้น แต่เมื่อยึดเมืองหลวงเจี้ยนคังได้แล้ว หลิวอวี้วางภาพลักษณ์ว่าเป็นคนดี สร้างชื่อเสียงจากสมรภูมิรบเพื่อราชวงศ์ สามารถตีขึ้นถึงนครลั่วหยาง ยึดดินแดนทางเหนือได้บางส่วน
ภาพลักษณ์คนดีของเขาทำให้มีฐานสนับสนุนของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลิวอวี้ได้บีบให้จิ้นอันตี้มอบตำแหน่งอ๋องให้ แล้วแกล้งปฏิเสธหลายครั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ปรากฎต่อสายตายคนทั่วไป แต่กลับปลดจิ้นอันตี้ในที่สุด ตั้งซือหม่าเต๋อเหวินขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เพียงสองปี หลิวอี้ก็บีบให้พระองค์สละราชสมบัติ เช่นเดียวกับที่สุมาเอี๋ยนทำกับพระเจ้าโจฮวน
หลิวอวี้ขึ้นเป็นกษัตริย์ นามซ่งอู่ตี้ สถาปนารัฐซ่ง นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ราชวงศ์หลิวซ่ง เพื่อให้แยกจากราชวงศ์ซ่งในช่วงเวลาหลังจากนี้ สิ้นสุดราชวงศ์จิ้นตะวันออกในที่สุด
ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนี้ คือยุคแห่งความวุ่นวายทางฝ่ายเหนือเช่นกัน ด้วยยุคที่เรียกว่า 16 แคว้น 5 ชนเผ่า และเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ราชวงศ์เหนือ-ใต้ หลังการก่อตั้งราชวงศ์หลิวซ่ง ของหลิวอวี้ ในปี 420
แม้ทั้งการสงครามและนโยบายการปกครอง เต็มไปด้วยความแตกแยกวุ่นวาย แต่ก็เกิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม การผสมผสานหลอมรวมกันทั้งสายเลือดและวิถีชีวิตของชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นมรดกที่ได้จากการแลกมาด้วยเลือดในครั้งนี้ก็คือ วิวัฒนาการทางด้านตัวอักษร งานเขียนพู่กันจีน ปราชญ์ กวี และสารที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นประทัด และดินระเบิดในสมัยต่อมา และ
การพัฒนาการของพุทธศาสนานิกายมหายานในและลัทธิเต๋าในจีน ซึ่งโดยรวมแล้วยังเรียกวิวัฒนาการในยุคนี้ว่า "ค่อยเป็นค่อยไป"
หลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นอันยาวนาน 400 ปี เข้าสู่ช่วงขุนศึกสามก๊ก แผ่นดินจีนก็ไม่ได้อยู่ในความสงบอีกเลยกว่า 400 ปีเช่นกัน กระทั่ง ปี คศ.581 หยางเจียน ขุนนางในราชวงศ์เป่ยโจว จะทำการปลดโจวจิงตี้ สถาปนาราชวงศ์สุย ขึ้นเป็นฮ่องเต้ นำทัพลงใต้ รวมแผ่นดินจีน เข้าสู่ยุคจักรวรรดิใหม่อีกครั้ง
ความวุ่นวายยังไม่จบสิ้น ตราบเท่าที่การปกครองถูกส่งผ่านมาจากสิ่งที่เรียกว่าจิตใจมนุษย์ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยพู่กันที่ลากผ่านด้วยเลือดของตระกูลสุมาและประชาชน ติดตามเส้นทางมังกรในตอนต่อไป เดินทางไปด้วยกัน กว่าจะก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจ แผ่นดินจีนต้องเผชิญกับสิ่งใดอีกบ้าง กับ เรื่องราวชุด เส้นทางมังกร ตอนต่อไปครับ
โฆษณา