2 มิ.ย. 2022 เวลา 03:00 • การเมือง
สมรสเท่าเทียมในไทย
เวลาที่คุณตกหลุมรักใครสักคน มันเริ่มต้นจากตรงไหน? เพศ อายุ หน้าตา สถานะทางสังคม หรือตัวตนที่เขาเป็น ซึ่งมันจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าหากคนที่คุณชอบเป็นไปตามกรอบแบบคู่รักชาย-หญิงทั่วไป หนังรักเรื่องนี้คงจะจบแบบมีความสุข แต่คุณสามารถเลือกคนที่จะตกหลุมรักได้จริงหรือ?
สมรสไม่เท่าเทียม
การสมรส คือ การที่ชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว และยินยอมเป็นสามีภริยากัน ต้องแสดงความยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยและจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน ตามมาตรา 1448 และมาตรา 1458 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องการสมรสเป็นของ “ชาย” และ “หญิง” โดยกำเนิดเท่านั้น ทำให้การสมรสเพศเดียวกัน (same-sex marriage) เป็นเรื่องที่ผิดแปลก และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
ทั้ง ๆ ที่ เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และเป็นการดีด้วยซ้ำในการแสดงออกทางเสรีภาพ และความเท่าเทียมในประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อการสมรสเท่าเทียม
การกำเนิดของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เกิดขึ้นในปี 2555 ในวันที่นที ธีระโรจนพงษ์ และ อรรถพล จันทวี ถูกปฎิเสธการจดทะเบียนสมรสเพียงเพราะพวกเขาไม่ใช่คู่รักชายหญิงตามกฎหมาย จึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่งผลให้ในปี 2556 เกิดร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรก โดยกระทรวงยุติธรรม แต่ถูกปัดตกไป เพราะเนื้อหาไม่ได้ให้ความเท่าเทียมเหมือนกับการจดทะเบียนสมรส
หลังจากนั้นประชาชนและหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรได้เขียนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ภาคประชาชนและพยายามผลักดันเรื่องนี้อีกครั้ง แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2558 ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อต่อไปอีก
4 ปีต่อมา ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 มีการยื่นเรื่องเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม ให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) แทน แต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา
จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 คู่รักเพศหญิง เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธเนื่องจากข้อติดขัดเรื่องเพศกำเนิดเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปี 2555
ซึ่งทั้งสองได้นำเรื่องไปยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทำให้พรรคก้าวไกลได้เข้ามามีบทบาทในข้อกฎหมายนี้ด้วยการให้ส.ส.ทุกคนลงมติรับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. ที่ได้ทำการเปลี่ยนคำในมาตรา 1448 จาก “ชายและหญิง” เป็น “บุคคลสองคน” เพื่อทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเหมือนกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป
ทว่า ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ที่ลงมติไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ในประเด็นเรื่องป.พ.พ. มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่ ที่รับรองการสมรสเฉพาะชายและหญิง
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการสมรสเพศเดียวกัน ด้วยการให้เหตุผลที่ล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็น การกล่าวว่าบทบัญญัติเก่านั้น (มาตรา 1448) สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณี เพื่อสร้างสถาบันครอบครัว และการดำรงเผ่าพันธุ์ ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนได้
อีกทั้งยังอ้างว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขป.พ.พ. ทำให้เกิดความขุ่นเคืองแก่ประชาชนหลายฝ่ายและกลายเป็นประเด็นร้อนอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ประเทศไทย ใน #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ
พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ การสมรสเท่าเทียม
เหตุผลที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมได้ แม้จะปรับปรุงหลายต่อหลายครั้งก็ตาม คือ มุมมองของผู้ร่างกฎหมายที่ยังไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกับการให้สิทธิ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสร้างกฎหมายที่แยกออกมา โดยให้จดทะเบียนเป็นเพียงแค่ “คู่ชีวิต” ไม่ใช่ “คู่สมรส” และไม่ได้กล่าวถึงสวัสดิการของรัฐอย่างชัดเจน เช่น สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ การรับประโยชน์ทดแทนตามพ.ร.บ.ประกันสังคม
นอกจากนี้ การแก้ไขป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้มีความหลายทางเพศเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังเล็งเห็นถึงความเท่าเทียมของคู่รักชายและหญิง อย่างเรื่องการมอบของหมั้น และการมอบสินสอด
ที่แต่เดิม ฝ่ายชายจะมอบให้ฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว และมอบให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเท่านั้น ตามมาตรา 1437 ซึ่งในส่วนนี้ร่างสมรสเท่าเทียม ได้แก้ไขว่า ฝ่าย “ผู้หมั้น” มอบให้แก่ “ผู้รับหมั้น” หรือสามารถแลกเปลี่ยนของหมั้นได้ และฝ่ายผู้หมั้นมอบให้แก่บิดามารดาของผู้รับหมั้น หรือสามารถมอบให้แก่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้
เห็นได้ว่า เพียงใช้คำที่ไม่ระบุเพศ (Gender-Neutral Words) ก็สามารถสร้างความเท่าเทียมให้แก่คนทุกกลุ่มได้แล้ว แต่ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความเห็นว่า การกำหนดชาย-หญิง จึงมีความเท่าเทียมและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ศาสนา ความเชื่อของชาวเอเชีย ที่ยังไม่ยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
จากสถิติของ The Human Rights Campaign Foundation (the HRC Foundation) ได้ให้ข้อมูลว่า มีเพียง 31 ประเทศ เท่านั้นที่อนุญาตให้สมรสเพศเดียวกันทำได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งประเทศเหล่านั้น อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย เป็นส่วนใหญ่
แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ในทวีปเอเชียมี ประเทศไต้หวันเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่สามารถสมรสเพศเดียวกันได้
ถ้าหากให้เหตุผลเรื่องศาสนา จากสถิติของ Pew Research Center ในปี 2560 ได้ตั้งคำถามกับผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่เข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ ผู้นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ และผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ในทวีปยุโรปตะวันตก
ซึ่งความคิดเห็นของผู้นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ และผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ เป็นไปแนวทางเดียวกันในเรื่องการเห็นด้วยกับการสมรสเพศเดียวกัน ส่วนผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่เข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์มีความเห็นที่ไม่เห็นด้วย
ถึงแม้ว่าคนนับถือศาสนาคริสต์จะไม่เห็นด้วยกับการสมรสเพศเดียวกัน แต่พวกเขายังคำนึงถึงสิทธิและความเท่าเทียมในแง่ของประชาธิปไตยอยู่ จึงทำให้ 14 ประเทศในบริเวณนี้ต่างก็อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมณี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ดังนั้นเหตุผลเรื่องศาสนาจึงต้องปัดตกไป
ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุเหตุผลที่ชัดเจนได้ว่าทำไมทวีปเอเชียจึงไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน ได้แต่ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนเอเชียยังไม่เข้าใจถึงความเท่าเทียมอย่างถ่องแท้ และยังคงมีอคติต่อกลุ่มผู้มีความหลายทางเพศอยู่
แม้ว่าจะเปิดกว้างในด้านการแสดงออก ทั้งการอนุญาตให้จัดงานแต่งงาน การเปิดพื้นที่สาธารณะให้จัดการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งแดร็ก (drag) แดร็กควีน (drag queen) หรือนางโชว์ (showgirl) การตั้งผับหรือบาร์เกย์ หรือแม้กระทั่ง การผลิตสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมาย พวกเขายังคงถูกแบ่งแยกจากสังคมไม่ต่างจากในอดีต
นโยบายผู้ว่าฯ กทม. ในการสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ในประเทศไทย และมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือ รสนิยมทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลายเช่นเดียวกัน ซึ่งการตอบสนองความหลากหลายนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องคำนึงถึงบุคคลในทุก ๆ กลุ่ม
ซี่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ได้มีนโยบายทั้งหมด 4 นโยบายด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนี้
นโยบายที่หนึ่ง หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงการอบรมให้เจ้าหน้าที่ไม่เลือกปฎิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถร้องทุกข์หากเกิดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และการออกกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศ
นโยบายที่สอง นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กล่าวถึง การเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์เฉพาะทางแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น บริการจิตวิทยาการปรึกษา การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศ
นโยบายที่สาม ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก กล่าวถึง การปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์โลก เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นอ่อนไหว อย่าง ความเท่าเทียมทางเพศ หรือชาติพันธุ์ รวมถึงการตระหนักถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์
นโยบายที่สี่ 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในเดือนที่ 6 หรือที่เรียกว่า Pride Month จะมีการจัดขบวนพาเหรดไพรด์ (Pride) ครั้งแรกในใจกลางกรุงเทพมหานคร จากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) สู่ถนนสีลม ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
ซึ่งการเดินขบวนพาเหรดไพรด์ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงออกถึงพลังของกลุ่มผู้ความหลากหลายทางเพศ แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนกรุงเทพฯ เองที่มาจับจ่ายใช้สอยภายในงาน ซึ่งชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ขณะไปร่วมงานแถลงข่าว Bangkok Naruemit Pride 2022 ไว้ว่า
ชีวิตคนไม่ได้มีแค่ 0 กับ 1 แต่มีสเปคตรัมหรือเฉดสีที่ต่างกัน ซึ่งที่จริงเราก็เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก เราทุกคนจะมีเพื่อนที่ไม่ต้องการเป็น 0 หรือ 1 ดังนั้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจตั้งแต่ในโรงเรียนให้ยอมรับความแตกต่างตรงนี้ โตขึ้นมาเขาจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย
สุดท้ายนี้ มนุษย์ทุกคนจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเพศใด รสนิยมทางเพศแบบไหน ล้วนต้องการการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งการเรียกร้องสมรสเท่าเทียมยังคงดำเนินต่อไป และคุณสามารถเป็นหนึ่งในแรงผลักดันนั้นได้ จะเริ่มตอนนี้หรือว่าจะรอให้สายเกินไป ลงชื่อเพื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียม https://www.support1448.org/
ธนพร จิตรจำลอง เขียน
ขอขอบคุณ
ธนกร กลิ่นธรรม (ณนนท์) ที่ช่วยดูเรื่องคำผิด และการใช้คำ
ธนเกียรติ น้อยเหนื่อย (เครป) ที่ช่วยดูเรื่องตัวบทกฎหมาย และการเขียนอ้างอิงกฎหมายต่าง ๆ
คุณครูเมย์ จารุวรรณ ที่คอยช่วยดูเรื่องการใช้ภาษา และให้คำแนะนำในการเขียน
คุณครูลิซ่า ที่ช่วยดูเรื่องกฎหมาย เขียนแล้วไม่โดนหมิ่นศาล
และขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ และไฟในการเขียนเรื่องนี้จนจบ ขอบคุณจริง ๆ
#สมรสเท่าเทียม
อ้างอิง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์. (ม.ป.ป.). นโยบาย. https://www.chadchart.com/policy
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ..... (2564, 30 พฤศจิกายน). https://www.support1448.org/documents/support-1448-draft.pdf
วจนา วรรลยางกูร. (2561, 8 พฤศจิกายน). ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม. https://www.the101.world/partnership-law/
สายใจ เกษสุวรรณ. (2564, 22 กุมภาพันธ์). ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..... https://www.senate.go.th/.../S%E.../5interest/interest88.pdf
iLaw. (2556, 5 สิงหาคม). คนรักเพศเดียวกัน อยู่ตรงไหนในระบบกฎหมายไทย. https://ilaw.or.th/node/2894
iLaw. (2564, 3 ธันวาคม). แจกแจงประเด็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สนข้อกฎหมาย ไม่เข้าใจ #สมรสเท่าเทียม. https://ilaw.or.th/node/6036
iLaw. (2563, 18 มิถุนายน). Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส. https://ilaw.or.th/node/5695
PEW RESEARCH CENTER. (2018, May 29). Being Christian in Western Europe. https://www.pewresearch.org/.../being-christian-in.../...
the HRC Foundation. (n.d.). Marriage Equality Around the World. https://www.hrc.org/.../marriage-equality-around-the-world
THE STANDARD TEAM. (2565, 27 พฤษภาคม). ชัชชาติรับมอบธงสีรุ้ง งานไพรด์ใจกลางกรุง 5 มิ.ย. นี้ บอกข้าราชการ กทม. ต้องเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เพื่อลดอคติ. https://thestandard.co/chadchart-recieved-rainbow-flag.../
Voice TV. (2565, 27 พฤษภาคม). [Video]. 'ชัชชาติ' ร่วมงานแถลงข่าว Bangkok Naruemit Pride 2022. Facebook. https://fb.watch/dmPjs1-mKt/
โฆษณา