3 มิ.ย. 2022 เวลา 14:08 • ธุรกิจ
"คีรี กาญจนพาสน์" ผู้สร้าง BTS
รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย
"คีรี กาญจนพาสน์" เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับพี่ชาย "อนัน กาญจนพาสน์" ผู้ก่อตั้ง "บางกอกแลนด์" ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองทองธานี 4,000 ไร่
"เมืองทองธานี" ครอบคลุมที่พักอาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารแสดงสินค้าและการประชุม ห้างสรรพสินค้า ถือเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่ที่นำต้นแบบมาจากฮ่องกง
"คีรี กาญจนพาสน์" ผู้ผลักดันโครงการรถไฟฟ้า BTS ที่กำลังเจอปัญหาการถูกคัดค้านการต่อสัมปทาน 30 ปี (2572-2602)
"คีรี" เกิดที่กรุงเทพฯ แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นนักธุรกิจฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่ง "คีรี" ถือเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของคนไทยเชื้อสายจีน มีบิดาชื่อ "มงคล กาญจนพาสน์" ที่เดินทางมาจากประเทศจีนและเข้ามาทำธุรกิจนาฬิกาในประเทศไทย
เมื่ออายุ 13 ปี "คีรี" ถูกส่งไปอยู่ที่ฮ่องกงและใช้ชีวิตอยู่ที่ฮ่องกงนานถึง 30 ปี และทำให้มีมุมมองที่แตกต่างจากคนไทย
"คีรี" ได้นำทุนที่สะสมไว้เข้าซื้อบริษัทธนายง จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2535 บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเป็นเจ้าของที่ดินหลายแปลงก่อตั้งเมื่อปี 2510 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2534 ในหมดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
"ธนายง" เปิดตัวโครงการที่สร้างชื่อเสียง คือ "ธนาซิตี้" บนถนนบางนา-ตราด "คีรี" เล่าย้อนให้ฟังถึงเหตุผลที่สนใจทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
"ส่วนตัวชอบทำโครงการที่มองอะไรแล้วคิดถึงคนที่จะมาใช้ คนที่จะมาอยู่เป็นหลัก ฉะนั้นโครงการแรกที่ทำในเมืองไทย คือ โครงการธนาซิตี้ บางนา พื้นที่ 1,400 กว่าไร่ ลงทุนทุกอย่างที่เป็นโครงสร้างของเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่าง ถนน ไฟฟ้า น้ำ ก็เพราะว่ามันต้องมาเป็นเฟสๆ ในการเข้ามาอยู่" (https://www.thansettakij.com/general-news/511189)
ต่อมา "ธนายง" ปรับเปลี่ยนธุรกิจมุ่งเน้นระบบขนส่งมวลชนทางราง ภายใต้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เพื่อลงนามสัญญาสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปี 2535 ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ที่รู้จักในนาม รถไฟฟ้า BTS
นอกจาก "บางกอกแลนด์" จะนำต้นแบบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะ Mixed-Use แล้ว "คีรี" ยังนำแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของฮ่องกงที่มีรถไฟฟ้า MRT มาพิจารณาและตัดสินใจเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว และชนะการประมูล
การก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS ประสบปัญหาตั้งแต่ขั้นตอบการออกแบบ เพราะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในช่วงแรกกำหนดปลายทางของสายสุขุมวิทที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงจอดที่สวนลุมพินี แต่เกิดการประท้วงที่จะนำสวนสาธารณะไปสร้างโรงจอด และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการล่าช้า
สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปปรับสถานีปลายทางจากสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นสถานีหมอชิต และย้ายโรงจอดจากสวนลุมพินีมาอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต
ในปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในเอเชีย รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลดค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงถึง130% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน
ปัญหาดังกล่าวส่งผลกับต่อ "ธนายง" และ BTS เพราะทั้ง 2 บริษัทมีภาระหนี้สินในสกุลดอลลาร์หรัฐในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศทำให้ต้องใช้เงินบาทเพิ่มมากขึ้น แต่ในที่สุดก็สามารถเปิดบริการรถไฟฟ้า BTS ได้ในปี 2542 สร้างความตื่นเต้นให้กับคนไทยที่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายแรก
วิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่ง "คีรี" ได้เรียกตัว "กวิน กาญจนพาสน์" ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศอังกฤษกลับมาช่วยงานบริษัท
ในปี 2543 BTS ได้เจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ โดยได้ขอลดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระบางส่วน ซึ่งในช่วงแรกไม่สามารถชำระได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่เมื่อมีรายได้จากการเดินรถเพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงทำให้เริ่มชำระดอกเบี้ยได้
ก่อนที่ BTS จะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้มีความเห็นแตกต่างกัน 2 ฝ่าย โดย "คีรี" ต้องการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่ "เกษม จาติกวณิช" ประธานกรรมการ BTS ที่มาเข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 2533 เห็นว่าแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาฐานะการเงินได้
รถไฟฟ้า BTS ช่วงสถานีราชดำริ ภาพจากรายงานประจำปี 2560
ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่การเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2549 และนายคีรี ได้นำเสนอวาระการปลดนายเกษม ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากเห็นชอบตามที่เสนอ
ปัญหาที่ BTS เจอจนทำให้ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ คือ การเข้าสู่ภาวะที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้หลังจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจากวันละ 5 ล้านบาท เป็นวันละ 7 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับรายได้ต่อวันของ BTS แต่ BTS มีค่าใช้จ่ายอื่น เช่น เงินเดือนพนักงาน
สุรพงษ์ เลาหอัญญา ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่สายปฏิบัติการ BTS ให้สัมภาษณ์ MGR Online เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2549
"BTS มีหนี้สินล้นพ้นตัวจำเป็นต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้ยังไม่เคยฟ้องดำเนินคดีกับบริษัท แต่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้รวมกับคิดค่าชดเชยได้ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็นำไปสู่การฟ้องร้องล้มละลาย"
ขณะนั้น BTS มีหนี้สินประมาณ 50,000 ล้านบาท และทรัพย์สินประมาณ 42,000 ล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบประมาณ 6,000 ล้านบาท
ท้ายที่สุด "ธนายง" และ BTS ออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2551 ในวันนั้น "คีรี" ชี้แจงกับสื่อมวลชน ว่า
"ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ BTS ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยบริษัทได้พันธมิตรใหม่ ซึ่งเป็นกองทุนต่างชาติ 2 แห่งเข้ามาร่วมทุนในสัดส่วน 38.5% อย่างไรก็ตาม บริษัทยังยืนยันแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เนื่องจากต้องการรอให้ภาวะตลาดเอื้ออำนวยต่อการขายหุ้น IPO ก่อน" (www.ryt9.com)
ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีการปรับโครงสร้างหนี้ 67,751 ล้านบาท เป็นเงินต้น 48,238 ล้านบาท และดอกเบี้ย 19,513 ล้านบาท โดยชำระเป็นเงินสด 23,280 ล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุน 16,340 ล้านบาท
ปัจจุบัน "คีรี" ถูกจัดเป็นมหาเศรษฐกิจอันดับ 1,579 ของโลก และอันดับ 15 ของประเทศไทย ในปี 2565 ด้วยทรัพย์สิน 1,900 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่รถไฟฟ้า BTS กำลังเจอปัญหาการต่อสัมปทานอีก 30 ปี (2572-2602) ซึ่งถูกคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม
เมื่อกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนผู้ว่าราชการคนใหม่เป็น "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ทำให้เรื่องนี้กลับมาทบทวนว่าจะดำเนินการตามแนวทางผู้ว่าฯ คนเดิมที่เสนอให้ต่อสัมปทานหรือไม่
เงื่อนไขดังกล่าวถือเป็นการชี้อนาคตธุรกิจของ "คีรี กาญจนพาสน์"
โฆษณา