30 พ.ค. 2022 เวลา 11:23 • ประวัติศาสตร์
ตัวเลขไทย VS ตัวเลขเขมร เข้าใจที่มารากฐาน
ก่อนการออกความเห็น ควรมีความรู้
2
โดย : ดร. ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
1
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นให้เลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการ และมีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ความคิดเห็นบางส่วนก็ได้ขยายขอบเขตไปจนถึงการเสนอให้เลิกใช้ภาษาไทยหรือเลิกใช้พุทธศักราชในเอกสารราชการไปด้วย โดยอ้างถึงความไม่เป็นสากล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องมาตั้งคำถามว่าลักษณะความเป็นสากลนั้นใครเป็นผู้กำหนด และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงมากน้อยเพียงใด
3
เมื่อกล่าวถึงเรื่องเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมกับการเรียกชุดตัวเลข ๑ ๒ ๓ ... ว่า “เลขไทย” นั้น ก็มีผู้มาแสดงความเห็นอีกว่าเลขดังกล่าวนี้ควรเรียกว่าเลขเขมร เพราะเป็นชุดวิธีการเขียนสัญลักษณ์แทนจำนวนที่อักษรไทยรับมาจากเขมร การแสดงความเห็นในประเด็นนี้ได้รับการแชร์และขยายความต่อโดยผู้นำทางความคิด (Influencers) หลายคน
1
อันนำไปสู่การที่มีผู้มาแสดงความเห็นต่อว่าอันที่จริงแล้ววัฒนธรรมไทยนั้นไม่มีอะไรเป็นของตนเองหรือไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจเลย
เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมาจากเขมรแทบจะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษา ประเพณีราชสำนัก หรือแม้แต่กระทั่งการเขียนระบบตัวเลข ฉะนั้นวัฒนธรรมไทยรวมถึงเลขไทยที่เราบอกว่าเป็นอัตลักษณ์ของตัวเราเองนั้น ควรจะเป็นของเขมรมากกว่า
2
มองดูแต่เผิน ๆ ก็อาจจะมองได้ว่าแนวคิดแบบนี้ดูแหวกแนวดีสำหรับศตวรรษที่ 21 เป็นการทลายกรอบความเป็นชาติในพร่าเลือน ลดความเป็นชาตินิยมลงหรือค่านิยมอะไรก็ตามที่คนบางกลุ่มนิยมชมชอบ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่เราจะแสดงความเห็นต่อเรื่องใดก็ตามนั่นก็คือเราควรจะต้องมีพื้นฐานข้อเท็จจริงเสียก่อนจึงจะแสดงความเห็นได้อย่างชาญฉลาด
2
ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่แสดงความเห็นได้ว่าเลขไทยรับอิทธิพลมาจากเลขเขมร เขาควรรู้จักตั้งคำถามต่อไปด้วยว่าแล้วเขมรรับเอาวิธีการเขียนตัวเลขแบบนี้มาจากไหน
3
🔵 รากเลข
2
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างพื้นฐานที่สุดสำหรับเรื่องระบบตัวเลข (รวมถึงตัวอักษร) นั้นก็คือ ชุดสัญลักษณ์แทนจำนวนที่เรียกกันว่า “ตัวเลขไทย” (ซึ่งก็ไม่ได้มีลักษณะอย่างในปัจจุบัน) นั้นเริ่มต้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชลงมา ต้นแบบของเลขไทยที่ปรากฏอยู่ในศิลาจาจารึกสมัยสุโขทัยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอักษรเขมรสมัยเมืองพระนคร
1
หรือขอเรียกโดยอนุโลมให้คนทั่วไปเข้าใจคือสมัยนครวัดนั่นเอง
คำถามต่อไปก็คือแล้วเขมรสมัยเมืองพระนครนั้นไปรับเอารูปแบบตัวเลขมาจาไหน คำตอบก็คือบริเวณอินเดียตอนใต้นั้นมีวัฒนธรรม (หรืออาณาจักร) หนึ่งเจริญขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 13 เรียกว่าวัฒนธรรมปัลลวะ อักษรปัลลวะจากอินเดียใต้ได้กลายเป็นต้นแบบของอักษรในอาณาจักรโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย
2
รวมถึงอาณาจักรเขมรโบราณด้วย เพราะฉะนั้นหากยึดตามกรอบความคิดของกลุ่มคนที่ปฏิเสธการเรียกสัญลักษณ์แทนจำนวน ๑ ๒ ๓ ... ว่าเลขไทยและให้เรียกว่าเลขเขมรแทนนั้น ก็ควรจะตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วเหตุใดจึงไม่เรียกทั้งเลขไทยและเลขเขมรว่า “เลขปัลลวะ” ไปเสีย จะได้สนองต่ออุดมการณ์ความคิดทั้งหลายทั้งปวงที่คนกลุ่มนี้ตั้งเอาไว้
3
แต่ครั้นจะเรียกว่าเลขปัลลวะ ก็คงต้องตั้งคำถามไปอีกว่าอินเดียนั้นไม่ได้เริ่มต้นอารยธรรมของตนในสมัยปัลลวะ แต่ในแผ่นดินอินเดียก็ได้มีอาณาจักรน้อยใหญ่เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้าสมัยปัลลวะมากมาย ดังนั้นคำถามถัดไปก็คือแล้วอักษรปัลลวะมีที่มาจากไหน ถ้าสืบค้นต่อไปก็จะพบว่าตามหลักวิวัฒนาการอักษร (Palaeography) แล้ว อักษรปัลลวะน่าจะพัฒนามาจากอักษรพราหมี
3
ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้แพร่หลายในอินเดียโบราณ อักษรพราหมีมีวิวัฒนาการยาวนานและใช้กันมายาวนานหลายรุ่น สำหรับอักษรพราหมีรุ่นแรก ๆ ที่ชาวไทย (โดยเฉพาะชาวพุทธ) น่าจะคุ้นเคยบ้างก็คืออักษรพราหมีที่อยู่บนจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชในพุทธศตวรรษที่ 3 อันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราทราบประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาได้นั่นเอง
3
ถ้าคิดตามตรรกะชุดของคนที่พยายามจะเสนอให้เรียกเลขไทยว่าเลขเขมรแล้ว หรือเราควรจะเปลี่ยนไปเรียกทั้งเลขไทย เลขเขมร และเลขปัลลวะ ว่า “เลขพราหมี” จะได้สาแก่ใจที่ได้สืบรากถึงต้นเค้า
2
แต่จะเรียกว่าเลขพราหมีได้อย่างไรครับ ในเมื่อนักภาษาศาสตร์ยังพบอักษรในอินเดียรุ่นที่เก่าแก่ไปกว่าอักษรพราหมีอีก เช่น อักษรในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งนักโบราณคดียังอ่านไม่ออก หรืออาจเชื่อมโยงไปถึงอักษรเซมิติกซึ่งน่าจะเป็นต้นเค้าของอักษรในแอฟริกาตอนเหนือและโลกมุสลิมหลายประเทศ
1
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความพยายามที่จะค่อนแคะแซะไซ้เรียกเลขไทยว่าเลขเขมร น่าจะเป็นแค่ความสะใจของคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้หยามหยันวัฒนธรรมไทย เพราะเลขเขมรเองก็ไม่ใช่เลขเขมรแท้ ๆ ยังสามารถสืบค้นต้นเค้าไปได้อีกหลายยุคหลายสมัยและยังหาข้อยุติถึงต้นเค้าที่แท้จริงไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
2
สำหรับ “เลขเขมร” แบบในปัจจุบันที่มีลักษณะเหมือนกับเลขไทยแทบจะทุกประการนั้นเกิดขึ้นจากการที่ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขมรเป็นประเทศราชของสยาม เจ้านายเขมรหลายพระองค์เคยประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนจะเสด็จกลับไปยังบ้านเมืองของพระองค์ ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เคยไปประทับเป็น “องค์ประกัน” ในช่วงที่อยุธยาเป็นประเทศราชของหงสาวดี ทำนองไหนก็ทำนองนั้น
1
เมื่อเจ้านายเขมรเหล่านี้ได้เสด็จกลับกัมพูชาแล้ว ก็ได้ทรงนำเอาวัฒนธรรมของไทยหลายอย่างกลับไปที่ราชสำนักและสังคมกัมพูชาด้วย เช่น สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ วรรณกรรม รวมถึงระบบตัวเลขไทยด้วย เจ้านายเขมรรุ่นเก่า ๆ หลายพระองค์ตรัสและทรงเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เรื่องเหล่านี้มีประจักษ์พยานอยู่มากมาย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวโดยย่อว่าเลขไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นรับอิทธิพลมาจากเลขเขมรโบราณ
3
ส่วนเลขเขมรปัจจุบันนั้นก็รับอิทธิพลมาจากเลขไทยอีกทอดหนึ่ง การถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนที่บ้านใกล้เรือนเคียงกันก็เป็นเช่นนี้เสมอมาในทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด
1
อันที่จริงแล้วข้อมูลที่ผมเรียบเรียงขึ้นข้างต้นนั้นก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เข้าถึงยากอะไร ไม่ต้องเปิดหนังสือเลยด้วยซ้ำ เพราะเพียงแค่ใช้สมาร์ตโฟนในมือค้นคว้าข้อมูลไม่เกินสองหรือสามคลิก ก็จะได้รับทราบข้อมูลทั้งหมดที่ผมเสนอเอาไว้ข้างต้นนี้ เพียงแต่การเขียนบทความนี้ผมอาศัยเปิดหนังสืออ้างอิงทางวิชาการประกอบไปด้วยเพื่อความแม่นยำมากขึ้นเท่านั้นเอง
1
และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตัวเลขทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความรู้ระดับพื้นฐาน ที่ผู้สนใจจะแสดงความคิดเห็นเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ” ระบบการเขียนตัวเลขแบบไทยควรจะมีความรู้เรื่องเหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว
3
🔵 วัฒนธรรมแท้
ในระยะหลังเราจะเห็นความพยายามในการโจมตีวัฒนธรรมไทยอยู่บ่อยครั้งว่าไทยเรานั้นไม่มีอะไรเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ ๆ เลย เพราะวัฒนธรรมไทยก็ล้วนแล้วแต่รับและปรับมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมเขมร แต่ถ้าเราได้ศึกษาวัฒนธรรมของประเทศหรือกลุ่มชนทั่วโลกมาก ๆ เข้า เราจะพบว่าวัฒนธรรมของแทบจะทุกพื้นที่ล้วนแล้วแต่ได้รับการผสมผสานจากวัฒนธรรมอื่นทั้งนั้น
2
เพราะสังคมที่ไม่มีการผสมผสานวัฒนธรรมจากที่อื่นเลยก็คือสังคมที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ไม่คบค้าสมาคม ไม่ค้าขาย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ซึ่งนั่นไม่ใช่สังคมไทย และไม่มีสังคมที่ “เจริญ” แล้วสังคมไหนใช้ชีวิตเช่นนั้น
2
แม้กระทั่ง “อินเดีย” ซึ่งเป็นต้นเค้าของวัฒนธรรมหลายอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพของวัฒนธรรมอินเดียในปัจจุบันก็ได้รับการผสมผสานจากหลายวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมของพวกเซมิติก เปอร์เซีย และอาระเบีย
ฉะนั้น การจะเรียกวัฒนธรรมด้วยชื่อกลุ่มชนหรือประเทศ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมจีน และวัฒนธรรมอินเดีย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะวัฒนธรรมเป็นความสามารถของแต่ละกลุ่มชนในการ “เลือก - รับ - ปรับ - ปรุง” ของแต่ละชาติ ขึ้นกับว่าคนในแต่ละชาติจะเลือกวัฒนธรรมจากชาติไหน รับวัฒนธรรมอะไรเข้ามา และรับเข้ามาอย่างไร
2
เมื่อรับเข้ามาแล้วเอามาปรับให้เข้ากับวิถีของตนเองอย่างไรได้บ้าง และปรุงอย่างไรให้วัฒนธรรมนั้นกลมกล่อม กลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมา ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้วัฒนธรรมอันหลากหลายทั่วโลกมีลักษณะร่วมกันหลายประการ และต่างฝ่ายต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเองด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนที่สุดก็คือไม่มีใครปฏิเสธว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเกาหลีมีแม่แบบคือวัฒนธรรมจีน แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีก็สามารถปรุงวัฒนธรรมจีนให้กลายเป็นวัฒนธรรมแบบตนเองได้ ถ้าใช้กรอบความคิดของคนบางกลุ่มเข้าไปจับแล้วล่ะก็เห็นทีว่าคงจะต้องเรียกวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเกาหลีว่าวัฒนธรรมจีนให้หมด ซึ่งไม่ถูกต้อง
5
หากว่าด้วยเรื่องของการใช้ระบบตัวเลขของวัฒนธรรมต่าง ๆ เราจะเห็นว่าเลขฮินดู - อารบิก (1 2 3 …) ไม่ได้รับการใช้ในทุกกรณีเสมอไป ในสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีการใช้ตัวเลขของตน (เลขลาว เลขเขมร เลขพม่า) ในเอกสารต่าง ๆ ในเอกสารข้อตกลง สัญญา หรือกฎหมายระหว่างประเทศมีการใช้เลขโรมันผสม ในกลุ่มประเทศอาหรับนิยมใช้เลขอาหรับตะวันออก (Mashriki) : ١ ٢ ٣ ٤ ٥ ٦ ٧ ٨ ...
1
กันอย่างกว้างขวาง ทั้งบนประกาศ หรือทะเบียนรถ ซึ่งเป็นระบบตัวเลขที่คนจากวัฒนธรรมอื่นจะไม่มีทางเข้าใจได้เลยหากไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นการใช้ระบบตัวเลขของแต่ละชาติจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเราใช้สายตาของเรากวาดออกไปมองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่บนโลกใบนี้ให้มากพอ
3
สังคมไทยเป็นสังคมเปิด ด้วยบุคลิกลักษณะของคนไทยเราเอง รวมถึงภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นทางผ่านและจุดนัดพบของวัฒนธรรมอันหลากหลายของโลกตะวันออกตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา รวมถึงชาติตะวันตกอีกหลายชาติที่เดินทางมาค้าขายยังดินแดนตะวันออกไกลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
เพราะฉะนั้นโดยพื้นฐานเหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยแม้แต่น้อยที่วัฒนธรรมไทยจะเป็นวัฒนธรรมที่เกิดการผสมผสานจากหลายที่มา และความสามารถในการเลือก - รับ - ปรับ – ปรุงของคนไทยนี้เองที่ทำให้เราสามารถประนีประนอมและผสมเอาวัฒนธรรมจากหลายที่ ผสานเข้ากับวิถีดั้งเดิมของคนไทยให้กลายเป็น “วัฒนธรรมไทย” ขึ้นมา
1
และปัจจุบันนี้วัฒนธรรมไทยก็ได้กลายเป็นแบรนด์อันโดดเด่นไปแล้ว เพราะเมื่อจัดอันดับความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในระดับโลกขึ้นมาครั้งใด ชื่อของ “ไทย” ก็จะได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับต้น ๆ ทุกครั้ง
5
ในโลกที่ Soft Power ถูกดึงเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพยายามปฏิเสธคุณค่าอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์หรือทฤษฎีอะไรบางอย่าง รวมถึงการปฏิเสธข้อเท็จจริงพื้นฐานหลายประการเพียงเพื่อจะแสดงความคิดเห็นให้เข้ากับลัทธิความเชื่อที่ตนเองบูชานั้นเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่
2
หากเราค่อย ๆ ใช้วิจารณญาณในการใคร่ครวญให้ดี เราทุกคนก็คงจะมีคำตอบอยู่ในใจของตนเองได้
🔵 กลั่นความเห็น
ในยุคปัจจุบันที่เราใช้เวลาไปกับโลกโซเชียลมาก ๆ เสพดราม่าไม่เว้นแต่ละวัน เราทุกคนกำลังตกอยู่ในภาวะข้อมูลท่วมท้น (Information Overload) จนยากที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง เราสามารถถูกชักจูงให้โน้มเอียงหรือเชื่อถือศรัทธาไปกับอะไร ๆ ผ่านกลไกการจัดการข้อมูลในโลกออนไลน์ได้ง่ายมากโดยที่เราเองก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
3
เราเห็นความเคยชินในการ “พ่น” ความเห็นของชาวโซเชียลมากมายโดยไม่สืบค้นข้อมูลหรือไม่แม้กระทั่งจะอ่านข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า การแสดงความเห็นโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นคุณสมบัติของพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่วิถีของสังคมที่เจริญแล้ว และไม่มีใช่คุณสมบัติของผู้ที่จะขับเคลื่อนสังคมให้มีคุณภาพต่อไปได้ในภายหน้า
3
เวลามีดราม่าอะไรสักอย่างเกิดขึ้น เราจะสังเกตได้ว่า “ชาวเน็ต” จะให้ความสำคัญกับแก่นสาระของประเด็นต่าง ๆ น้อยมาก แต่จะชินกับการใช้อารมณ์สาดพ่นข้อความต่าง ๆ อย่างเช่น มีผู้แสดงความเห็นทำนองว่าเลขไทยไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากการเอาไว้เขียนราคาเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ
3
สำหรับคนไทยราคาหนึ่งและชาวต่างชาติราคาหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับสาระประเด็นเรื่องการใช้เลขไทยในการสื่อสารในเอกสารราชการเลย และเรื่องการเก็บค่าเข้าชมคนชาตินั้นราคาหนึ่ง ชาวต่างชาติราคาหนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกเรื่องต่างหาก
3
เพราะหลายประเทศในโลกนี้ก็ทำเช่นนี้ ไม่ได้มีประเทศไทยประเทศเดียว และยังมีเหตุผลรองรับเรื่องของกระบวนการจัดสรรงบประมาณบำรุงสถานที่และการหารายได้ของพื้นที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะยังไม่พูดถึง ผู้ที่สนใจจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ย่อมน่าจะทราบว่าสามารถหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้จากที่ใดบ้าง
ถ้าเราเคยชินกับการมักง่าย แชร์อะไรง่าย ๆ ปั่นอะไรง่าย ๆ ผู้ผลิตสื่อและ Influencers ทั้งหลายที่หวังเพียงแค่ยอดไลก์และยอดแชร์ก็จะทราบว่าผู้ติดตามของพวกเขานั้นเชื่อคนง่าย เราก็จะมีคอนเทนต์ที่ดูถูกสติปัญญาผู้รับสารออกมาเกลื่อนกลาดมากมายอย่างที่เห็นอยู่
1
แต่ถ้าผู้รับสารของเรามีวิจารณญาณให้มาก ผู้ผลิตสื่อทั้งหลายก็จะเกิดความตระหนักขึ้นมาได้เองว่าไม่ควรแชร์หรือชี้นำอะไรง่าย ๆ เพราะผู้ติดตามของพวกเขาไม่ได้โง่ถึงขนาดนั้น
1
เรื่องเหล่านี้อาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ จากประโยคเชย ๆ ที่มีคนพูดกันมาช้านาน แต่ก็ยังคงจริงแสนจริงอยู่ในโลกปัจจุบันก็ได้ว่า
“ก่อนมีความเห็น ควรมีความรู้”
3
แหล่งอ้างอิง
- จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ. 2551. จากลายสือไทยสู่อักษรไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศานติ ภักดีคำ. 2546. ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมรหรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?
- [ออนไลน์]. ใน silpa-mag.com สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565
2
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา