30 พ.ค. 2022 เวลา 15:23 • ประวัติศาสตร์
เวียงกาหลง กับตำนาน พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์
ปรัชญาในเครื่องเคลือบโบราณ "เวียงกาหลง" "เมืองเวียงกาหลง" คือชื่อของเมืองโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งอารยธรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ของล้านนา โดยก่อนที่เมืองจะล่มสลาย เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งศิลปวิทยาการการผลิตเครื่องถ้วยชามของสยาม ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงซากเตาเผาโบราณอันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ แม้ว่าเมืองเวียงกาหลงจะสูญสลายไปตามกาลเวลา
ทว่าเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงก็มิได้สิ้นตามไปด้วย มีความพยายามรื้อฟื้นขึ้นใหม่โดยลูกหลานชาวเวียงกาหลงแห่งนี้นั่นเอง ปัจจุบันเมืองเวียงกาหลงตั้งอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หลังจากมีการขุดค้นพบแนวคูดินและกำแพงเมืองเก่า รวมถึงเตาเผาและชิ้นส่วนภาชนะต่างๆ ทำให้เมืองล้านนาโบราณแห่งนี้ถูกปลุกขึ้นมาจากการหลับใหล
หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกขุดค้นพบคือ "เตาเผาเวียงกาหลง" โดย พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ในปี ๒๔๗๖ พร้อมกับเสนอข้อสันนิษฐานที่ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมว่า แหล่งเตาเวียงกาหลงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาด้านการผลิตเครื่องถ้วยชามของสยามตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือตั้งแต่สมัยโยนก เชียงแสน จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังสุโขทัย
แต่กระนั้นข้อสันนิษฐานที่ให้ไว้นี้มีผู้ที่เห็นด้วยน้อยมากเนื่องจากเห็นว่าเก่าเกินไป นักวิชาการในยุคหลังจึงเชื่อว่าเตาเวียงกาหลงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ร่วมสมัยกับยุคราชวงศ์มังราย โดยเมืองโบราณดังกล่าวมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณสองศตวรรษก่อนที่จะเสื่อมลงพร้อมอาณาจักรล้านนาที่ถูกพม่าเข้ามาปกครอง
แม้จะพยายามหาอายุของเครื่องถ้วยเวียงกาหลง แต่ก็ยังไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของเมืองที่บางกลุ่มยังเชื่อว่า เมืองนี้เกิดขึ้นมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยเชื่อว่าแม้เครื่องถ้วยจะเกิดในยุคหลัง แต่ตัวเมืองน่าจะเกิดก่อนหน้านั้น และมีการสะสมอารยธรรม องค์ความรู้ต่างๆมาก่อน
ส่วนสาเหตุแห่งการล่มสลายของเมืองเวียงกาหลงไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานอีกเช่นกัน อาทิ เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ เช่น น้ำท่วมจนทำให้บ้านเมืองจมอยู่ใต้น้ำ เตาเผาจำนวนมากจมอยู่ใต้ดิน หรือเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาต้องปิดตัวลงและทิ้งให้เป็นเมืองร้างมานานนับร้อยปี จวบจนยุคต่อมาเมืองเวียงกาหลงได้เกิดชุมชนขึ้นมาใหม่
และเกิดการรื้อฟื้นศิลปวิทยาการทำเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงขึ้นมาอีกครั้ง โดย "ทัน ธิจิตตัง" หรือ "สล่าทัน" ลูกหลานชาวเวียงกาหลง หนึ่งในกลุ่มของผู้ที่พยายามเข้ามาศึกษาวิจัยและนำเครื่องปั้นดินเผาโบราณชนิดนี้ให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
"เวียงกาหลงเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบของล้านนาที่ใหญ่ที่สุด เตาโบราณที่ผมศึกษาว่ามีกี่เตา ที่จริงแล้วมีหลายร้อยเตาเลย ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของล้านนา ผมได้เห็นเศษกระเบื้องเศษวัตถุโบราณมาตั้งแต่เด็กจึงสนใจอยากหยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาศึกษาว่าแท้จริงแล้วมันมีชื่อว่าอะไร ทำจากอะไร และมีองค์ประกอบอะไรบ้าง จนได้คำตอบว่านี่คือเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงนั่นเอง"
สล่าทันเล่าว่า ตัวเองเป็นคนในพื้นที่เวียงกาหลง เกิดและเติบโตที่นี่ เดิมทำอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย จนวันหนึ่งเขาได้พบกับชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ของวัตถุโบราณประจำบ้านเกิดบ้าง
โดยเริ่มค้นคว้าตั้งแต่การปั้น การเคลือบ ส่วนประกอบของสี รวมทั้งลวดลายโบราณ ใช้เวลานานถึง ๑๘ ปี จนสามารถนำเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงกลับมาได้อีกครั้ง "
ดินของเวียงกาหลงเป็นดินปากปล่องภูเขาไฟที่มีคุณภาพดี มีน้ำหนักเบา ผิวบาง ผมเคยทดลองทำบางที่สุด ได้ความบางจนเกือบเท่าแผ่นกระดาษ เวลาจับส่องไฟจะมองทะลุเห็นมือเลย อันนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะของดินที่เวียงกาหลง" เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงมักจะทำขึ้นเป็น
ถ้วย โถ ชาม แจกัน หรือรูปปั้นต่างๆ วัสดุที่ใช้คือดินขาวในพื้นที่ ซึ่งมีคุณภาพดี ทนความร้อนได้ดี และยังมีความโดดเด่นในเรื่องของความเบาบาง แต่แข็งแกร่ง ส่วนเทคนิคที่ใช้ในการเขียนลายคือ การเขียนสีใต้เคลือบ ซึ่งวัสดุที่ใช้เขียนสีและน้ำเคลือบเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งสล่าทันค้นคว้าและพยายามคงไว้ซึ่งกรรมวิธีและวัตถุดิบตามแบบอย่างโบราณให้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นที่สำคัญอีกอย่าง นั่นคือลวดลายบนเครื่องเคลือบที่มักเขียนให้มีความหมายลึกซึ้ง สัมพันธ์กับคติความเชื่อดั้งเดิมของเมืองกาหลงและปรัชญาทางพุทธศาสนา "อย่างลายดอกกาหลงมาจากเรื่องราวของตำนานท้องถิ่นที่เล่ากันว่า ในสมัยต้นปฐมกัป มีพญากาเผือก ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา เวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง ๕ พระองค์
� เมื่อครบกำหนดแม่กาเผือกก็ออกไข่ในรังที่ต้นมะเดื่อจำนวน ๕ ฟอง แม่กาเผือกเฝ้าฟักทะนุถนอมอย่างดี ต่อมาพญากาเผือกทั้งสองได้ออกไปหากินในถิ่นแดนไกล จนไปเจอสถานที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ทำให้เพลิดเพลินกับธรรมชาติ แต่แล้วเกิดฝนฟ้าคะนองมืดครึ้มไปทั่ว ทำให้พญากาเผือกหาหนทางกลับออกไปไม่ถูก จึงหลงทางอยู่บริเวณนั้น ซึ่งสถานที่แห่งนี้ต่อมาได้ชื่อว่า 'เวียงกาหลง' นั่นเอง
พออรุณเบิกฟ้า พญากาเผือกหาทางกลับไปยังรังที่ต้นมะเดื่อริมแม่น้ำคงคา ปรากฏว่ารังถูกพายุพัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ แม่พญากาเผือกพยายามหาไข่ทั้ง ๕ ฟอง แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ ยังความเศร้าโศกเสียใจจนทำให้แม่พญากาเผือกตรอมใจตาย ส่วนไข่ทั้ง ๕ ฟองนั้น ถูกพัดตกน้ำไหลไปสถานที่ต่างๆ
ได้แก่ ไข่ฟองแรกมีแม่ไก่เก็บไปดูแล ฟองที่ ๒ แม่นาคราชเก็บไปดูแล ไข่ฟองที่ ๓ แม่เต่าเก็บไปดูแล ไข่ฟองที่ ๔ แม่โคเก็บไปดูแล และไข่ฟองสุดท้ายแม่ราชสีห์เก็บไปดูแล เมื่อไข่ทั้ง ๕ ซึ่งก็คือพระโพธิสัตว์จุติประสูติออกมา ได้บำเพ็ญเพียรบารมีพระโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ อันมีนามตามแม่ที่เก็บไข่ไปดูแล ดังต่อไปนี้
องค์ที่ ๑ พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ที่ ๒ พระโกนาคมโนสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ที่ ๓ พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ที่ ๔ พระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า และองค์ที่ ๕ พระศรีอริยเมตไตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ลวดลายดอกกาหลงที่มีกลีบดอก ๕ กลีบ จึงหมายถึงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นั่นเอง
ลวดลายโบราณยังมีในกลุ่ม 'สัตว์มงคล' เช่น ลายปลาตะเพียน หมายถึงโชคลาภ ลายม้ามังกรเป็นเรื่องของพลังอำนาจ ส่วนลายหงส์ นกยูง ไก่ฟ้า คือวาสนาบารมี ไปไหนคนต่างชื่นชม
1
สุดท้ายเราอยู่บนโลกต้องการอายุยืนยาวคือเต่า อำนาจคือสัตว์ที่ดุดัน วาสนาบารมีคนชมชอบคือสัตว์ที่มีลักษณะสง่างาม ส่วนเต่าคือคนที่อายุยืนจะต้องสุขุม เยือกเย็น ไม่เบียดเบียนเหมือนเต่า นอกจากสัตว์แล้วยังมีลาย 'พฤกษามงคล' หรือพรรณไม้มงคลต่างๆ
เช่น ลายเถาวัลย์ก้านขด ขดซ้ายขดขวาเลื้อยไปได้ทุกที่ ความหมายคือความสะดวก ราบรื่น ลายบัวเล็บช้างหมายถึงความมั่นคง จุดหมึกก็มีความหมาย คือการบอกวัฏจักรตั้งแต่จุดที่ ๑ เมื่อถึงจุดที่ ๙ แล้วต้องวนกลับไปที่ศูนย์ และเริ่มต้นวัฏจักรใหม่"
ไม่เพียงแค่ลายโบราณ ยังมีลายที่สล่าทันคิดขึ้นมามีชื่อเรียกว่า "ลายปัญจะมะฌานะ" โดยเขาเล่าว่า ลายนี้เล่าถึงศิลปะแห่งความสำเร็จว่าเกิดขึ้นได้จากอะไร โดยทั่วไปคนมักกล่าวว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ซึ่งนั่นยังเป็นความเข้าใจในระดับพื้นฐาน แต่เขาได้อธิบายหนทางสู่ความสำเร็จว่ามาจากความสมบูรณ์ของ ๕ องค์ประกอบ
คือ ศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ เข้าใจสมบูรณ์ ปฏิบัติสมบูรณ์ โดยนำแนวคิดนี้มาออกแบบกลายเป็นผลงานชิ้นเอกคือ จานลายปัญจะมะฌานะ ปัจจุบันสล่าทันผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงออกมาทั้งในเชิงงานอนุรักษ์ดั้งเดิม และในเชิงร่วมสมัยที่ปรับให้เข้ากับความชอบของคนรุ่นใหม่ โดยงานโบราณมักจะนิยมเขียนลวดลายที่มีความละเอียดค่อนข้างมากลงไปในเครื่องปั้นดินเผา
แต่สำหรับงานสมัยใหม่จะลดทอนความละเอียดเหล่านั้นลง ทว่าในด้านปรัชญาที่แฝงไว้ไม่ได้ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังที่สล่าทันกล่าวไว้ว่า "เขียนน้อยแต่ให้ความหมายได้ลึก" ศิลปินผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง คือศิลปะที่ถ่ายทอดความจริงของธรรมชาติ ซึ่งนั่นคือคุณค่าสำคัญอีกประการของเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้
ที่นอกจากจะเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งการทำเครื่องเคลือบโบราณแล้ว ลวดลายที่ปรากฏยังเปรียบเสมือนคำสอนโบราณของบรรพบุรุษที่ถูกถ่ายทอดเป็นปรัชญาแห่งชีวิตสู่บรรพชนรุ่นหลัง "อย่างลวดลายที่เรียกว่า ๓ วิกฤต ๓ โอกาส บอกว่าในชีวิตคนเราจะดวงดีเรียกว่าเป็นโอกาส พอขึ้นสุดแล้วก็จะลงเป็นวิกฤต
ในช่วงชีวิตคนจะเจอ ๓ ครั้ง เมื่อครบหมดอายุขัยก็แยกย้ายกันไป แต่ปราชญ์โบราณท่านได้บอกไว้ว่า ถ้าเราปล่อยให้ชีวิตเดินทางตามนี้ก็จะขึ้นๆลงๆ ดังนั้น ควรดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ชีวิตถึงจะราบรื่น ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงก็ได้นำความจริงของธรรมชาติข้อนี้มาถ่ายทอดในลักษณะของงานศิลปะที่เราสามารถจับต้องได้"
ข้อมูลอ้างอิง : เรื่องโบราณคดีของเครื่องถ้วยเวียงกาหลง ศูนย์ศึกษาพัฒนาโบราณคดีชุมชน
ที่มา:เจาะเวลาหาอดีต fb fanpage
Thanks like love comments follow all fc @min Rookie

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา