19 ส.ค. 2022 เวลา 10:27 • การศึกษา
โทษของการพูดไม่ถูกกาล
“เราเกิดมาสร้างบารมี” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุก ๆ คนจะต้องรับทราบกัน เพราะการสร้างบารมีเป็นภารกิจหลักที่ยิ่งใหญ่ กว่าภารกิจทั้งหลายในโลก ถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งที่จะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เพราะตราบใดที่เรายังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน
มนุษย์ในยุคนี้มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินร้อยปี ก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่เงื้อมมือของพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ที่ไม่เคยปรานีใคร เมื่อมีความประมาทไม่ได้สั่งสมเสบียงคือบุญเอาไว้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงหนักแน่นมั่นคงในการสั่งสมบุญบารมี โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านเหล่านั้นมักจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่วาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง และพร้อมเสมอต่อการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ เพราะตระหนักดีว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพชีวิต
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ ชีวิตของเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มีพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มงคลสูตร ว่า
 
“สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
 
การกล่าววาจาสุภาษิต เป็นมงคลอันสูงสุด”
การอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันนี้ คำพูดนั้นเป็นสื่อที่ใช้มากที่สุดก็ว่าได้ วาจาสุภาษิตนั้นหมายถึงคำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว คิดแล้วคิดอีกจึงพูดออกไป มิได้หมายความว่า อยากจะพูดอะไรก็พูดไปอย่างนั้น โดยขาดการพินิจพิจารณาเสียก่อน
แต่น่าสังเกตว่า อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ อย่างเช่น ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติก็ให้มาถึงสองตา หูมีหน้าที่ฟังอย่างเดียว แต่มีถึงสองข้าง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น แต่ธรรมชาติก็ให้มาถึงสองรู
แต่ปากทำหน้าที่ถึงสองอย่างด้วยกัน คือ ทั้งกินและพูด แต่ธรรมชาติกลับให้มาแค่ปากเดียวเท่านั้น เหมือนกับจะบอกว่า ธรรมชาติปรารถนาจะให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้พอดี ๆ ให้มีสติกำกับเวลาพูด เวลาจะทานอาหาร ก็ทานให้พอดี ๆ
ถ้าพูดน้อยไปก็จะทำให้การสื่อสารไม่สมบูรณ์ พูดมากไปก็เกิดโทษ ไม่พูดเลยก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง ดังนั้น การรู้จักพูดนั้นจึงเป็นคุณประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้พูดเองและผู้ฟังด้วย
แม้เราจะรับทราบกันมาแล้วว่า วาจาสุภาษิตเป็นสิ่งที่ดี แต่ในชีวิตประจำวัน การใช้วาจาสุภาษิตให้ได้ตลอดเวลาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องฝึกฝน การรู้จักใช้วาจาสุภาษิตที่สมบูรณ์นั้น ผู้พูดควรจะขบคิดคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง วันนี้หลวงพ่อจะนำองค์ประกอบของวาจาสุภาษิตมาทบทวนให้ได้ทราบกัน องค์ประกอบนั้นมีทั้งหมด ๕ ประการด้วยกันก็คือ
ประการแรก คำที่พูดนั้นต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา ไม่ใช่คำเท็จที่นั่งเทียนพูดกัน เพราะคำจริงแท้ ย่อมจะเป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือน ไม่มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ดูสมจริงสมจัง จริงแค่ไหนก็พูดแค่นั้น นี่ก็เป็นประการแรก
ประการที่สอง ต้องเป็นคำที่สุภาพ เป็นคำพูดที่ไพเราะ ซึ่งได้กลั่นกรองออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่คำที่หยาบคาย ประชดประชัน ส่อเสียด คำหยาบนี่ ฟังแล้วก็ระคายหู คิดถึงก็ขุ่นมัว
ประการที่สาม ต้องก่อให้เกิดประโยชน์อีกด้วย คือเป็นผลดีทั้งแก่ผู้พูดและผู้ที่ได้รับฟัง คำพูดนั้นแม้จะเป็นความจริง สุภาพ แต่หากพูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่ควรพูด เพราะมันจะก่อให้เกิดโทษมากกว่า
ประการที่สี่ ต้องพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีความปรารถนาดีจริง ๆ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำไป ต้องออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ จากหัวใจของยอดกัลยาณมิตรอยากจะให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์และมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ประการที่ห้า พูดให้ถูกกาลเทศะ เรื่องนี้หลวงพ่ออยากจะยํ้าว่าสำคัญมาก พูดถูกกาล คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรนิ่ง พูดถูกเทศะก็คือถูกสถานที่ รู้ว่าสถานที่อย่างนี้ควรพูดหรือไม่ควรพูดอย่างไร เป็นต้น
การพูดจัดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน องค์ประกอบทั้งหลายที่หลวงพ่อนำมากล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนควรตระหนักให้ดี ตราบใดที่เรายังต้องสื่อสารกันด้วยถ้อยคำอยู่ ต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ ถูกบุคคล เพราะหากเราผิดพลาดแม้เพียงครั้งเดียวอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างที่คาดไม่ถึงได้ เหมือนดังเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่พระบรมศาสดาทรงนำมาเล่า ปรารภถึงการพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะของภิกษุชื่อว่า โกกาลิกะ เรื่องมีอยู่ว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นอำมาตย์แก้วของพระเจ้าพาราณสี พระราชาพระองค์นั้น เป็นผู้ที่รับสั่งมากเกินความจำเป็น พระโพธิสัตว์จึงพยายามหากุศโลบายที่จะแนะนำพระราชาในทางอ้อม
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระราชาเสด็จประพาสอุทยาน แล้วประทับนั่งบนแผ่นศิลาที่สร้างไว้สำหรับพระราชาโดยเฉพาะ ในสมัยก่อนนี้ เวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จประพาสอุทยาน จะมีราชอาสน์คอยรองรับพระองค์ท่าน ถือกันว่าเป็นศิลามงคล เบื้องบนแผ่นศิลานั้นมีต้นมะม่วงสูงใหญ่ตระหง่านอยู่ต้นหนึ่ง นกดุเหว่าได้วางไข่ตนเองไว้ที่รังของแม่การังหนึ่งที่ต้นมะม่วงนั้น แล้วก็บินจากไป
แม่กาประคบประหงมไข่นั้นอย่างดี ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลูกของตนเอง ทุก ๆ วันหลังจากที่ฟักไข่แล้ว แม่กาตัวนั้นจะนำอาหารมาด้วยจะงอยปาก เลี้ยงดูลูกนกอย่างดี ไม่เคยให้อดอยาก
เมื่อลูกนกดุเหว่าเริ่มโต ขนปีกยังไม่ทันที่จะงอก ก็ส่งเสียงร้องเป็นเสียงนกดุเหว่า แถมยังส่งเสียงร้องออกมาในเวลาที่ไม่ควรจะร้อง แม่กาตัวนั้น เมื่อได้ยินเสียงของลูกนก ก็คิดว่า ลูกนกตัวนี้เราอุตส่าห์เลี้ยงมาตั้งนาน บัดนี้กลับส่งเสียงร้องเป็นอย่างอื่นแล้ว เมื่อมันโตขึ้นจะทำอย่างไร
คิดแล้วเอาจะงอยปากที่เคยคาบอาหารป้อนด้วยความเข้าใจผิด จิกตีจนลูกนกดุเหว่าตายและตกลงมาจากรัง บังเอิญอีกเช่นกัน ลูกนกตัวนั้นตกลงในที่ใกล้พระบาทของพระราชา
พระราชาทอดพระเนตรเห็นอย่างนั้น จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า "เกิดอะไรขึ้น" ท่านมหาอำมาตย์จึงได้โอกาสประจวบเหมาะ เพราะปรารถนาที่จะใช้อุบายตักเตือนพระราชาอยู่พอดี จึงฉุกคิดขึ้นในใจทันทีว่า เราอุตส่าห์แสวงหาอุบายมากมาย เพื่อที่จะสอนพระราชาพระองค์นี้ให้ตรัสน้อย ๆ ลงบ้าง ตรัสแต่พอดี แต่พระองค์ตรัสเก่งเหลือเกิน ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่เหมาะกับกาลเทศะ ไม่เหมาะกับฐานะของพระองค์ที่เป็นจอมแห่งนรชน
มาวันนี้เหตุการณ์เป็นใจ เราจะถือโอกาสนี้ตักเตือนพระราชา จึงได้กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าคนปากกล้า พูดมากในกาลที่ไม่ควรพูด ย่อมได้รับทุกข์เหมือนกับลูกนกดุเหว่าที่กำลังได้รับนั่นแหละพระเจ้าข้า
ข้าแต่มหาราช ลูกนกดุเหว่าเจริญเติบโตได้ก็เพราะนางกา ปีกยังไม่ทันกล้าแข็ง ก็ร้องในกาลที่ไม่ควรร้อง เมื่อแม่กาที่เคยรักเอ็นดูได้ฟัง ก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ลูกของเรา จึงจิกตีด้วยจะงอยปากให้ตกลงมาตาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตามเถอะ หากพูดมากในกาลที่ไม่ควรพูดก็ย่อมประสบทุกข์ได้เช่นกัน” เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ยังให้ข้อคิดกับพระราชาต่อไปอีกว่า
“เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะเอ่ยปากพูด ผู้ใดก็ตามที่พูดเกินเวลาไป ผู้นั้นย่อมจะถูกทำร้ายเหมือนลูกนกดุเหว่านั่นแหละ มีดที่ลับจนคมกริบดุจยาพิษที่ร้ายแรง หาทำให้ชีวิตตกไปในทันทีทันใด เหมือนวาจาทุพภาษิตไม่
เพราะฉะนั้น บัณฑิตที่แท้จริงจึงรักษาวาจาไว้ ทั้งในกาลที่ควรพูดและในกาลที่ไม่ควรพูด ไม่ควรพูดให้เกินเวลาแม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน ผู้ใดก็ตามที่มีความคิด มีปัญญา พิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้นย่อมจะครอบงำศัตรูได้ทั้งหมด เหมือนพญาครุฑจับนาคได้ฉะนั้น”
พระโพธิสัตว์เจ้าผู้เป็นมหาบัณฑิต ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้วก็นิ่งอยู่ พระราชาทรงสดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์แล้ว ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยแห่งบัณฑิต ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้ พระองค์ก็ทรงรับทราบทันทีว่า อำมาตย์แก้วของเรานี้ ชะรอยปรารถนาจะตักเตือนเราเป็นแน่
จึงกล่าวอย่างนี้ นานนักหนอที่เราไม่เคยได้ยินถ้อยคำที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างนี้ เมื่อทรงดำริอย่างนี้ ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เองว่าควรจะวางตัวอย่างไรต่อไป ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระราชาจึงกลายเป็นผู้ที่ตรัสวาจาพอประมาณ ทำให้พระองค์ทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะสมเป็นที่สุด โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่า จะตรัสอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรออกไป
พระราชาทรงมีมหาปีติที่ได้พระโพธิสัตว์เป็นยอดกัลยาณมิตร นับจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นผู้ที่ตรัสแต่วาจาสุภาษิต ทำให้เป็นที่เคารพนับถือของพสกนิกรของพระองค์ เมื่อพระบรมศาสดาตรัสอดีตนิทานจบแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า "ลูกนกดุเหว่าในครั้งนั้น คือภิกษุโกกาลิกะผู้พูดมากในครั้งนี้ ส่วนมหาอำมาตย์แก้วคือเราตถาคตเอง
เราจะได้เห็นแล้วว่า การพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะนั้น ไม่เป็นผลดีต่อตนเองเลย มีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา ทั้งยังทำให้ไม่เป็นที่รัก เพราะคำพูดที่มากจนเกินพอดี จะทำให้คนอื่นมีความอึดอัดใจ บางครั้งหากพลั้งพลาดไปก็เอากลับคืนมาไม่ได้ เหมือนธนูที่ปล่อยออกจากแล่งไปอย่างนั้น
ดังนั้น ก่อนที่เราจะพูดต้องหมั่นฝึกสติให้ดี ให้มีสติก่อนที่จะพูดออกไป หัดพูดด้วยวาจาสุภาษิต ถ้าทำได้อย่างนี้ ทุกถ้อยคำของเราจะเป็นคำที่มีประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าเกินกว่าจะสรรหาคำใด ๆ มาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นถ้อยคำที่จะนำใจของทุก ๆ คนให้ได้พบกับแสงสว่างของชีวิต
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๑๘๒ – ๑๙๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๕๘ หน้า ๕๘ ๙
2
โฆษณา