2 มิ.ย. 2022 เวลา 09:09 • สุขภาพ
คนไทยที่อายุน้อยกว่า 42 ปี หรือเกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิง
เนื่องจากในขณะนี้ ฝีดาษลิงได้ระบาดไปแล้วกว่า 33 ประเทศ จำนวนมากกว่า 500 ราย
แม้จะยังไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่ก็ทำให้ประเทศต่างๆเกิดความระมัดระวัง ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคล
ในระดับปัจเจกบุคคล มีความสงสัยว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อมูลการวิจัยหาระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ชั้นนำ (NEJM) ที่สรุปว่า
ผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ยังคงมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากพอ แม้จะผ่านมาหลายสิบปี
โดยมีค่าครึ่งชีวิต (Half Life) ของระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งแปลว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวใช้เวลากี่ปี
ในวัคซีนฝีดาษนั้น ค่าครึ่งชีวิตยาวนานถึง 92 ปี
ประกอบกับมีองค์ความรู้ที่ยืนยันตรงกันว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ มีประสิทธิผลราว 85%
จึงทำให้หลายคนอยากทราบว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงหรือไม่อย่างไร
วันนี้จะใช้หลักการ 2 ประการ เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้
1) อายุของคน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝีดาษหายไปจากทวีปเอเชียในปี 2518 โดยประเทศสุดท้ายที่พบคือ บังกลาเทศ
ตามมาด้วยการสูญพันธุ์ของฝีดาษในทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2520 โดยโซมาเลียเป็นประเทศสุดท้าย
และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศถือว่าฝีดาษหมดไปจากโลกมนุษย์ในปี 2523 ( 8 พฤษภาคม 2523 )
ส่วนของไทยนั้น ฝีดาษหมดไปจากประเทศก่อนที่ประเทศสุดท้ายในทวีปเอเชียจะหมดในปี 2518
1
ไทยจึงเริ่มยุติการปลูกฝีป้องกันฝีดาษตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา
และทั่วโลกได้ยุติการปลูกฝีป้องกันฝีดาษตั้งแต่ปี 2523
ดังนั้นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 42 ปี หรือเกิดหลังปี 2523 จะถือว่าไม่เคยหรือไม่มีโอกาสได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ
ส่วนผู้ที่อายุ 48 ปีขึ้นไป หรือเกิดก่อนปี 2517 มีโอกาสที่จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษสูงมาก
และผู้ที่อายุอยู่ในช่วงดังกล่าวคือ เกิดปี 2517-2523 มีโอกาสจะได้รับการปลูกฝี แต่ค่อนข้างน้อย
2) แผลเป็นจากการปลูกฝี
แผลเป็นที่ปรากฏจากการปลูกฝี ป้องกันโรค หรือให้วัคซีน มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
2.1 ปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ จะเป็นแผลเป็นแบนเรียบ
2.2 ปลูกฝีป้องกันวัณโรค จะเป็นแผลเป็นที่เป็นแบบนูน
ถ้าใครมีทั้งสองแผลเป็น และอันหนึ่งเรียบ อีกอันหนึ่งนูน แปลว่าได้รับการปลูกฝีป้องกันทั้ง 2 โรค
แต่ถ้ามีเพียงแผลเดียว จะต้องเป็นแผลที่เรียบเท่านั้น เพราะถ้านูนก็จะเป็นการปลูกฝีป้องกันวัณโรค
1
กล่าวโดยสรุป
1) ผู้ที่มีอายุมากกว่า 48 ปีขึ้นไป เกิดก่อนปีพ.ศ. 2517 มีโอกาสที่จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษค่อนข้างมาก
2) ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 42 ปีลงมา เกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่มีโอกาสได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ
3) ผู้อายุ 42-48 ปี เกิดระหว่างพ.ศ. 2517-2523 ถือว่ามีโอกาสจะได้รับการปลูกฝีอยู่บ้าง แต่โอกาสนั้นค่อนข้างน้อย
4) แผลเป็นจากการปลูกฝีมี 2 ชนิดคือ แผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ และแผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันวัณโรค
1
5) แผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน จะเป็นแผลเป็นที่แบนเรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย ไม่นูน
6) แผลเป็นที่เกิดจากการปลูกฝีป้องกันวัณโรค จะเป็นแผลเป็นที่นูน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา