30 พ.ค. 2022 เวลา 06:31 • อสังหาริมทรัพย์
นับวันเราจะยิ่งเจอเกษตรกรพันล้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรในชนบท หรือแม้กระทั่งใจกลางเมืองเกษตรกรพันล้านก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นั่นไม่ใช่ว่ารัฐทำสำเร็จในด้านการผลักดันเกษตรกรให้รวยขึ้น แต่แสดงถึงความล้มเหลวของระบบการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมเกิดการเลี่ยงภาษีได้ง่าย จนสุดท้ายเกิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะจุดประสงค์มีไว้เพื่อลดภาระภาษีเท่านั้น
การเก็บภาษีที่ดินตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีการประกาศในช่วงต้นปี 2562 และบังคับใช้จริงในต้นปี 2563
โดยประเด็นที่ถูกบีบบังคับให้ผู้ถือครองที่ดินที่มีลักษณะที่ดินเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินเนื่องจากอัตราภาษีที่ดินของพื้นที่รกร้างว่างเปล่านั้นสูงมาก และมีการเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดอีกปีละ 0.3% และมีเพดานสูงสุดที่ 3% ของราคาประเมิน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น
ดังนั้นหากอยากหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราที่สูงนี้ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากหลักเกณฑ์ไม่ยุ่งยาก แค่ปลูกพืชตามจำนวนที่กำหนดไว้ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ได้แล้ว จึงเป็นช่องให้ผู้ที่ต้องการลดภาระภาษีที่ต้องเสียให้กับทางรัฐ
หากอ้างอิงจากตัวเลขพื้นที่เกษตรกรรมเช่นไม้ผลในช่วงก่อนและหลังการประกาศใช้ พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 10-15% แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์มาเป็นรูปแบบเกษตรกรรมเยอะขึ้น
และจากตัวเลขการถือครองที่ดินของประเทศไทย พบว่า คนรวย 10% แรกถือครองที่ดิน 80% ของพื้นที่ทั้งประเทศ สะท้อนว่าพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจำนวนไม่น้อยเกิดจากผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์ในการทำเกษตรแต่ต้องการเพียงลดภาระภาษี ทำให้การใช้พื้นที่ในรูปแบบนี้ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
แต่หากจะมองว่าผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องดูว่ารัฐสร้างทางเลือกไหนให้กับพวกเขาบ้าง หากเขาต้องการลดภาษีโดยการนำพื้นที่นี้ไปสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารเชิงพาณิชย์ ทั้งที่เขาไม่ได้มีแผนจะลงทุนในช่วงนี้เพราะเหตุผลไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ตอนนี้หรือเหตุผลอื่น ๆ เขาควรจะใช้เงินก้อนใหญ่ไปลงทุนเพื่อหวังแค่ผลประโยชน์ทางภาษีหรือเปล่า รัฐควรมีทางเลือกอื่นให้กับผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่หรือไม่
ล่าสุดวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ผู้ว่าคนใหม่ ดร.ชัชชาติ ได้ลงพื้นที่ของเอกชนที่ยินยอมให้ กทม. ใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว บริเวณสี่แยกวงศ์สว่าง พร้อมกล่าวเชิญชวนให้ผู้ถือครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายใน กทม. นำพื้นที่ของตนมาให้กทม. เช่า เพื่อรับผลประโยชน์ทางภาษี
แนวทางปฏิบัตินี้เป็นทางออกที่ดีของทั้งสองฝ่าย ฝั่งกทม. ได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ถือครองที่ดินก็สามารถลดภาระทางภาษีได้เช่นกัน ทำให้พื้นที่รกร้างเดิมกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
โฆษณา